xs
xsm
sm
md
lg

4 ประเทศแบบอย่าง “ลดขยะพลาสติก” เขาทำแบบไหน? ที่ไม่ใช่สร้างภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เกือบทุกประเทศบนโลกใบนี้ต่างทราบดีว่า “ขยะพลาสติก” ก่อปัญหาร้ายแรงต่อระบบนิเวศทางทะเลจนก่อผลกระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์ในระยะยาว ขืนปล่อยให้มีปริมาณมากขึ้นยิ่งจะกระทบต่อแหล่งผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ยังดีว่ามีหลายประเทศมองการณ์ไกล ผู้นำประเทศของเขา ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคต่างให้ความร่วมมือ เพราะตระหนักถึงภัยร้ายแรงในอนาคตอันใกล้ พวกเขาลงมือทำกันอย่างจริงจัง พร้อมมีความเด็ดขาดทางด้านกฎระเบียบ กฏหมาย จนเป็นแบบอย่างของการลดขยะพลาสติก ที่ไม่ใช่เพียงสรรหากลยุทธ์ หรือแคมเปญสร้างภาพเพื่อให้ตนเองดูดีต่อสังคมเท่านั้น


สหราชอาณาจักร มีการเก็บภาษีถุงพลาสติก (Tax on plastic bag) จากลูกค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตโดยห้ามร้านค้าจ่ายภาษีแทนให้ลูกค้า (pay tax on cost behalf) ซึ่งห้างเทสโก้ตอบรับมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ มีการรณรงค์ “a plastic bag free month” เพื่อลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก และเจ้าหน้าที่ร้านสหกรณ์ (co-op) ต้องถามลูกค้าสองครั้งว่าต้องการถุงพลาสติกหรือไม่

แคนาดา ออกกฎให้ผู้ค้าปลีกต้องจัดเก็บค่าถุงพลาสติกในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้นำถุงมาจากบ้านอย่างน้อย 5 เซนต์ต่อถุงพลาสติกหนึ่งใบ โดยไม่คำนึงถึงปริมาณและขนาดของถุงพลาสติก หากลูกค้านำถุงพลาสติกเหล่านั้นมาคืน ก็จะได้รับเงินคืนกลับไป
ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกยกเว้นในกรณีของถุงพลาสติกที่ใช้ในการบรรจุผัก ผลไม้ ถั่ว ลูกอม พลาสติกที่ใช้ห่ออาหารแช่แข็ง เนื้อ ปลาสด ถุงใส่ยารักษาโรค หนังสือพิมพ์ ถุงขยะและถุงรีไซเคิล เป็นต้น
ส่วนเงินที่ได้จากการขายถุงพลาสติก ผู้ขายสามารถนำเงินนั้นไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องนำไปให้รัฐบาล โดยให้ผู้ขายนำเงินที่ได้จากการขายถุงพลาสติกให้แก่ลูกค้ามาบริจาคสู่สังคม หรือองค์กรสิ่งแวดล้อม โดยมีการสนับสนุนให้แจ้งถึงการใช้ประโยชน์จากเงินจำนวนเหล่านั้น
รวมถึงการติดโปสเตอร์เพื่อรณรงค์ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก และการนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ด้วยอีกทางหนึ่ง โดยมีการตั้งเป้าหมาย และกำหนดข้อตกลงให้มีการลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในส่วนระดับจังหวัดถึงร้อยละ 50 และในส่วนของเมืองโตรอนโตถึงร้อยละ 70

ญี่ปุ่น ออกพระราชบัญญัติกฎหมายส่งเสริมการใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของกฎหมายส่งเสริมการซื้อสีเขียว (Law on Promoting Green Purchasing) และยังมีการกำหนดวันงดใช้ถุงพลาสติก (No plastic bag day) โดยได้รับความร่วมมือจากร้านค้าและตลาดเป็นจำนวนมาก
ที่นี่มีการจัดเก็บภาษีถุงพลาสติก โดยที่ร้านค้าต่างๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทางร้านค้าจะมีการให้สติกเกอร์กับผู้ที่มาซื้อของและไม่ต้องการถุงพลาสติก ทางร้านค้าจะมีการมอบสติกเกอร์ให้เพื่อนำไปสะสม พอสะสมจนครบ 25 ดวง ก็สามารถนำสติกเกอร์ไปแลกเป็นเงินจำนวน 100 เยน (US$ 1.00) จากร้านที่ลูกค้าได้ซื้อของไป
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังออกพระราชบัญญัติกฎหมายการนำกลับมาใช้อีกฉบับ เพื่อให้บริษัทนำผลิตภัณฑ์ของตนกลับมาใช้อีก ลดวัสดุที่ใช้และเพิ่มอายุผลิตภัณฑ์เพื่อลดปริมาณของเสียและใช้ซ้ำบางชิ้นส่วนจากผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้อีก

ไต้หวัน องค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไต้หวัน (Taiwan Environmental Protection Agency, EPA) ออกกฎหมายเพื่อดำเนินนโยบายห้ามใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมโดยไม่คิดมูลค่า (Ban the distribution of free plastic shopping bags and foam box) โดยที่
1) มีการออกกฎห้ามใช้ถุงพลาสติกที่มีความหนาไม่เกิน 0.06 มิลลิเมตร
2) มาตรการการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมกับผู้ค้าปลีก โดยออกกฎห้ามร้านค้าให้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมโดยไม่คิดราคา ทั้งนี้ ค่าปรับสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอยู่ระหว่าง 66,000-300,000 ดอลลาร์ไต้หวัน เนื่องจากมีการใช้ถุงพลาสติกในไต้หวัน 16 ล้านชิ้นต่อวัน ทำให้เกิดปัญหาในการกำจัด
ในเฟสแรก หน่วยราชการ หน่วยงานสาธารณะต่างๆ ของไต้หวัน ได้แก่ ร้านค้าของทหาร โรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน โรงพยาบาลรัฐ โรงอาหารในหน่วยงานของรัฐ จะต้องปฏิบัติตาม
ส่วนเฟสสอง บังคับใช้กับห้างสรรพสินค้า คลังเก็บสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายอาหารฟาสต์ฟูด และร้านอาหารที่มีหน้าร้าน สำหรับการเรียกเก็บค่าถุงพลาสติกหรือกล่องโฟมโดยผู้ค้าปลีก ไม่ได้ถูกกำหนดในอัตราที่แน่นอน ตามปกติจะกำหนดช่วงราคาระหว่าง NT1 - NT3 (HK$ 0.23 - HK$ 0.69) ต่อถุงพลาสติกหนึ่งใบ แต่ยกเว้นการเก็บค่าถุงพลาสติกที่ใช้สำหรับบรรจุสินค้าที่เสียหายง่าย และพลาสติกที่ใช้ห่ออาหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการออกกฎการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก มีการใช้ถุงพลาสติก 2.5 ถุงต่อคนต่อวัน แต่หลังจากนำกฎนี้มาใช้ สามารถลดการใช้ได้ถึงร้อยละ 80 ในปีแรก แต่มีเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปีถัดมา


กำลังโหลดความคิดเห็น