ที่จริงแล้ว สวนกังหันลมกึ่งหุ่นยนต์รุ่นไร้เกียร์ผลิตไฟฟ้า โครงการสวนกังหันลมเลียบชายฝั่ง อ. ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (IWIND) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เคยได้รับรางวัลดีเด่น ASEAN Energy Awards 2017 ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (On-Grid)
กังหันลมแห่งนี้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “กังหันลมกึ่งหุ่นยนต์รุ่นไร้เกียร์” เพราะสามารถหมุนหาลมได้เอง 360 องศา และหมุนปรับองศาใบพัดได้เองอัตโนมัติ เพราะใช้ระบบเซ็นเซอร์ควบคุม และป้องกันเหตุฉุกเฉินต่างๆ ระหว่างการผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยการแจ้งข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง
ก่อนลงมือสร้างโครงการนี้ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ฯ ได้ศึกษาเป็นอย่างดีถึงศักยภาพของลมในพื้นที่อย่างต่อเนื่องถึง 3 ปี และคัดเลือกพื้นที่ตั้งโครงการบนแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ซึ่งมีค่าความเร็วลมเฉลี่ยตลอดทั้งปี 5.21 เมตร/วินาที อยู่ในเกณฑ์วัดที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า ประกอบกับได้รับลมตลอดทั้งปีจากทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันพัดผ่านพื้นที่โครงการ จึงออกแบบพื้นที่โครงการให้สอดคล้องกลมกลืนกับระบบนิเวศชายฝั่ง และสภาพพื้นที่เดิมที่เคยเป็นนากุ้งร้าง มีสภาพของพื้นที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม
เรียกว่าบริษัทฯ มีการศึกษาพร้อมวางแผนเป็นอย่างดีมาก่อน นับตั้งแต่การเริ่มกำหนดรูปแบบในการพัฒนาให้เป็นสวนกังหันลมควบคู่กับพื้นที่สาธารณประโยชน์สำหรับชุมชน อาทิ สวนสาธารณะ ลานกิจกรรมอเนกประสงค์ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าชายเลนและป่าชายหาด ศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน และเส้นทางจักรยานเลียบสวน รวมถึงการเข้ามาช่วยสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน ด้วยการจ้างแรงงานที่มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้เคียงโครงการ ตลอดจนปรับโครงการฯ ให้เป็นศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลเซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศจากตัวกังหันลมในการเตือนภัยให้แก่ชุมชน
ดร.สุเมธ สุทธภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโครงการฯ กล่าวว่า โครงการสวนกังหันลมแห่งนี้ มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกังหันลมขนาด 2.5 เมกะวัตต์ จำนวน 4 ต้น เส้นผ่านศูนย์กลางใบพัด 121 เมตร และผลิตไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในปี 2559 ที่ผ่านมา สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมซึ่งไปทดแทนไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้รวม 18,930,038 kWh หรือคิดเป็นปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10,579.86 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
บริษัทฯ ใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 800 ล้านบาท (รวมที่ดิน) มีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 12.3% และมีระยะเวลาคืนทุน 10 ปี โดยมีมูลค่าการลงทุนผลิตไฟฟ้า 80 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นต้นทุนต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าต่ำสุดสำหรับโครงการกังหันลมในประเทศไทย
“รางวัล Thailand Energy Awards ที่ได้รับนั้นเป็นส่วนที่เสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้ประกอบการ เราสามารถนำรางวัลไปยืนยันหลักคิดให้กับทางหน่วยงานต่างๆ ได้ทราบถึงสิ่งที่เราคิดและวางแผนจนเป็นที่ยอมรับ และการที่ได้รับรางวัล Thailand Energy Awards คงจะไม่ยั่งยืน หากว่าเราไม่สามารถสานต่อไปได้ แต่พอได้รางวัลนี้ทำให้โครงการสามารถเพิ่มเติมในมิติของความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นหลักคิด หรือเรื่องต้นทุนต่างๆ สำหรับการปฏิบัติในโครงการระยะยาว อีกทั้งสร้างความมั่นใจ ความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถยืนยันได้ด้วยตัวเอง” ดร.สุเมธ กล่าว