xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหลักทรัพย์ฯ พาไปรู้จัก 9 ต้นแบบคนทำความดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โครงการ SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ 7 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย มูลนิธิศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มูลนิธิวิมุตตยาลัย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย มูลนิธิดวงประทีป ฯ ได้คัดเลือก 9 คนต้นแบบผู้ทำความดีและสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม พร้อมมอบทุนทรัพย์และประกาศเกียรติคุณ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจของการทำความดีให้แก่คนในสังคมไทยทุกระดับ
เกศรา มัญชุศรี กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า ”หนึ่งในโครงการเพื่อสังคมด้านการส่งเสริมความดี ที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง 11 ปี ก็คือโครงการนี้ เพราะการสนับสนุนและส่งเสริมให้สังคมมีคนดีที่มุ่งทำ “ความดี” ในหลากหลายมิติ จะเป็นรากฐาน และพลังขับเคลื่อนสำคัญของการสร้างสังคมคุณภาพ ซึ่งจากผลงาน ความรู้ ประสบการณ์ ของแต่ละท่านล้วนมีคุณค่า หากได้มีการศึกษาถึงเรื่องราว หลักคิดการทำความดีเพื่อสังคม และนั่นเองที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีได้อย่างดี”

1.วรินทร์ อาจวิไล
รางวัล “ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ”
ผู้ทำความดีเพื่อสังคม สาขาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนและสังคม
ครูผู้เปลี่ยน“สลัม” สู่แหล่งผลิตนักดนตรีคลาสสิก!

ผมเกิดและโต ในชุมชนน้องใหม่ ในเขตคลองเตย แต่มีโอกาสได้เรียนดนตรีเพราะมิชชันนารีที่เข้ามาชุมชนได้นำดนตรีมาสอน จนจบเอกไวโอลินคลาสสิค ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิด ปัจจุบันสอนดนตรีให้กับเด็กๆ ในชุมชนคลองเตยทุกเย็น ที่โบสถ์คริสตจักรอิมมานูเอล ลูเธอร์แรน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ผมว่าศักยภาพของเด็กในชุมชน ไม่ได้ด้อยกว่าเด็กข้างนอกเลย หากพวกเขาได้รับโอกาส ซึ่งผมได้รวมวงน้องๆ ตั้งเป็นวงออเคสตร้าขึ้น จริงอยู่เราคงไม่สามารถทำให้คนรวยได้ แต่เราสามารถทำให้สังคมที่เราอยู่น่าอยู่ได้ โดยใช้ดนตรี แล้วทำให้น้องๆได้เห็นว่าการศึกษาสำคัญ การศึกษาจะพาเราไปไกลกว่าที่คิด ซึ่งเขามีเราเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เราทำได้ คุณก็ทำได้เหมือนกัน ทุกคนมีศักยภาพเท่ากัน เพียงแค่โอกาสเท่านั้นที่ต่างกัน ผมตั้งใจจะทำวงดนตรีให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ทุกคนรู้ว่า ชุมชนคลองเตยเป็นแหล่งผลิตนักดนตรีที่ดี อยากให้ทุกคนรู้สึกว่า ถ้าเป็นนักดนตรีที่มาจากคลองเตยทุกคนอยากรับเลย และเมื่อพูดถึงคลองเตย ก็อยากให้มีภาพใหม่ คือนึกถึงดนตรี ไม่ใช่ยาเสพติดหรือปัญหาสังคมอื่นๆ

2.นายสวาสดิ์ ธรรมสุจริต
รางวัล “ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ”
ผู้ทำความดีเพื่อสังคม สาขาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนและสังคม
“ครูสอนเตะฟุตบอล ในชุมชนแออัดที่ใช้กีฬาเป็นเครื่องมือนำทางเยาวชนห่างไกลยาเสพติด”

ผมอยากให้เด็กๆในชุมชนได้มีโอกาส และอยากให้ชีวิตพวกเขามีการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยช่วงเวลาที่เขามาเล่นฟุตบอล ก็เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาจะไม่ติดเกมส์ ทำให้เขาห่างไกลยาเสพติด สมัยก่อนผมเด็กๆอยากเรียนฟุตบออล แต่ก็ไม่มีครูสอน ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กติดเกมส์ในชุมชน ยังคงมีมาก กีฬานั้นจะช่วยได้ ผมมาเริ่มสอนฟุตบอล เพราะบริษัทชิปปิ้งที่เคยทำงานปิด แล้วศูนย์พัฒนาและบริการคลองเตย ชวนให้มาเป็นครูสอนเตะฟุตบอลให้เด็กในชุมชน ให้เงินเดือนละ 3000 บาท ก็เลยทำมาตลอด สอนฟรีไม่คิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ปี 2551 แรกๆก็ยาก เพราะเด็กก้าวร้าว ด่ากันก็มี ท้าต่อยกับพ่อก็มี แต่พอสอนๆ ไป เขาก็ดี ขึ้น ผมอยากให้พวกเขามีโอกาส ก็จับนักเตะมารวมกัน ตั้งเป็นทีม แล้วพาออกไปหาประสบการณ์แข่งฟุตบอลกับทีมข้างนอก เพื่อโอกาสในการพัฒนา เช่นโรงเรียนนานาชาติ แรกๆก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเด็กในชุมชนแต่ละคนแล่นแรง ก้าวร้าว พูดไม่เพราะ แต่พวกเขาก็เล่นได้ดี คว้าชัยชนะจากการแข่งขันเป็นส่วนใหญ่ จนหลังๆ คนจะบอกว่า คลองเตยมาอีกแล้ว ไม่อยากเตะด้วย เพราะชนะทุกที

3.นางกัญญา มุสิกา
รางวัลศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต
ผู้ทำความดีเพื่อสังคม สาขาการพัฒนาห้องสมุด
ครูผู้สร้างแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เป็นจริง

รับหน้าที่เป็นครูบรรณารักษ์ ดูแลผิดชอบงานห้องสมุดของโรงเรียนคลองขวาง ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ตั้งแต่ปี 2535 มีแรงบันดาลใจในการทำงาน จากความศรัทธา ในพระราชกรณีกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ และ ประทับใจพระจริยวัตรของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการรักการอ่าน และใฝ่รู้ใฝ่เรียน โดยตั้งปนิธานที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นทั้งในโรงเรียน ชุมชน สมัยก่อนขอแค่มีหนังสือให้เด็กอ่านก็นับว่าดีที่สุดแล้ว แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป วิธีการเรียนรู้ของนักเรียนก็ด้วยเปลี่ยนไปด้วย ก็ต้องพยายามทำทุกวิถีทางที่จะปลูกฝังให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน เช่นใช้เศษวัสดุมาสร้างสีสันและแฝงไว้ด้วยความรู้ความน่าสนใจ ทำให้หน่วยงาน องค์กร ทั้งในและต่างจังหวัดมาศึกษาดูงาน เรียนรู้และนำไปเป็นแบบอย่าง นับเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมาก เพราะความรู้และประสบการณ์ที่ทุกคนได้รับไปนั้นหมายถึง เด็กไทยได้รับความรู้ต่อ
นอกจากนี้ยังสร้างแหล่งเรียนรู้ให้ชุมชน นำปราชญ์มาสอน เชื่อมโยงกับห้องสมุด ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ ต่อยอดเป็นอาชีพได้

4.นางคนึงนิตย์ เขียวสมบัติ
รางวัลศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต
ผู้ทำความดีเพื่อสังคม สาขาการพัฒนาห้องสมุด
ครูผู้มุ่งมั่นสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืนแก่เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาล สร้างคุณค่าชีวิตด้วยการอ่าน
เป็นครูภาษาไทย โรงเรียนบ้านนาวงศ์ อำเภอปัว จังหวัดน่าน รับหน้าที่เป็นบรรณรักษ์ ของโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี คิดว่าการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก ให้เด็กได้สะสมวิธีเรียนรู้และนำไปใช้ต่อยอดการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ตั้งใจว่าจะพัฒนาห้องสมุดให้ได้มาตรฐานก้าวทันห้องสมุดในเมืองใหญ่ๆ มากขึ้น โดยมีสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ตลอดจนสื่อเทคโนโลยี เพื่อเด็กในถิ่นทุรกันดารได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการค้นคว้าให้สมกับที่เป็นเด็กในยุค4.0 การทำงานห้องสมุดเหมือนกับการปิดทองหลังพระ เพราะผลจากงานที่ทำไม่ได้เห็นเกิดขึ้นในวันหรือสองวัน ต้องใช้เวลานับแรมเดือน แรมปี ดังที่ในหลวงได้ตรัสไว้ว่า “การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ ดิฉันขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะพัฒนาห้องสมุดของโรงเรียนให้ก้าวหน้าต่อไป จะสร้างเครือข่ายให้มีคุณภาพาตรฐานทัดเทียมกัน และจะทำงานห้องสมุดจนจะเกษียณอายุราชการ

5.นายบุญรุ้ง สีดำ
รางวัลศาสตราจารย์ สังเวียน อินทรวิชัย
ผู้ทำความดีเพื่อสังคม สาขาการพัฒนาการศึกษา
“ครูที่มีจิตวิญญาณของการให้เพื่อเป็นสัมมาอาชีวะ ด้วยภูมิปัญญาทางการเกษตรกรรม”

เริ่มต้นรับราชการเป็นครูวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนจังหวัดศรีษะเกษ แล้วย้ายไปประจำที่โรงเรียนต่างๆ อีกหลายแห่ง และได้ลาออกจากราชการในปี 2553 เพื่อไปสอนที่โรงเรียนสัมมาสิกขาศีรษะอโศก อ. กันทรลักษ์ จ. ศรีสะเกษ การสอนวิชาวิทยาศาสตร์ จะ เน้นฝึกให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และการสอนนอกระบบ จะเน้น การฝึกอบรม และการสาธิตด้วยระบบ “การมีส่วนร่วม
ผมมีความสุขที่ได้ทำงาน มีความสุขใจที่เห็นคนอื่นได้รับความรู้ นำไปปฏิบัติและเกิดผลจริง ต้องขอบคุณมูลนิธิศ.สังเวียน อินทรวิชัย และตลาดหลักทรัพย์ฯที่มองเห็นความสำคัญ ค้นหา และเชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม ความจริง ผมไม่เคยรู้ว่ามีโครงการและรางวัลนี้ จึงไม่ได้คาดหวังในเรื่องของรางวัลอะไร แต่ก็ตั้งใจทำงานตามปณิธานของตนเอง เพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่น เกื้อกูลต่อโลก ดังนั้น จะยังคงทำงานเช่นเดิมจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ส่วนเงินรางวัลทุกบาททุกสตางค์จะคืนสู่สังคม โดยนำเข้ากองทุนเพื่อเด็กๆ และจะทำแปลงเกษตรตัวอย่างให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และกสิกรรมธรรมชาติต่อไป

6.ชมรมข้าราชการและครูอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ (ช.อ.ศ.)
รางวัลศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต
ผู้ทำความดีเพื่อสังคม สาขาการพัฒนาห้องสมุด
“พลังจิตอาสาสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ให้คนไทย พัฒนาการเรียนรู้ต่อเนื่องและยั่งยืน ยาวนานกว่า 30 ปี ”

ชมรมข้าราชการและครูอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ (ช.อ.ศ.) ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 5,000 คน ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2528 ถึงแม้ว่าทุกท่านจะเกษียณอายุแล้ว แต่ก็ยังคงอุทิศเวลา ใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ด้วยการอุทิศตนเป็นจิตอาสาช่วยส่งเสริมการอ่านซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการศึกษาของประเทศ และการพัฒนาห้องสมุดซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเองที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ อีกทั้งสมาชิกชมรมฯ ยังได้เสียสละมอบทุนส่วนตัวและจัดหาทุนจากการจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้เพื่อซื้อหนังสือและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ สำหรับห้องสมุดที่ขาดแคลน ที่ส่งผลให้เยาวชน และผู้คนในชุมชนที่ขาดโอกาส อยู่ที่พื้นที่ห่างไกล ซึ่งขาดแคลนหนังสือและสื่อการเรียนรู้ที่ดี สามารถเข้าถึงสื่อเพื่อเรียนรู้ ค้นคว้าเพื่อยกระดับและพัฒนาการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองที่นับเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ซึ่งดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ อดีตประธานชมรม กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาห้องสมุดว่า
“การเรียนรู้สู่ความสำเร็จ หัวใจไม่ได้อยู่ที่อยู่ที่หนังสือในห้องสมุดอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะใช้ประโยชน์จากห้องสมุดได้อย่างไร ส่วนหนึ่งเด็กจะต้องศึกษาค้นคว้า ขณะเดียวกันครูสามารถกำหนดให้เด็กค้นคว้าในบทเรียนต่างๆ หรือเวลาเด็กเรียนด้วยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง อันเป็นการพัฒนากระบวนการคิด”

7.ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว
พลังชุมชนพิทักษ์ป่าสู่ความยั่งยืน
รางวัลมีชัย วีระไวทยะ สาขาการพัฒนาสังคมชนบท
ชุมชนเข้มแข็ง ฟื้นป่าชายเลน คืนชีวิตสู่ความยั่งยืน

บ้านท่ามะพร้าว หนึ่ง ใน 14 หมู่บ้าน ของตำบลคลองพน จ.กระบี่ มีเนื้อที่ 3,700 ไร่ เป็นป่าชายเลน 975 ไร่ มีประชากรทั้งหมด 1,300 คน รวม 270 ครัวเรือน เป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายของป่าชายเลน ที่เกิดจากการลักลอบตัดไม้และการรุกล้ำพื้นที่เพื่อทำนากุ้งกุลาดำ ซึ่งตลอดกว่า 18 ปี มานี้ ชุมชน ได้รวมตัวกัน ร่วมกันทำงานอย่างหนัก เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนของชุมชนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งโดยมี บังเฉม ลูกบัว วัย 71 ปี ซึ่งยึดหลักการช่วยเหลือชุมชนเป็นที่ตั้ง เป็นผู้นำในการพัฒนา

“สมัยก่อน เราได้ยินคนบอกว่า ถ้าป่าไม่มี สัตว์น้ำก็ไม่มี เราก็ไม่ค่อยเชื่อ แต่วันนี้เราเห็นด้วยตาตนเองแล้วว่า ถ้าไม่มีป่า ก็ไม่มีสัตว์น้ำแน่นอน ลูกหลานของเราก็คงจะไม่มีกินอีกต่อไป รวมถึงรุ่นเราด้วย ซึ่งเจอกับปัญหานี้มาแล้ว เราจะคุยกับทุกคนเสมอว่า เมื่อก่อนเราอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปทำลายไม้ ไปทำลายป่า วันนั้นอาจจะไม่รู้ วันนี้เรารู้แล้ว ว่าเมื่อเราทำลายป่าชายเลน สัตว์น้ำก็จะไม่มี วันนี้ทุกคนเห็นแล้วว่า เมื่อเริ่มมีป่า สัตว์น้ำ ก็เริ่มกลับมา สิ่งที่ไม่เคยมีก็กลับมา วันนี้ทะเลบ้านเรากลับมาแล้ว เราจะต้องรักษา หวงแหนไว้ให้ถึงลูกถึงหลาน ถึงไม่มีชีวิตผมหรือคณกรรมการคนหนึ่งคนใด ก็ขอให้ลูกหลานรักษาไว้เอาไว้ให้ได้”

8.คณะนักร้องประสานเสียงมิตรสัมพันธ์ กรุงเทพฯ
รางวัล ดร. สุกรี เจริญสุข
ผู้ทำความดีเพื่อสังคม ด้านการส่งเสริมดนตรี
สร้างสรรค์ดนตรีเป็นอายุวัฒนะและเชื่อมร้อยวัฒนธรรม

คณะนักร้องประสานเสียงมิตรสัมพันธ์ กรุงเทพฯ ก่อตั้งมานานกว่า 27 ปี นับเป็นคณะนักร้องประสานเสียงที่เก่าแก่ที่สุด สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน อายุเฉลี่ยมากกว่า 70 ปี หลายคนอายุมากกว่า 80 ปี แต่ละคนประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นนักธุรกิจ มีฐานะดี เข้าขั้นมหาเศรษฐี โดยทุกคนมารวมตัวกันเพราะรักในการร้องเพลงจีน และวัฒนธรรมจีน โดยเป็นการวมตัวแบบไม่หวังผลประโยชน์ ลาภยศ ชื่อเสียง และไม่มีชนชั้น และยังเป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจของสังคม ในด้านการสร้างคุณประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งแม้แต่ละคนจะเป็นผู้สูงอายุ มีการรวมตัวกันจัดแสดง เพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในโอกาสต่างๆด้วย นอกจากนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจของสังคมปัจจุบันที่เข้าสู่ผู้สูงอายุ ที่ทำให้เห็นถึงศักยภาพและคุณค่า ประสบการณ์ ของผู้สูงอายุ ที่คนรุ่นใหม่ สามารถเรียนรู้ได้อีกมากมาย โดยเฉพาะการขับร้องเพลง ที่แต่ละคนแม้สูงวัย แต่ก็เต็มไปด้วยพลัง และขับร้องออกมาได้อย่างไพเราะ น่าประทับใจ

“ ทุกคนมีใจรักร้องเพลง ชอบเพลงจีน ค่อยๆฝึกฝน การร้องเพลงทำให้เราได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทำให้ส่งเสริมมิตรภาพระหว่างกัน และยังทำให้สุขภาพทุกคนแข็งแรง เวลาร้องประสานเสียง ทำให้จิตใจสบาย มีความสุข สุขภาพดี”

9.อาทิวราห์ คงมาลัย (ตูน บอดี้สแลม)
รางวัลอิสรเมธี
ผู้ทำความดีเพื่อสังคมสาขาพัฒนาสังคมเมือง

“มีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากพูดมาตลอด แต่ไม่ได้พูด คือ เส้นทางที่ผมวิ่ง 2 พันกว่ากิโลตั้งแต่เบตงถึงแม่สายมันดูเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนที่ไม่ใช่นักกีฬาอย่างผม คนที่ไม่ได้มีเวลาฝึกซ้อมแบบนักกีฬาอย่างผม คนที่วิ่งจบฟูลมาราธอนด้วยเวลายังเกิน 4 ชั่วโมงอยู่เลย มันดูเป็นไปไม่ได้เลยที่จะวิ่งจบหรือจบภายใน 55 วันก็ตาม แต่สุดท้ายด้วยก้าวเล็กๆทุกวันๆ ที่เราก้าวไปและก้าวโดยไม่หยุดเส้นทางที่มันดูไกลเกินจริงเป้าหมายที่มันไกลเกินจริงสุดท้ายมันก็สำเร็จ
ผมกำลังจะบอกว่าเช่นเดียวกันกับปัญหาโรงพยาบาล สาธารณสุขของคนไทยในเมืองไทยที่มีปัญหาในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละมิติแตกต่างกันไป มันดูเป็นปัญหาใหญ่มาก พอโรงพยาบาลนี้ถูกแก้ โรงพยาบาลนี้ก็ต้องการ อยู่ตลอดเวลา เหมือนเส้นทาง 2 พันกว่ากิโลเมตรที่เราจะต้องวิ่ง แต่วันนี้เราก็ได้เริ่มก้าวแรกๆกันแล้ว ผมคิดว่ามันก็กำลังก้าวต่อจุดไปเรื่อยๆ ผมดีใจมากที่ตอนนี้โครงการของเราได้ไปสานต่อแรงบันดาลใจ ให้กับคนในพื้นที่ต่างๆได้ไปทำ เพื่อดูแลโรงพยาบาลในพื้น สาธารณสุข สุขอนามัยของคนในพื้นที่ ผมดีใจมากที่มันได้ไปสร้างแรงบันดาลใจที่มันไปกระทบให้กับใครหลายๆคนในแต่ละพื้นที่ เป็นก้าวเล็กๆที่ต่อจุดไปเรื่อยๆก้าวเล็กๆที่ทุกคนช่วยกันก้าวสักวันหนึ่งก็จะครบ 2 พันกว่ากิโล”


กำลังโหลดความคิดเห็น