หนึ่งในข้อเรียกร้องคือการ “ดำเนินคดีกับผู้ล่าสัตว์ในเขตอุทยานฯ ต้องโปร่งใส และมีมาตรฐานแบบเดียวกันทุกคดี” ซึ่งเป็นแคมเปญที่เปิดให้สาธารณชนร่วมลงชื่อสนับสนุนผ่านเว็บไซต์ change.org (เริ่มดำเนินการวันที่ 6 ก.พ.) โดยตั้งเป้าหมายรวบรวมให้ถึง 150,000 ชื่อ และล่าสุด (วันที่ 17 ก.พ.) มีผู้ร่วมสนับสนุนแล้วกว่า 124,400 คน
'ตุลย์พิชญ์ แก้วม่วง' ผู้ตั้งกิจกรรมดังกล่าว ลงรายละเอียดที่มาไว้ว่า
จากกรณีพบกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้าไปล่าสัตว์ และพบซากของสัตว์ป่า (เสือดำ) บริเวณเต็นท์ที่พักในเขตพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การ UNESCO นอกจากนี้กลุ่มบุคคลดังกล่าว ยังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีตำแหน่งใหญ่โตมีหน้ามีตาในสังคม ประชาชนหลายคนจึงกังวลเรื่องความโปร่งใสในการทำคดี ว่าอาจจะไม่มีมาตรฐานเดียวกัน กับคดีหาของป่าหรือล่าสัตว์ ที่เคยเป็นคดีในกระแสสังคมก่อนหน้านี้
เหตุผลที่กล่าวถึง ถือเป็นประเด็นที่สาธารณชนตั้งคำถามกันไว้ล้นหลาม ทั้งเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินคดีต่อคนมีตำแหน่งและฐานะทางสังคม (มีสัมพันธ์กับรัฐบาล) หรือโทษที่สุดท้ายอาจจบลงแค่การรอลงอาญาไม่ต้องจำคุก
เป็นภาพทรงจำเรื่องสองมาตรฐานที่กลายเป็นความคุ้นชินของสาธารณชนไปเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังเปิดให้ร่วมลงชื่อไปเพียงหนึ่งวันก็มีผู้เข้ามาแสดงเจตนาในจุดยืนเดียวกันกว่าสี่หมื่นคน ก่อนที่จะเพิ่มมาเป็นหลักแสนในอีกสิบวันต่อมา
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากข่าวนายเปรมชัย กรรณสูตร ซีอีโออิตาเลียนไทยถูกจับกุมพร้อมหลักฐานซากสัตว์ป่าและอาวุธปืนในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กระแสธารบนเครือข่ายโซเชี่ยลมีเดียก็พาให้เรื่องนี้กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ อันดับต้นๆ มาเกือบสองสัปดาห์
ซึ่งมีหลากหลายความเห็นออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมของนายเปรมชัย ตลอดจนข้อเสนอและคำเรียกร้องให้มีการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเหมาะสม
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร หนุนร่วม change.org
ร้องเพิ่มอัตราโทษคุ้มครองสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์
ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ https://www.seub.or.th/bloging และทางเฟซบุ๊กมูลนิธิฯ โดยมีใจความสำคัญว่า
หากคุณต้องการให้ “ดำเนินคดีกับผู้ล่าสัตว์ในเขตอุทยานฯ ต้องโปร่งใส และมีมาตรฐานแบบเดียวกันทุกคดี” สามารถเข้าไปลงชื่อได้ที่ change.org
บทความโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ระบุด้วยว่า
เรื่องนี้จะไม่จบเพียงแค่การเรียกร้องดำเนินคดีกับผู้ล่าสัตว์
รายชื่อทั้งหมดยังถูกส่งไปถึง ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.ท.ชัยยุทธ พร้อมสุข
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. หน้ากิจกรรมนี้ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ขอเรียกร้องให้ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เร่งพิจารณาเพื่อรับรองกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับปรับปรุงใหม่ ที่ได้เพิ่มอัตราโทษและสถานะการคุ้มครองสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลายๆ ชนิด
หากติดตามข่าวมาโดยตลอด จะเห็นว่านี่เป็นอีกประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตอยู่ไม่ใช่น้อย
สื่อมวลชนหลายแห่งก็ให้ความสนใจและนำเสนอเรื่องนี้ประกอบข่าวนายเปรมชัยไปพอสมควร เช่นว่า
“อัยการ” เผย 4 ข้อด้อยพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ-อัตราโทษไม่เหมาะสม เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 ก.พ. 2561
กาง “พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 35 ”มัด ? “เปรมชัย” เว็บไซต์คมชัดลึก วันที่ 12 ก.พ. 2561
สนช.ชงเพิ่มโทษล่าสัตว์สงวน จำคุกสูงสุด 20 ปี เว็บไซต์ข่าวไทยพีบีเอส วันที่ 12 ก.พ. 2561 ฯลฯ
ยกตัวอย่างบทลงโทษใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 มาตรา 47 เอาผิดกับผู้ที่ทำการล่าสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง (เช่นเสือดำ) โทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หรือมาตรา 53 เอาผิดกับผู้ล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่พ.ร.บ.ฉบับปรับแก้ใหม่ ได้เพิ่มโทษคดีสัตว์ป่าให้มีความสมน้ำสมเนื้อมากยิ่งขึ้น
เช่น มาตรา 80 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 (ห้ามมิให้ผู้ใดล่าหรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีแต่ไม่เกิน 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทแต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท
เพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ให้สัมภาษณ์กับทางคมชัดลึกไว้ว่า
“ถ้ามีการแก้กฎหมายให้โทษหนักกว่านี้ จะทำให้คนทำผิดเกิดความเกรงกลัวกฎหมายมากขึ้น ทุกวันนี้สัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติฯ ทั่วไทย ถูกล่าและทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ สังคมจึงไม่รู้”
ปัจจุบันสถานะของ (ร่าง) พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. …. ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ส่วนการลงชื่อผ่านกิจกรรมบนหน้าเว็บไซต์ change.org ครั้งนี้ นอกจากเป็นการแสดงถึงความตระหนักและให้ความสำคัญต่อการปกป้องทรัพยากรของชาติแล้ว
ยังเป็นการร่วมสร้างมาตรฐานใหม่ในการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่า และความตายของเสือดำ ไก่ฟ้าหลังเทา เก้ง ทุกสรรพชีวิตที่ถูกล่าจะไม่เสียเปล่า
หากคุณยังไม่ได้ลงชื่อในกิจกรรมนี้ สามารถเข้าไปลงชื่อได้ที่ “ดำเนินคดีกับผู้ล่าสัตว์ในเขตอุทยานฯ ต้องโปร่งใส และมีมาตรฐานแบบเดียวกันทุกคดี”