ช่วงเวลาราว 4 เดือน หลังจากที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) ออกมาแถลงผลการเฝ้าระวังผักและผลไม้ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เมื่อปลายปีที่ผ่านมาพบว่า ผักผลไม้ล้วนพบแต่สารพิษปนเปื้อนทั้งสิ้น โดยเฉพาะตัวอย่างผักและผลไม้ที่มักบริโภคอยู่เป็นประจำ พบมีสารพิษปนเปื้อนทั้งหมด
นั่นคือสาเหตุทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยหันหลังให้ตลาดจำหน่ายผักผลไม้ทั่วไป และมุ่งไปเลือกสรรหาผักผลไม้อินทรีย์ หรือออร์แกนิกเพิ่มมากขึ้น
ไทยแพนเก็บตัวอย่างจากตลาดทั่วประเทศจำนวน 150 ตัวอย่างเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ครอบคลุม
-ผักยอดนิยม 5 ชนิด ได้แก่..ถั่วฝักยาว คะน้า พริกแดง กะเพรา และกะหล่ำปลี
-ผักพื้นบ้านยอดฮิต 5 ชนิด ได้แก่ ใบบัวบก ชะอม ตำลึง และสายบัว
-และผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ องุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว สับปะรด
ซึ่งเป็นการสุ่มตรวจครอบคลุมตลาดจำนวน 9 ตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี ราชบุรี และสงขลา รวมทั้งจากห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ 3 ห้าง และซุปเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง พบว่าโดยภาพรวมมีสารพิษปนเปื้อนในผักและผลไม้เกินมาตรฐานถึง 46% แต่ก็ดีกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย
ทั้งนี้ เป็นปีแรกที่ไทยแพน สุ่มตรวจผักพื้นบ้านยอดนิยมเพื่อเปรียบเทียบกับผักทั่วไปและผลไม้ พบว่า ผักยอดนิยมทั่วไปมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 64% ผักพื้นบ้านยอดนิยมพบ 43% และผลไม้ก็พบ 33% เช่นเดียวกัน
เทรนด์ออร์แกนิกเติบโตต่อเนื่อง
จากการสำรวจข้อมูลโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน/กรีนเนท พื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 235,523.35 ไร่ ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 284,918.44 ไร่ ในปี พ.ศ. 2558 (เพิ่มขึ้น 20.97%)
ในส่วนของจำนวนฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในช่วงเวลาดังกล่าวก็ขยับเพิ่มขึ้นจาก 9,961 ฟาร์มในปี พ.ศ. 2557 เป็น 13,154 ฟาร์ม ในปี พ.ศ. 2558
ส่วนตลาดสินค้าออร์แกนิกไทยในปี 2557 มีมูลค่ารวม 2,331.55 ล้านบาท โดย 1,187.10 ล้านบาทเป็นตลาดส่งออก (77.9%) และ 514.45 ล้านบาทเป็นตลาดในประเทศ (22.06%) โดยช่องทางตลาดออร์แกนิกในประเทศที่ใหญ่ที่สุด คือ โมเดิร์นเทรด (59.48%) รองลงมาคือ ร้านกรีน (29.47%) และร้านอาหาร (5.85%)