xs
xsm
sm
md
lg

แนะเทคนิคออกแบบออฟฟิศ “ริสค์”ชี้ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตคนทำงาน-คุณค่าอาคารในระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center - RISC) หรือ ศูนย์ริสค์ แนะเทคนิคออกแบบภายในสำนักงานต้องให้ความสำคัญกับทุกปัจจัยที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้งาน ชี้จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับอาคารได้ในระยะยาว พร้อมจัดเวิร์คช็อปให้ประชาชนทั่วไปร่วมทดลองออกแบบหุ่นยนต์

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center - RISC) หรือ ศูนย์ริสค์ ภายใต้ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (MQDC) กล่าวว่า บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้ลงทุนและดำเนินการบริหารโครงการที่พักอาศัยแนวราบ คอนโดมีเนียม และโครงการมิกซ์ยูสคอมเพล็กซ์ ภายใต้แบรนด์ แมกโนเลียส์ (Magnolias) วิสซ์ดอม (Whizdom) และแอสเพน ทรี (Aspen Tree) เริ่มลงทุนก่อสร้างศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเปิดเป็นพื้นที่วิจัยให้กับทุกคนและทุกองค์กร ที่สนใจด้านการวิจัยและการพัฒนาด้านการก่อสร้างอย่างยั่งยืน โดย RISC เน้นการวิจัยที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ภายใต้หลักการ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” ที่ตอบโจทย์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

วสุธา เชน สถาปนิกวิจัยอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญพิเศษของศูนย์ริสค์ กล่าวถึงการออกแบบสำนักงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีว่า ศูนย์ RISC ออกแบบโดยทีมสถาปนิก นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ มีพื้นที่กว่า 990 ตรม. บนชั้นสี่ของอาคารแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด โดยต้องการเป็นต้นแบบของโครงการที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของผู้ใช้งานภายในอาคาร ด้วยการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ใช้งานภายในอาคาร เช่น คุณภาพอากาศภายในอาคาร (indoor air quality) เสียงและแสงที่เหมาะสม (acoustic and visual comfort) ฯลฯ

วสุธากล่าวว่า การออกแบบภายในสำนักงานโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตสามารถส่งผลดีให้กับเจ้าของสำนักงานได้ในระยะยาวในแง่คุณภาพชีวิตเพื่อนร่วมงานและรายได้ให้เจ้าของกิจการ เนื่องจากคนทำงานที่มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น

โครงการที่มุ่งคำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของผู้ใช้งานควรมีการศึกษามาตรฐาน WELL เพื่อใช้เป็นแนวทางในการออกแบบ เพราะมาตรฐาน WELL เป็นมาตรฐานชั้นนำที่ใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกในการรับรองคุณภาพการออกแบบโครงการที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ดำเนินการโดยสถาบันจากสหรัฐฯ International WELL Building Institute (IWBI)

มาตรฐานของ WELL ครอบคลุมทุกรายละเอียดตั้งแต่การออกแบบอาคาร การก่อสร้าง การบริหารจัดการ รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคทุกชนิด แม้แต่อุปกรณ์ทำความสะอาด ซึ่งล้วนส่งผลให้สิ่งแวดล้อมภายในอาคารดีขึ้นและยังกระตุ้นให้ผู้คนในอาคารปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีไปโดยปริยาย

“หากเจ้าของอาคารบริหารตามมาตรฐานอย่างถูกต้อง จะทำให้ผู้อยู่ในอาคารเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองไปอย่างแน่นอน เช่นหากเราออกแบบบันไดให้คนรู้สึกอยากเดินขึ้นมากกว่าใช้ลิฟท์ คนก็จะได้ออกกำลังกายมากขึ้นโดยปริยาย ข้อดีของการออกแบบตามมาตรฐาน WELL คือทำให้เราสร้างกลไกให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกขั้นตอนตั้งแต่เจ้าของ ผู้ออกแบบมาจนถึงปลายทางคือผู้ใช้อาคารได้มีส่วนร่วมในการช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน เมื่อทุกคนมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ทุกคนจะร่วมมือรักษาให้มันดีต่อไป” วสุธากล่าว

ทิพทับทิม ภูมิพาณิชย์ สถาปนิกวิจัยอาวุโส ศูนย์ริสค์ กล่าวถึงวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการออกแบบที่ยั่งยืนว่า ที่ผ่านมาประเด็นสำคัญที่ทำให้การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่แพร่หลายเร็วเท่าที่ควร เกิดจากยังขาดศูนย์กลางที่ช่วยเก็บรวบรวมข้อมูล แหล่งซื้อหาวัสดุที่เป็นมิตรที่มีในท้องตลาด รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ RISC จึงก่อตั้งห้องสมุดด้านวัสดุก่อสร้างและตกแต่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีรายการข้อมูลกว่า 300 ชนิด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น
บรรยายใต้ภาพ - รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต (ที่3 จากซ้าย) หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center - RISC) และพลณัฏฐ์ เฉลิมวรรณ์ (ทีี่4 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถ่ายภาพร่วมกับทีมงานโชว์นวัตกรรมหุ่นยนต์ เมื่อเร็วๆนี้
พลณัฏฐ์ เฉลิมวรรณ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอโบดรอยส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทร่วมทุนของ MQDC กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 (Bangkok Design Week 2018) ที่ผ่านมา โอโบดรอยด์ฯ ร่วมกับศูนย์ริสค์จัดเวิร์คชอปด้านนวัตกรรมของหุ่นยนต์ที่สามารถนำมาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท โอโบดรอยด์ฯ กล่าวเสริมว่า เวิร์คช็อปนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้เห็นถึงความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและได้ทดลองสัมผัสหุ่นยนต์อย่างใกล้ชิด เช่น การให้คำแนะนำเบื้องต้นในการออกแบบส่วนที่เป็นตาของหุ่นยนต์ โดยทีมงานผู้พัฒนาหุ่นยนต์


กำลังโหลดความคิดเห็น