รายงานฉบับใหม่โดยกรีนพีชเซียราคลับและโคลสวอร์ม บอกชัดถึงการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกลดลงติดต่อกันเป็นปีที่สอง
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ลดลงร้อยละ 73 จากปี พ.ศ.2558 ถึงปี พ.ศ.2560 เนื่องจากการจำกัดการขยายตัวของถ่านหินในจีนและเงินกู้ภาคเอกชน นำไปสู่การละทิ้งพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 17 แห่งในอินเดีย
วอชิงตัน ดี.ซี. มีข้อมูลจากรายงานฉบับล่าสุดที่นำเสนอโดยกรีนพีซ เซียราคลับและโคลสวอร์ม ระบุว่า เป็นปีที่สองติดต่อกัน ที่จำนวนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในปี พ.ศ.2560 โดยที่จีนและอินเดียมีจำนวนลดลงมากที่สุด
รายงาน “รุ่งเรืองแล้วร่วงโรย : การติดตามแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลก ปี 2561” ซึ่งเป็นรายงานการสำรวจแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จัดทำขึ้นรายปีต่อเนื่องเป็นปีที่สี่แล้ว ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่เพิ่งสร้างแล้วเสร็จลดลงปีต่อปีที่ร้อยละ 28 (ลดลงร้อยละ 41ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เริ่มก่อสร้างลดลงปีต่อปีที่ร้อยละ 29 (ลดลงร้อยละ 73 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา) และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ในขั้นตอนการอนุญาตและการวางแผนลดลงปีต่อปีที่ร้อยละ 22 (ลดลงร้อยละ 59 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา)
สาเหตุหลักที่มีการลดลงอย่างต่อเนื่องของการขยายตัวของโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาจากกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่โดยรัฐบาลจีน และการลดลงของการสนับสนุนเงินกู้จากภาคเอกชนในอินเดีย ทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ 17 แห่งของอินเดียต้องหยุดลง
รายงานยังแสดงให้เห็นอีกว่า ในช่วงสามปีที่ผ่านมา จำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการปลดระวางรวมทั้งสิ้น 97 กิกะวัตต์ นั้นอยู่ในสหรัฐอเมริกา (45 กิกะวัตต์) จีน (16 กิกะวัตต์) และสหราชอาณาจักร (8 กิกะวัตต์)
สำหรับการรณรงค์ให้ลด ละ เลิกถ่านหินขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีพลังทั่วโลกโดยมีคำมั่นสัญญาจาก 34 ประเทศและหน่วยงานระดับท้องถิ่น ในปี พ.ศ.2560 มีเพียง 7 ประเทศที่เริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่มากกว่า 1 พื้นที่
แม้ว่าจะมีการลดลงของแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ รายงานได้ย้ำเตือนว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดช่วงชีวิตการทำงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในปัจจุบันทั่วโลกจะยังคงเกินงบดุลคาร์บอนของถ่านหินที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement)
เท็ด เนส ผู้อำนวยการของโคลสวอร์ม(CoalSwarm) กล่าวว่า “แนวโน้มการลดลงของโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงมิติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ แต่มันยังไม่ได้เกิดขึ้นเร็วพอ โชคดีที่การผลิตในระดับใหญ่ได้ทำให้ต้นทุนของพลังงานแสงอาทิตย์และลมลดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และตลาดการเงินรวมถึงผู้วางแผนพลังงานทั่วโลกต่างรับรู้ถึงแนวโน้มดังกล่าวนี้”
ด้าน ลอรี มิลเวอร์ทา เจ้าหน้าที่รณรงค์อาวุโสด้านพลังงานของกรีนพีซ กล่าวว่า “การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ลดลงและการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกิดขึ้นในอัตราเร่งเป็นข่าวดีสำหรับสุขภาพอนามัยของมนุษย์"
เพราะมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีส่วนทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรนับแสนคนทั่วโลก แม้ว่าจำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินในขั้นตอนการก่อสร้างจะลดลง แต่กำลังการผลิตที่ล้นเกินยังเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายทั้งในจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย จากการที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ
ทั้งนี้ ขนาดการผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยทั่วไปคือ 500 เมกะวัตต์ หรือ 0.5 กิกะวัตต์ ต่อหน่วย โรงไฟฟ้าถ่านหินส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสองหน่วยการผลิตหรือมากกว่านั้น
หมายเหตุ : เดอะเซียร่าคลับ (THE SIERRA CLUB) เป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา มีสมาชิกและผู้สนับสนุนมากกว่า 3 ล้านคน ส่วนองค์กรโคลสวอร์ม(CoalSwarm) เป็นเครือข่ายของนักวิจัยทั่วโลกที่แสวงหาความร่วมมือด้านการพัฒนาแหล่งข้อมูลติดตามผลกระทบจากถ่านหินเชื้อเพลิงฟอสซิลและทางเลือกทดแทนอื่น ๆ แผนงานในปัจจุบัน ประกอบด้วย การติดตามและจัดทำแผนที่โครงการที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินทั้งที่มีอยู่และที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ทั่วโลก อาทิ ถ่านหิน เหมือง และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/boom-and-bust-2018
กรุงปักกิ่งวันนี้ เลือกโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด
โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ หวาเหนิง เป่ยจิง (Huaneng Beijing Thermal Power Plant) ที่กรุงปักกิ่งซึ่งปิดดำเนินการตั้งแต่ปีที่ผ่านมา (18 มี.ค. 60) นับเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่รายสุดท้ายที่กรุงปักกิ่งได้ทยอยปิด ส่งผลให้นครหลวงปักกิ่งในวันนี้กลายเป็นเมืองแห่งแรกในประเทศจีนที่โรงไฟฟ้าทั้งหมดในเมืองเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด
จากการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน หวาเหนิง ปักกิ่งสามารถตัดลดการแพร่กระจายสารก่อมลพิษในแต่ละปี ได้แก่ ถ่านหิน ราว 1.76 ล้านตัน, ซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ 91 ตัน, และ ไนโตรเจน ออกไซด์ 285 ตัน นอกจากนี้ โรงงงานอีก 3 แห่ง ที่เคยใช้ถ่านหิน มากกว่า 6.8 ล้านตันในแต่ละปี ก็ถูกปิดตัวในระหว่างปี 2014-2015
ตามแผนการขจัดมลพิษอากาศของปักกิ่งระหว่างปี 2013 ถึงปี 2017 ปักกิ่งจะสร้างศูนย์โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากก๊าซ (gas thermal power) 4 แห่ง และปิดโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน 4 แห่ง
ทำให้ในขณะนี้ กรุงปักกิ่งมีโรงไฟฟ้า 27 แห่ง ทั้งหมดผลิตจากพลังงานสะอาด มีกำลังการผลิต 11.3 ล้านกิโลวัตต์ ซึ่งตามแผน นครหลวงปักกิ่งแห่งนี้จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อีกต่อไป “ตู้ เฉิงจาง” ผู้จัดการโรงงานหวาเหนิง กล่าวว่า โรงไฟฟ้าหวาเหนิงจะกลายเป็นเพียงแหล่งป้อนความร้อนฉุกเฉินสำหรับกรุงปักกิ่งเท่านั้น