xs
xsm
sm
md
lg

“เปลี่ยนแอร์ ปรับพฤติกรรม” ช่วยลดค่าไฟฟ้าหน้าร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทิศทางลมจากเครื่องปรับอากาศ ที่ควรเป่าขวางลำตัว
เครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ นอกจากเป็นเครื่องไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดของบ้านเรือน ช่วงหน้าร้อนนี้ยิ่งทำให้ค่าไฟพุ่งสูงขึ้นไปอีก แต่จะไม่เปิดก็คงจะอยู่บ้านไม่ได้แน่ ถ้าอย่างนั้นลองดูข้อแนะนำเพื่อประหยัดไฟ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อแอร์เครื่องใหม่

1. เพิ่มอุณหภูมิแอร์ช่วงกลางคืน เพราะในตอนกลางคืนเป็นช่วงที่ไม่มีแสงแดด ฉะนั้นอากาศก็ร้อนน้อยลงกว่าช่วงกลางวันระดับหนึ่ง การปรับอุณหภูมิแอร์เพิ่มขึ้น 1 องศาในช่วงที่คุณนอนหลับหรือก่อนเข้านอนสัก 1-2 ชั่วโมง ก็จะช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึง 10% เลยทีเดียว
2. เปิดพัดลมควบคู่ไปด้วย ช่วยลดความสิ้นเปลืองน้อยกว่าการเปิดแอร์อย่างเดียว โดยการเพิ่มอุณหภูมิแอร์ไปที่ 27-28 องศา แล้วเปิดพัดลมควบคู่ไปด้วย พัดลมก็จะช่วยลดอุณหภูมิลงมาได้อีก 2-3 องศา คราวนี้อากาศในบ้านก็จะเย็นสบายกำลังดีแบบไม่เปลืองไฟ

3. ควบคุมชั่วโมงแอร์ วันใดที่อากาศร้อนอบอ้าวมาก การปิดแอร์เพียงชั่วครู่ก็ทำให้เราร้อนจนเหงื่อซึมออกมาแทบจะทันทีทันใด คงเป็นไปได้ยากถ้าหากจะให้ควบคุมชั่วโมงเปิดแอร์ตอนกลางวัน ฉะนั้น หากอยากประหยัดค่าไฟแนะนำให้ใช้วิธีนี้ในตอนกลางคืน โดยตั้งเวลาปิดแอร์ช่วงตี 2 หรือตี 3 ส่วนก่อนนอนให้เปิดพัดลมทิ้งไว้ด้วย จะได้ไม่ตื่นกลางดึกเพราะต้องลุกขึ้นมาปิดแอร์

4. ปิดไฟแล้วเปิดม่านแทน นอกจากแสงแดดที่ทำให้เกิดความร้อนในบ้านแล้ว แสงไฟจากหลอดไฟก็มีส่วนที่ทำให้บ้านร้อนเหมือนกัน อีกทั้งยังทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้นด้วย ฉะนั้นในตอนกลางวันแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเปิดไฟ แล้วเปลี่ยนไปเปิดหน้าต่างหรือเปิดแค่ผ้าม่านแทน เพื่อให้บ้านสว่างขึ้นแต่ร้อนน้อยลง

5. เปิดพัดลมก่อนเปิดแอร์ หากกลับถึงบ้านแล้วเปิดแอร์เลย ในขณะที่ฝนังยังร้อนอยู่ก็ทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟเพราะทำงานหนักขึ้น ดังนั้นก่อนจะเปิดแอร์ควรเปิดพัดลมไล่ลมร้อนออกไปก่อนสักพัก แล้วค่อยเปิดแอร์ตามทีหลัง
6. ใช้เครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่บ้างก็ดี เพราะแอร์แบบเคลื่อนที่จะทำความเย็นเฉพาะจุด หรือในพื้นที่ที่ต้องการ ต่างจากแอร์ตัวใหญ่ที่มีระบบการทำงานแบบกระจายความเย็นทั้งห้อง และยังใช้ไฟน้อยกว่าแอร์ถึง 50% เลยทีเดียว

7. ไม่นำความชื้นเข้าห้อง แอร์ใช้พลังงานในการทำความเย็น 30% และอีก 70% เป็นพลังงานสำหรับจำกัดความชื้น ทำให้อากาศในห้องแห้ง ดังนั้นควรเลี่ยงนำสิ่งของที่มีความชื้นเข้าห้อง เช่น ต้นไม้ หรือผ้าเปียก เป็นต้น

8. ไม่นำของร้อนเข้าห้อง อุปกรณ์หรือเครื่องครัวต่างๆ ที่ทำความร้อน เช่น กระทะไฟฟ้า หม้อต้มสุกี้ ไม่ควรนำมาประกอบอาหารในห้องแอร์ เพราะความร้อนในห้องนจะสูงขึ้น และทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้น

เอาให้ชัวร์ ถ้าจะเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่
เครื่องปรับอากาศรุ่นเก่าที่ใช้ หากเห็นว่าให้ความเย็นดี และใช้มายาวนานอาจทำให้เรารู้สึกมั่นใจกับคุณภาพจนบางทีไม่ทันนึกว่าเราต้องเสียค่าไฟที่จ่ายทุกเดือนด้วยความเคยชินไปเท่าไร เครื่องปรับอากาศบางรุ่นอาจไม่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 และไม่มีค่า SEER แน่นอนว่าต้องเป็นเครื่องปรับอากาศที่กินไฟมากเลยทีเดียว
ดังนั้น หากจะใช้เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานจริงๆ ขอให้คำนึงถึงการทำความเย็นได้เร็ว ระบบไม่ตัดบ่อยๆ จะช่วยประหยัดไฟ และตัวเลือกดีที่สุดที่เราสัมผัสได้ ณ จุดขายก็คือ “เครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 ที่มีค่า SEER สูง”
 
แอร์ระบบ Inverter หรือ ธรรมดา ดีกว่ากัน?
เป็นการพิจารณาลึกลงไปอีกขั้น หลายคนมักตั้งคำถามนี้ว่าจะเลือกระบบอะไรดีระหว่าง ระบบ Inverter กับ ธรรมดา ที่จริงทั้ง 2 ระบบนี้แตกต่างกันตรงที่ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความเย็น
ระบบ Inverter เมื่ออุณหภูมิถึงจุดที่ต้องการแล้ว คอมเพรสเซอร์จะทำงานเบาลงแต่ไม่หยุดทำงาน สามารถหรี่อุณหภูมิเลี้ยงตามสภาพอุณหภูมิในห้องได้
ส่วนระบบแอร์ธรรมดา เมื่อทำความเย็นถึงจุดที่ต้องการแล้ว ระบบจะตัดการทำงานคอมเพรสเซอร์ รอให้อุณหภูมิตกมาถึงระดับที่ต้องทำงานค่อยเริ่มสตาร์ทใหม่เพื่อไต่ระดับอุณหภูมิใหม่อีกครั้ง ทำให้ทุกครั้งที่สต๊าร์ตการทำงานกินไฟมากกว่าเลี้ยงระดับอุณหภูมิไปเรื่อยๆ
อีกข้อดีของระบบ Inverter คือ ควบคุมอุณหภูมิได้แม่นยำขึ้นและประหยัดค่าไฟ ส่วนข้อเสียของระบบ Inverter คือ แอร์ระบบ Inverter มีราคาแพงกว่าระบบธรรมดา ในขณะเดียวกัน สถานที่ใดมีอุณหภูมิแกว่งตลอด เช่น ห้องที่เปิด-ปิด ประตูบ่อย อย่างร้านกาแฟที่มีลูกค้าเปิดเข้าออกบ่อยๆ ก็ไม่สามารถใช้ระบบ Inverter ได้ เนื่องจากจะทำให้แอร์ทำงานหนักกว่าปกติ เนื่องจากความเย็นไหลออกทุกครั้งที่เปิดปิดประตู
ดังนั้น การพิจารณาเลือกซื้อแอร์ระบบ Inverter ดูจะเหมาะกับบ้านพักอาศัยมากกว่า แต่ที่สำคัญกว่า คนอยู่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ค่าไฟฟ้าจากแอร์ไม่แพงมากเนื่องมาจากตนเองเอาความสะดวกสบายตามใจฉัน โดยไม่คำนึงว่านั่นทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้นจึงเปลืองไฟ
ข้อมูลจาก http://home.kapook.com/ , https://www.iurban.in.th/living/14airchecklist/



กำลังโหลดความคิดเห็น