xs
xsm
sm
md
lg

ราชบุรีโฮลดิ้ง เดินหน้ากลยุทธ์ CSV ที่ สปป.ลาว สร้างศักยภาพด้านพลังงานทดแทนแก่สถาบันอาชีวศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



นักศึกษา สปป.ลาว จากสถาบันอาชีวศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการ
นับเป็นการผนึกเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันกับ กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป. ลาว ภายใต้โครงการการศึกษาเสริมทักษะสร้างอาชีพ สปป.ลาว ระยะที่ 2 ต่อยอดการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ด้านการศึกษาให้กับสถาบันอาชีวศึกษา สปป.ลาว ที่มีความต้องการสร้างบุคลากรให้มีทักษะความรู้เพื่อเตรียมพร้อมรองรับความต้องการของภาคธุรกิจพลังงานทดแทนที่กำลังขยายมากขึ้น

จึงเป็นทั้งความพยายามของนานาประเทศอย่าง สปป.ลาว และราชบุรีโฮลดิ้งที่จะพัฒนาพลังงานจากธรรมชาติที่ไม่มีวันหมดมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กำลังลดน้อยลงทุกขณะ อีกทั้งเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น กลายเป็นกระแสที่นานาประเทศตอบรับและเดินหน้าไปสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ

ประเด็นดังกล่าวได้นำมาผนวกไว้ใน “โครงการการศึกษาเสริมทักษะสร้างอาชีพ” (Education for Career Empowerment) ระยะที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว กับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมความรู้ สนับสนุนการวิจัยและทดลองเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งถือเป็นการสร้างบุคลากรที่มีความรู้และทักษะ เตรียมพร้อมรับความต้องการของภาคธุรกิจพลังงานทดแทนที่กำลังขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ
กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้ได้ขยายการสนับสนุนส่งเสริมสาขาพลังงานทดแทนเป็นสาขาที่ 4 จากเดิมที่ดำเนินแล้ว 3 สาขา คือ สาขาเชื่อมโลหะ สาขาไฟฟ้าควบคุม และสาขาเครื่องกล สำหรับสาขาพลังงานทดแทนได้วางให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาคำม่วน เป็นต้นแบบ โดยจะมีการจัดตั้ง “ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมด้านพลังงานทดแทน ลาว-ราชบุรี” ซึ่งจะมีหลักสูตรสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้แก่ พืชพลังงาน พลังงานจากขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ การติดตั้งและซ่อมบำรุงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการวิจัย ทดลอง และฝึกปฏิบัติด้านต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับพัฒนาความรู้และทักษะของสาขานี้

“โครงการนี้ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2554 นับเป็นโครงการเพื่อสังคมระยะยาวโครงการแรกที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว กับภาคเอกชนไทย และเป็นรูปแบบซีเอสอาร์ของบริษัทฯ ด้านการศึกษาที่รัฐบาลสปป.ลาว นำไปเป็นแบบอย่าง หรือแนวทางให้แก่ภาคเอกชนอื่นๆ ดำเนินการ จุดประสงค์หลักของโครงการนี้ เพื่อยกระดับวิชาชีพเฉพาะด้านเทคนิคต่างๆ แก่ครูอาชีวศึกษาระดับสูงและระดับปริญญาตรี รวมถึงการฝึกอบรมทักษะทางภาคปฏิบัติให้แก่นักศึกษาอาชีวศึกษาชั้นปีสุดท้าย ให้มีความชำนาญ สามารถไปประกอบอาชีพตามสถานประกอบการหรือประกอบอาชีพอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินโครงการร่วมกันของทั้งสองฝ่ายในระยะที่ 1 อย่างเป็นขั้นตอน จนมีผลสำเร็จสามารถส่งเสริมศักยภาพและคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ให้ยกระดับสูงขึ้น ได้ยังประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของสปป.ลาวเป็นอย่างดี”
“ผมเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเป็นคุณูปการมิติเศรษฐกิจและสังคมต่อสปป.ลาว อย่างมาก และบริษัทฯ ในฐานะบริษัทเอกชนชั้นนำของไทยที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในสปป.ลาว รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้ อันจะนำไปสู่มิตรภาพและสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ ของทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน” กิจจา กล่าวในที่สุด
พิธีลงนาม MOU ระยะที่ 2 ระหว่าง กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และ ดร.กองสี แสงมะนี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาและกีฬา สปป.ลาว
โครงการการศึกษาเสริมทักษะสร้างอาชีพ ระยะที่ 2 (ปี 2561-2566)
ดำเนินการภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนงที่ลงนามระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว กับบริษัทฯ นอกจากสาขาพลังงานทดแทนแล้ว ยังจะสานต่อการเสริมสร้างศักยภาพสถาบันอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการในระยะที่ 1 ใน 3 สาขาวิชา ประกอบด้วย วิชาชีพสาขาช่างเชื่อมโลหะ ที่โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสมแขวงไซยะบุรี สาขาช่างซ่อมบำรุงและวิชาการเดินเครื่องที่วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ และสาขาวิชาการควบคุมไฟฟ้า PLC และวิชาช่างเชื่อมโลหะที่วิทยาลัยเทคนิคแขวงหลวงพระบาง รวมทั้งการปรับปรุงและพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ยกระดับความรู้ความสามารถของบุคลากร จัดหาอุปกรณ์เทคนิคที่จำเป็นเพิ่มเติม และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับการฝึกทักษะของสถาบันอาชีวศึกษาทั้ง 3 แห่งด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น