๐ “ขยะทะเล” ประเด็นระดับโลกที่สหประชาชาติให้ความสำคัญ
๐ ประเทศไทยเดินหน้าโครงการแก้ปัญหาตามแผนแม่บท 5 ด้าน ตั้งเป้าลดขยะต้นทางให้ได้ 5%
๐ หวังหลุดจากอันดับ 6 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกกลางทะเลมากที่สุดในโลก
ขยะทะเลนับเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญ เพราะได้กำหนดให้การจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ เนื่องจากทะเลทั่วโลกที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่ต่างคนต่างตักตวงใช้โดยไม่คำนึงผลที่เกิดขึ้นในระยะยาว กำลังเผชิญกับขยะที่ล่องลอยจากแผ่นดินและจากชายฝั่งออกสู่ท้องทะเล รวมทั้งกิจกรรมในทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกได้สร้างปัญหามากมาย ขยะพลาสติกขนาดใหญ่ เช่น แห อวน หรือซากสิ่งของ เป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากและ ใกล้สูญพันธุ์ บาดเจ็บหรือเสียชีวิต สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมในแนวปะการังและพื้นท้องทะเล ทำลายทัศนียภาพของชายหาด ส่งผลต่อการประมงและการท่องเที่ยวของหลายประเทศ
ที่ผ่านมา มีการจัดอันดับประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกกลางทะเลมากที่สุดในโลก โดยประเทศจีนเป็นอันดับ 1 มีขยะพลาสติกในทะเลร้อยละ 8.2 อินโดนีเซียอันดับ2 ร้อยละ 3.22 ฟิลิปปินส์อันดับ 3 ร้อยละ 1.88 เวียดนามอันดับ 4 ร้อยละ 1.88 ศรีลังกาอันดับ5 ร้อยละ 1.59 ไทย อันดับ 6 ร้อยละ 1.03 อียิปต์อันดับ 7 ร้อยละ 0.97 มาเลเซียอันดับ 8 ร้อยละ 0.94 ไนจีเรียอันดับ 9 ร้อยละ 0.83 และบังกลาเทศอันดับ10 ร้อยละ 0.79
ปัจจุบันในประเทศไทยแต่ละคนสร้างขยะวันละ 1.13 กิโลกรัมต่อวัน คิดรวมทั้งประเทศเท่ากับ 7.4 หมื่นตันต่อวัน รวมเป็น 27 ล้านตันต่อปี โดยมีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง 11.69 ล้านตัน และมีขยะตกค้างสะสม 10 ล้านตัน ซึ่งร้อยละ 10 ของขยะตกค้างเป็นขยะที่ไหลลงสู่ทะเล คิดเป็นประมาณ 5-6 หมื่นตัน หรือ 750 ล้านชิ้นต่อปี
สำหรับขยะทะเลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 23 จังหวัดชายทะเล มีปริมาณรวมกันมากถึง 10.7 ล้านตันต่อวัน จากการสำรวจโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มีการจัด 10 อันดับขยะที่พบในท้องทะเลไทยมากที่สุดในปี 2558 ได้แก่ อันดับที่ 1 ถุงพลาสติก 15,850 ชิ้น อันดับที่ 2 หลอด,ที่คนเครื่องดื่ม 5,252 ชิ้น อันดับที่ 3 ฝา, จุก 4,419 ชิ้น อันดับ 4 เชือก 3,752 ชิ้น อันดับที่ 5 บุหรี่/ก้นกรองบุหรี่ 3,122 ชิ้น อันดับที่ 6 ถ้วยโฟม, กล่องโฟม 2,873 ชิ้น อันดับที่ 7 ขวดเครื่องดื่มแก้ว 2,065 ชิ้น อันดับที่ 7 ขวดเครื่องดื่มแก้ว 2,065 ชิ้น อันดับที่ 8 ขวดเครื่องดื่มพลาสติก 2,043 ชิ้น อันดับที่ 8 อื่นๆ 1,673 ชิ้น และอันดับที่ 10 ถ้วย จาน ช้อน ส้อม มีด 1,334 ชิ้น
๐ 5 มาตรการลดขยะทะเล
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีมาตรการลดปัญหาขยะในทะเล โดยแผนแม่บทการบริหารขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-2564 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้จัดทำมาตรการเพื่อจัดการขยะทะเล 5 ด้าน ได้แก่ 1.การศึกษาชนิด ปริมาณ แหล่งที่มาและจัดทำฐานข้อมูล 2.การลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อระบบนิเวศที่สำคัญ3.การลดปริมาณขยะทะเลตามหลักวิชาการ 4.การส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ5.การสร้างจิตสำนึกในการลดขยะทะเล ด้วยการเริ่มลดปริมาณขยะทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำพื้นที่ต้นแบบในการห้ามใช้พลาสติกโดยให้ใช้วัสดุอื่นทดแทน และการกำหนดให้เขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งปลอดจากถุงพลาสติก โดยมีเป้าหมายระยะยาวเพื่อลดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ 0.06-0.16 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 1.5 ชิ้นต่อคนต่อวัน เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากอันดับที่ 6 ของโลก จากการจัดอันดับประเทศที่มีการทิ้งขยะลงน้ำมากที่สุด
สำหรับโครงการแก้ปัญหาขยะในทะเลที่เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น 1) โครงการชายหาด 24 แห่งปลอดบุหรี่ 2) โครงการลดขยะบนเกาะไข่ จังหวัดพังงา 3) โครงการประชารัฐขจัดขยะทะเล ด้วยการพายเรือคายัค และอ่าวพังงาโมเดล และ4) โครงการสำรวจตลาด ร้านค้าและบ้านเรือนประชาชนรอบชายฝั่งใน 23 จังหวัดชายทะเล ว่าในแต่ละพื้นที่มีจำนวนตลาดร้านค้าและบ้านเรือนประชาชนกี่แห่ง เพื่อขอความร่วมมือประชาชนและร้านค้าลดการใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนภาชนะใส่อาหารเพื่อลดปริมาณขยะให้น้อยลงที่สุด เพราะขยะทะเลร้อยละ 80 มาจากขยะบนบกที่จัดการไม่ถูกวิธี ส่วนร้อยละ 20 มาจากกิจกรรมทางทะเล โดยมีเป้าหมายลดขยะจากต้นทางให้ได้ร้อยละ 5 ตามนโยบายประเทศไทยไร้ขยะและมติครม. เมื่อปี 2559
๐ แผนลดขยะพลาสติก
ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นเศษขยะถุงพลาสติกที่ปนเปื้อน อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว เป็นต้น
ทั้งนี้ เนื่องจากขยะพลาสติกมีความคงทนและสามารถทนต่อแรงอัดได้สูง อีกทั้งยังใช้เวลาในการย่อยสลายนับร้อยปี ทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณและพื้นที่ฝังกลบ นอกจากนี้ การทิ้งขว้างขยะพลาสติกกระจัดกระจายทั่วไป มักก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำในเมือง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก ปัญหาขยะลอยในแม่น้ำ ลำคลอง บางส่วนลงสู่ท้องทะเล ส่งผลกระทบต่อแหล่งปะการังและสัตว์ทะเล
จากสภาพปัญหาอันเกิดจากขยะถุงพลาสติก รัฐบาลจึงมีนโยบายให้รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟม เพื่อลดผลกระทบอันเกิดจากการใช้ถุงพลาสติกและโฟม โดยกรมควบคุมมลพิษได้จัดทำ (ร่าง) แผนจัดการขยะพลาสติกอย่างบูรณาการ (พ.ศ. 2560– 2564) โดยใช้หลัก 3R คือ ลดการใช้ (Reduce) ที่แหล่งกำเนิด การใช้ซ้ำ (Reuse) ให้มากที่สุด และการนำมาแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคเอกชน โดยมีจุดมุ่งหมายอันจะเป็นการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559–2564) รวมทั้งมีความสอดคล้องกับ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านการลด คัดแยก และนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Reduce Reuse Recycle : 3R) ทั้งนี้ มีเป้าหมายคือ 1.ปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดลดลง 2.มีการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น และ3.มีการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์หลังการบริโภคร้อยละ 60 ภายในปี 2564
๐5 บริษัทนำร่องเลิกcap seal
ล่าสุด เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือการขับเคลื่อนการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม จัดโดยกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย สถาบันพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีและเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ดังกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มในอุตสาหกรรมน้ำดื่มไทย ซึ่งจะทำให้ลดปริมาณขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มได้ถึง 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือคิดเป็นน้ำหนัก 520 ตันต่อปี สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) ที่มีมาตรการลดหรือเลิกใช้พลาสติกที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยมีบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1) บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มสิงห์ 2) บริษัท เสริมสุข จำกัด มหาชน (จำกัด) ผู้ผลิตน้ำดื่มคริสตัล 3) บริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มช้าง 4) บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ และ 5) บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน ) ผู้ผลิตน้ำดื่มคาราบาว เป็นผู้นำในการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (cap seal) โดยมีข้อตกลงร่วมกันที่จะดำเนินการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม นับจากสินค้าออกจากโรงงานอุตสาหกรรม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป
ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่ม ประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปีโดยประมาณ โดยมีการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มร้อยละ 60 หรือประมาณ 2,600 ล้านขวดต่อปี ก่อให้เกิดขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตันต่อปี หรือมีความยาว 260,000 กิโลเมตร คิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบ
ในหลายๆ ประเทศไม่มีการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ จีน เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลีและอังกฤษ เนื่องจากพลาสติกหุ้มฝาขวดผลิตจากพลาสติกพีวีซี (Polyvinyl Chloride : PVC) มีขนาดชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา ง่ายต่อการทิ้ง กระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อม ยากต่อการรวบรวมและจัดเก็บเพื่อนำกลับมารีไซเคิลและไม่คุ้มทุนในการดำเนินการ ทำให้ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งหากไม่มีการรวบรวมเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ขยะพลาสติกฯ ดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอุดตันตามท่อระบายน้ำ บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อมบนบก บางส่วนไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลองและท้องทะเล จากข้อมูลการผ่าซากสัตว์ทะเลที่ตาย พบว่ามีสาเหตุจากการกินพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มซึ่งรวมอยู่กับพลาสติกอื่นๆ