ทีดีอาร์ไอ เผยผลวิจัย “เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน” จะเป็นหัวใจสำคัญของระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต ช่วยเสริมการทำงานของพลังงานหมุนเวียนให้ผลิตไฟฟ้าได้สม่ำเสมอ คงที่เทียบเท่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จะมีบทบาทลดลง หนุนรัฐเร่งวางระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต แต่จะต้อง “สะอาด ต้นทุนต่ำ ชุมชนมีส่วนร่วม”
คาดการณ์อนาคตว่าหากใช้ควบคู่กับพลังงานแสงอาทิตย์ จะเกิดความคุ้มค่า ภายในระยะเวลา 5-10 ปีหลังจากนี้ พร้อมยก ‘แบตเตอรี่ lithium-ion’ เป็นเทคโนโลยีกักเก็บพลังงงานศักยภาพสูงสุดในทศวรรษนี้ หรือระยะ 10 ปีข้างหน้านี้ จึงขอเสนอรัฐพิจารณารวมบทบาทของเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ ในแผนพลังงานระยะยาวของประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และสร้างระบบไฟฟ้า ‘พลังงานสะอาด ต้นทุนต่ำ ชุมชนมีส่วนร่วม’ เพิ่มทางเลือกพลังงานไฟฟ้าที่มั่นคง ลดการพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
งานเสวนา “ทางเลือกพลังงานไฟฟ้าไทย ถ้าไม่พึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อวันที่ 4 เมษาย ที่ผ่านมา
ดร. วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษา “เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานและระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต” ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติสูงกว่าแหล่งอื่น ภาครัฐจึงมีความพยายามกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ตามแผนการผลิตไฟฟ้าในอนาคต (PDP 2015) มุ่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และถ่านหิน
ตั้งแต่ปี 2558 - 2579 การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) กำลังเป็นทางเลือกที่ทั่วโลกลดการพึ่งพาลงเรื่อย ๆ ผนวกกับสถานการณ์ความขัดแย้งจากผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทย ส่งผลให้การทำตามแผนเป็นไปได้ยาก และต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นแทน
ดังนั้น ระบบไฟฟ้าไทย จึงต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบไฟฟ้าแห่งอนาคตที่มี “ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage - ESS)” เป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ได้ระบบไฟฟ้าที่สะอาด ประชาชนมีส่วนร่วม และต้นทุนต่ำ
ประการแรก ระบบกักเก็บพลังงานจะเสริมให้ระบบไฟฟ้ายุคใหม่เป็นระบบไฟฟ้าที่ “สะอาด” เพราะพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีความผันผวน อาจไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังในช่วงที่มีความต้องการสูง การนำระบบกักเก็บพลังงานเข้ามาช่วยการผลิตไฟฟ้าจากระบบพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะลมและแสงอาทิตย์ จะช่วยลดความผันผวนและเพิ่มมูลค่าให้กับพลังงานหมุนเวียนได้
โดยผลวิจัยพบว่า หากนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้คู่กับระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่มีอยู่แล้วในระบบ เพื่อให้มีความสม่ำเสมอและคงที่เทียบเท่ากับเชื้อเพลิงฟอสซิล จะสามารถชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มเติมได้ โดยผลประหยัดตลอดระยะเวลา 10 ปี จะมีมูลค่าประมาณ 8,574 บาทต่อ 1kWh ของระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งเมื่อเทียบกับแนวโน้มต้นทุนของระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ลิเทียมแล้ว การใช้งานในลักษณะดังกล่าวจะมีความคุ้มค่าภายในระยะเวลา 2-5 ปีจากนี้
ประการที่สอง ระบบกักเก็บพลังงานจะเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคธุรกิจและประชาชนสามารถ “มีส่วนร่วม” ในการบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้ายุคใหม่ โดยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานควบคู่กับเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (เช่น rooftop PV) และเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ (IoT) จะช่วยให้ชุมชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง หากเหลือก็อาจขายให้กันหรือสำรองไว้ใช้ยามจำเป็น สามารถจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในอาคารหรือชุมชน (demand-side management) เพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากโครงข่ายหลัก ลดการสูญเสียจากการส่งไฟฟ้า และเพิ่มความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าในชุมชนได้
ประการสุดท้าย ระบบกักเก็บพลังงานจะเสริมให้ระบบไฟฟ้าแห่งอนาคตมีประสิทธิภาพสูงและ “ต้นทุนต่ำ” โดยระบบกักเก็บพลังงานจะช่วยเพิ่มความพึ่งพาได้ของพลังงานหมุนเวียน ลดต้นทุนในการรักษาเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. นอกจากนี้ยังสามารถเก็บไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการต่ำ (ต้นทุนต่ำ) ไว้ใช้ในช่วงที่มีความต้องการสูง (ต้นทุนสูง) จึงช่วยลดต้นทุนของ กฟผ. ในการจัดหาไฟฟ้าโดยรวม และสุดท้าย ระบบกักเก็บพลังงานที่ติดตั้งในระบบสายส่งไฟฟ้า ยังช่วยลดความแออัดของสายส่ง จึงช่วยชะลอการลงทุนขยายสายส่งและสายจำหน่ายได้
สรุปว่า
ระบบไฟฟ้าแห่งอนาคตซึ่งมีระบบกักเก็บพลังงานเป็นหัวใจสำคัญ จะช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ดูแลระบบไฟฟ้า (การไฟฟ้าทั้งสามแห่ง) เพราะทำให้การจัดหาไฟฟ้า การรักษาเสถียรภาพและการบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้ามีประสิทธิภาพขึ้น อันจะนำไปสู่ค่าไฟฟ้าที่ไม่แพงจนเกินไปในระยะยาว ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้ไฟฟ้า/ชุมชนและธุรกิจ ก็จะได้ประโยชน์จากพลังงานไฟฟ้าที่มั่นคงขึ้น ค่าไฟฟ้าที่ต่ำลง มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้บริการในระบบไฟฟ้า
จากการประเมินของคณะผู้วิจัย เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานที่มีศักยภาพทางการตลาดสูงคือเทคโนโลยีแบตเตอรี่ Lithium-ion ซึ่งมีแนวโน้มต้นทุนที่ต่ำลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการพัฒนาตลาด consumer electronics เช่น มือถือ กล้องถ่ายรูป แล็ปท็อป และยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ แบตเตอรี่ Lithium-ion ยังมีคุณสมบัติที่หลากหลาย ตอบโจทย์การใช้งานได้หลายรูปแบบอีกด้วย
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการใช้งานระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากต้นทุนยังสูงเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับ โดยประโยชน์ส่วนใหญ่ของระบบกักเก็บพลังงานจะอยู่ในรูปของการลดต้นทุนในการให้บริการต่าง ๆ เนื่องจากกติกาในระบบไฟฟ้าปัจจุบัน ยังไม่รองรับให้ระบบกักเก็บพลังงานมีส่วนร่วมให้บริการเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี แนวโน้มการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน ในระบบไฟฟ้าของประเทศไทย จะเริ่มคุ้มค่าในอีกไม่ช้า ดังนั้นเพื่อให้ “เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน” หนุนระบบไฟฟ้าแห่งอนาคตได้อย่างแท้จริง ภาครัฐควรพิจารณาบทบาทของเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ ในแผนพลังงานระยะยาวของประเทศ พร้อมปรับกติกาของกิจการไฟฟ้า เปิดโอกาสให้กับเทคโนโลยีพลังงานเหล่านี้ เข้ามามีส่วนร่วมให้บริการ เป็นทางเลือกให้ผู้ใช้ระบบไฟฟ้าของประเทศ