ภาพที่คนรักต้นไม้ แชร์กันมากทางสื่อโซเชียล คือภาพต้นไม้ใหญ่ในเขตเมืองที่อยู่ริมถนนบ้าง สถานที่คนอยู่อาศัยหนาแน่นบ้าง ถูกตัดแต่งจนเหี้ยนเตียน ต้นไม้ถูกแปลงรูปร่างเป็นตอไม้ที่ดูเหมือนว่าจะรอดตายหรือ หลายๆ คนและหน่วยงานที่ต้องการรักษาต้นไม้ให้สร้างร่มเงา เพื่อให้คนอยู่อาศัยได้รับบรรยากาศที่ร่มเย็น ร่มรื่นในเขตเมืองจึงออกมาตั้งข้อสังเกตว่า
เป็นการตัดแต่งดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธีหรือ?
โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนนี้ เป็นช่วงที่หน่วยงานรับผิดชอบ ทั้ง กทม.หรือกรมทางหลวง เริ่มลงมือตัดแต่ง และมักจะมีเหตุผลให้อ้างว่าเป็นความรับผิดชอบ “หากต้นไม้เติบโตมีขนาดใหญ่ขึ้น และจะยิ่งมากขึ้นเมื่อเข้าฤดูฝนซึ่งอาจจะไปสร้างความเสียหายต่อชุมชนและทรัพย์สินได้”
เหตุการณ์ตัดแต่งต้นไม้ผิดรูปแบบ คือสาเหตุทำให้ต้นไม้ป่วยได้ เรื่องน่าตกใจวันนี้ก็คือ ต้นไม้ส่วนใหญ่ในเมืองหลวง ล้วนต้องเผชิญกับความผิดปกติ ป่วยไข้ ไม่สมบูรณ์ สาเหตุสำคัญมาจากการตัดแต่งผิดวิธีของฝ่ายกำกับดูแล ทำให้ปัญหายิ่งทับซ้อนมากขึ้นไปอีก
ประเด็นสงสัยดังกล่าวไม่มีคำตอบตายตัว เพราะเรื่องตัดแต่งให้ได้ผลลัพธ์ตามจุดประสงค์ ปลอดภัยต่อผู้คนและทรัพย์สินรอบข้าง หรือดีต่อต้นไม้ก็เป็นอีกเรื่อง แต่เรื่องความสวยงามนั้นเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งเราอาจจะมองว่า "สวย" ต่างกัน อย่างน้อย ถ้าเราตกลงกันให้ได้ก่อนว่า ตัดแต่งกิ่งไม้ไปเพื่ออะไรก็จะคุยกันง่ายขึ้น
กลับมาภาพที่ถูกแชร์กันมาก พร้อมกับคำถามที่สงสัยว่า การบั่นยอดคือพยายามฆ่าต้นไม้ หรือเปล่า ?
ต้นไม้ในเมืองทุกต้น ต้องตัดแต่ง เพื่อความปลอดภัย ทั่วโลกเขามีศาสตร์ในการตัดแต่ง ที่เรียกว่า ศาสตร์รุกขกรรม เพื่อให้ต้นไม้สามารถเติบโต สร้างร่มเงา ลองดูที่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งบ้านใกล้เรือนเคียง มาเลเซีย หรือแบบอย่างอารยประเทศที่มีการรักษาต้นไม้ใหญ่ในเขตเมืองเป็นอย่างดี โดยเฉพาะแถบยุโรป เขาตกแต่งกิ่ง ตัดกิ่งไม่สมบูรณ์ออก ดูแลกิ่งให้ร่มรื่น ไม่ใช่เหี้ยนแบบเมืองไทย
บางคนอาจจะไม่รู้ว่า "รุกขกรรม" วิชาชีพการจัดการต้นไม้ใหญ่ในงานภูมิทัศน์ ได้แก่ การปลูก ดูแล ศัลยกรรม และการตัดโค่น ซึ่งผู้ปฎิบัติเขาเรียกว่า "รุกขกร" การจัดการต้นไม้ในงานภูมิทัศน์ในระยะแรกเป็นเพียงการปฎิบัติตามๆกันมา โดยไม่ได้รับความสนใจมากนัก ต่อมาเมื่อต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นและมีมากขึ้น เริ่มสร้างความเสียหายต่อชุมชนและทรัพย์สินจนเห็นได้ชัด จึงเกิดวิชาชีพด้านงานรุกขกรรมขึ้น อย่างวิธีการตัดต้นไม้ในแนวสายไฟฟ้าที่ถูกต้อง เขาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ตัดกิ่งเล็กออกเหลือกิ่งใหญ่ไว้ และ ตัดกิ่งใหญ่ออกเหลือกิ่งเล็กไว้ Directional Pruning (ลักษณะทอนยอด)
อย่างไรก็ตาม ผู้คนที่โพลต์ไม่ได้คัดค้านว่าห้ามตัด แต่ควรมีวิธีที่ดีกว่านี้ เพราะกว่าต้นไม้จะเติบโตคอยดูดซับสารพิษสร้างออกซิเจนแก่สิ่งแวดล้อม ใช้เวลานานหลายปี
บางคนจึงโพสต์ว่า “คนใหญ่คนโตที่ทำงานเพื่อแผ่นดิน และคนไทยเราทุกคน ควรดูแลรักษาต้นไม้ให้ดีกว่านี้ เขาก็รู้นะว่าต้นไม้สร้างอากาศหายใจให้เรา สร้างน้ำสร้างชีวิต คุณตอบแทนบุญคุณเขาด้วยการตัดเหี้ยนๆ แบบนี้มันช่างเจ็บกระดองหัวใจ”
ต้นไม้กว่าเติบโตสร้างร่มเงา
ต้นไม้ต่างกับคนเราตรงที่ไม่ได้รับพลังงานจากการรับประทานอาหาร ต้นไม้ยืนเฉยๆ ดูดน้ำและแร่ธาตุใต้ดินผ่านลำต้นขึ้นมาที่ใบ เพื่อผสมกับแสงและก๊าซพิษที่คนไม่ต้องการ ออกมาเป็นอาหารให้ตัวเอง ส่วนหนึ่งเอามาใช้เป็นพลังงานดำรงชีวิต ใช้หายใจ ผลิตอาหาร รักษาแผลบ้าง ป้องกันเชื้อโรคบ้าง ที่เหลือก็เก็บสะสมไว้ตามลำต้นและราก
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโดนตัดเอาพุ่มใบด้านบนทั้งหมดออกไป? หรือที่เราเรียกกันว่า โดนบั่นยอด
พอใบหายไป ก็คงคล้ายๆโรงครัวผลิตอาหารของต้นไม้หายไป แต่ยังดีที่ ตนไม้เก็บสะสมอาหารไว้บ้างตามต้นและราก เมื่อใบหายไปก็พอจะดึงอาหารที่ออมไว้มาเร่งผลิตใบเพื่อสร้างพลังงานให้ตัวเองใหม่ (คงคล้ายๆกับเราหมดตัวแล้วเอาเงินออมมาลงทุนทำธุรกิจ) และแน่นอน ต้นและรากก็อ่อนแอลงเพราะอาหารที่สะสมไว้โดนดึงไปใช้ บางทีโชคร้าย เพิ่งผลิใบใหม่ๆ ยังไม่ทันผลิตอาหารสร้างความมั่นคงให้ตัวเอง ก็โดนบั่นยอดอีกแล้ว พอดึงอาหารสะสมมาใช้หมดตัว ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาลงทุนผลิตโรงครัว สร้างใบ สร้างอาหารให้ตัวเองอีก ในที่สุดจึงลาโลกไปอย่างช้าๆ (เราต้องแยกระหว่างการตัดแต่งต้นไม้ในงานภูมิทัศน์กับงานเกษตรกรรมด้วย ในงานสวนบางทีก็บั่นยอดแบบนี้ แล้วอัดปุ๋ยเข้าไปเพื่อเพิ่มผลการผลิต)
ข้อมูลบางส่วนจาก http://www.th-arbor.com/blog/is-topping-the-crime