xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวัน พลิกโฉมสู่ “เมืองต้นแบบจัดการขยะ” รัฐบาลเอาจริง ล้างบางขยะพลาสติกในปี 2030

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทุกวันนี้ เมืองไทเป ตามถนน ตรอกซอกซอย ดูสะอาด ไร้เศษขยะ ทั้งตอนกลางวัน และค่ำคืน
ชาวไต้หวันคุ้นเคยกับเสียงเพลง A Maiden's Prayer หรือเพลง Fur Elise แต่หลายคนที่ไม่รู้ก็ลองนึกถึงเสียงตุ๊กตาไขลาน หรือเสียงเพลงเวลารอสาย ส่วนใครเคยไปไต้หวันมาแล้วคงทราบดีว่า ทั้งสองเพลงนี้จะได้ยินตอนค่ำๆ ใกล้สองทุ่ม แล้วเราจะเห็นผู้คนไต้หวันรีบกุรีกุจอออกมายืนรอกันที่หน้าบ้าน
พวกเขาไม่ได้รอซื้อไอศกรีมอร่อยจากรถขาย หรือนั่นเป็นเสียงรถเร่ขายกับข้าว รับซื้อของเก่าเหมือนที่บ้านเรา หากว่าทั้งสองเพลงที่ชาวไทเปคุ้นหูดีนี้เป็นสัญลักษณ์ของ ‘รถเก็บขยะ’
ในอดีตเกาะไต้หวัน เมืองใหญ่อย่างไทเปครั้งหนึ่งตามถนนซอกซอยเคยสกปรกถึงขั้นถูกขนานนามว่า ‘เกาะแห่งขยะ’ แต่มาวันนี้ เมืองแห่งนี้ รัฐบาลของเขาพูดได้เต็มปากว่า ที่นี่ คือ “เมืองต้นแบบจัดการขยะ” ซึ่งประเทศไทยน่าที่จะเอาเป็นแบบอย่าง เพราะจะเป็นนับจากจุดเริ่มต้นพลิกเมืองที่คล้ายคลึงกัน
ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงปี 1980-1989 ไต้หวันพยายามผลักดันให้เกิดการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้วเสริมสร้างฐานพลังด้วยภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว ทำให้คนจากจังหวัดอื่นๆหลั่งไหลเข้าไปทำงานที่เมืองหลวงอย่างไทเป
แน่นอนว่าหนึ่งในปัญหาที่ตามมาจากการกระจุกตัวของประชากรก็คือ การจัดการขยะ หรือสิ่งเหลือใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในอดีตนั้น การทิ้งขยะสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการนำขยะไปกองทิ้งตามข้างถนน ตามถังขยะที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้ให้ และเมื่อถึงเวลารถขยะก็จะมาเก็บขยะเหล่านั้นไปกำจัด (ตรงนี้เหมือนบ้านเราในปัจจุบันเป๊ะๆ)
แต่ปัญหาที่ตามมา กองขยะที่ล้นหลามและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อขยะถูกทิ้งโดยไม่ผ่านการทำความสะอาดและคัดแยก ทั้งเศษอาหารน้ำหวาน สิ่งสกปรกต่างๆ ก็ผ่านฝนผ่านแดดส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว ทำให้สัตว์เลี้ยงโดยบังเอิญ ทั้งหนู มด แมลงสาบ แห่กันมาเป็นโขยง นอกจากจะเป็นภาพที่บั่นทอนคุณภาพจิตแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังสร้างการสูญเสียทรัพยากรมากมายทั้งค่ากำจัดขยะ ค่าแรงงาน และสูญเสียแม้กระทั่งรายได้จากขยะ
แต่เพียงเวลาไม่กี่ทศวรรษ ไต้หวันสามารถพลิกโฉมกลายเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับเรื่องระบบการจัดการระดับโลก ผ่านความร่วมมือจากส่วนกลางและจากตัวประชาชนเอง โดยเปลี่ยนการเก็บขยะจากการนำขยะไปทิ้งที่ถังเป็นการนำขยะมาทิ้งที่รถขนขยะด้วยตัวเอง หรือในพื้นที่สาธารณะถังขยะก็ไม่ได้มีจำนวนมากมาย เพื่อให้ประชาชนนำขยะเหล่านั้นกลับไปทิ้ง หรือรีไซเคิลที่บ้านของตน และเพื่อให้ผู้คนละแวกนั้นรู้ว่ารถขยะมาแล้ว เพลง A Maiden's Prayer หรือเพลง Fur Elise ก็ถูกติดตั้งเป็นสัญญาณให้นำขยะออกมาทิ้งดังมาแต่ไกล
ส่วนช่วงเวลาที่รถขยะจะผ่านหน้าบ้านก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดเส้นทางของทางเทศบาลเช่น บริเวณที่เป็นที่พักอาศัยรถขยะก็จะมาในช่วงตอนเช้าก่อนจะออกไปทำงาน และช่วงตอนเย็นที่ผู้คนเริ่มทยอยกลับถึงบ้านส่วนย่านการค้าหรือย่านท่องเที่ยวก็จะมาในช่วงกลางวันและตอนค่ำหรือแม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย รถขยะก็จะมาเก็บช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน
รถขยะก็ต้องดูให้ถูกสี รถขยะสีขาว เป็นรถรับขยะรีไซเคิล ส่วนรถขยะสีเหลือง เป็นรถรับขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ใครจะนำมาทิ้งปนเปไม่ได้เลย

คนไต้หวันยุคนี้ รู้หน้าที่ พอเสียงเพลงเพราะดังสักแป๊บ ก็มีรถขยะมารอรับ ผุ้คนก็รีบมาทิ้งขยะ
ในส่วนการทำงานของรถขยะ จะแบ่งขยะออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ (垃圾 เล่อเซ่อ คำนี้เป็นคำด่าได้ด้วยแปลว่า ไอ่ขยะ!) เช่นพวกทิชชู่ถุงน้ำจิ้ม ถุงพลาสติก และบริเวณท้ายรถขยะ เขาจะมีถังติดมาอีก 2 ใบ ใบหนึ่งใช้ใส่เศษอาหารเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ให้กับทางปศุสัตว์ ส่วนอีกใบใช้ใส่ของสด เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก หรือน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งภาครัฐสามารถนำไปใช้ในสวนสาธารณะ หรือนำกลับมาขายในราคาถูกได้อีกต่างหาก
ส่วนขยะรีไซเคิล ผู้ทิ้งก็ต้องแยกและทำความสะอาดขยะก่อนนำไปทิ้ง เช่นกระป๋อง พลาสติก แก้วกระดาษสมุดสำหรับวาดเขียน หรือกระดาษมันจากกล่องอาหาร (ที่นี่การทิ้งขยะรีไซเคิล เขาแบ่งละเอียดยิบถึง 13 ประเภท ที่สังเกตได้ก็มีตามหอพักในมหาวิทยาลัย บางหอพักยังมีการตั้งเวรดูแลการทิ้งขยะอีกด้วย)โดยรถขยะแบบไม่รีไซเคิลจะผ่านหน้าบ้าน 6 วันต่อสัปดาห์ วันละสองรอบเช้าเย็น และในจำนวนสองวันนี้ ก็จะมีวันที่รถขยะรีไซเคิลขับพ่วงตามท้ายมาด้วย
นอกจากการบังคับโดยตรงผ่านทางรถขยะแล้ว ใครที่เคยไปไต้หวันจะทราบดีว่า การซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านค้าใหญ่ๆ จะต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อซื้อถุงพลาสติก โดยราคาก็จะแตกต่างกันออกไปตามขนาดของถุง แตกต่างจากบ้านเราที่ถึงแม้จะซื้อของเพียงชิ้น สองชิ้น ทางร้านก็จะใส่ถุงให้อย่างรวดเร็วจนแทบจะปฏิเสธไม่ทัน
ปัจจุบันทางรัฐบาลไต้หวัน ออกประกาศให้ประชาชนรับทราบชัดเจนแล้วว่า “ภายในปี 2030 ขยะพลาสติกจะต้องได้รับการจัดการอย่างสมบูรณ์" พูดสั้นๆ ขยะพลาสติกในเมืองต้องเป็นศูนย์นั่นล่ะ
หลายๆ ความเคยชินต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาจทำให้เราไม่รู้ตัวว่า กำลังผลักเรื่องที่คิดว่าไกลตัวออกไปทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องใกล้ตัวจากมือคู่นี้ของเราเอง
ข้อมูลอ้างอิง https://minimore.com/b/TMYsL/6
รถขยะสีเหลือง รับขยะที่รีไซเคิลไม่ได้

โมเดลจัดการขยะของไต้หวันที่น่าสนใจ
-รัฐบาลมีนโยบาย ออกกฎหมาย และวางแนวปฏิบัติจัดการขยะที่เข้มงวด
-ตามบ้านพักอาศัย ประชาชนทิ้งขยะที่รถขยะเท่านั้น จึงมีเวลามารับขยะค่อนข้างแน่นอน เพราะมีจุดจอดรถในเมืองไทเปถึง 4,000 จุด
-ยกเลิกตั้งถังขยะในบริเวณที่อยู่อาศัย และห้ามประชาชนวางถุงขยะไว้ที่พื้นสาธารณะ
-การทิ้งขยะของประชาชน จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูว่า ทิ้งขยะถูกประเภทหรือไม่
-ประชาชนต้องแยกขยะก่อนทิ้ง และใช้ถุงขยะของรัฐซึ่งจะมีบาร์โค้ดระบุเท่านั้น
-ขยะรีไซเคิล แยกละเอียดถึง 13 ประเภท ส่วนขยะไม่สามารถรีไซเคิล ประชาชนก็ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ใส่เศษอาหารสำหรับนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ และอีกส่วนสำหรับใส่เศษอาหารสด เพื่อนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์
ปัจจุบันรัฐบาลไต้หวัน สามารถนำขยะที่ทิ้งกว่าร้อยละ 55 นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ด้วยการอำนวยความสะดวกในการแยกขยะ ควบคู่ไปกับการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด ทำให้ไต้หวันลดปริมาณขยะต่อคนได้เกือบสามเท่า จาก 1.14 กิโลกรัม ต่อคนต่อวันในปี 1998 ลงเหลือ 0.38 กิโลกรัมในปี 2015 ส่วนการรีไซเคิลขยะ เพิ่มจาก 5.9% ขึ้นไปสูงถึง 55% จนไทเป และทั้งประเทศไต้หวัน กลายมาเป็นต้นแบบของโลกในการจัดการขยะ
ใช้ถุงขยะของรัฐเท่านั้น ซึ่งจะมีบาร์โค้ดระบุไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น