xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีชจัดหนัก “โคคา-โคลา” หลังออกประกาศแผนจัดการพลาสติกรอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ว่าแรงกดดันเรื่องขยะพลาสติกในทะเลจะเริ่มมีอิทธิผลต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลก จนมีบางรายออกมาประกาศแผนการดูแลขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นแล้วก็ตาม

แต่หลังออกมาประกาศแผนการจัดการพลาสติกโลกของยักษ์ใหญ่อย่างโคคา-โคลา ที่ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ ยังไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มกรีนพีช และยังถูกตำหนิว่าโคคา-โคลาล้มเหลวในการแสดงตนว่าได้ตระหนักถึงความเร่งด่วนของขยะพลาสติกในทะเลอย่างเพียงพอ

อันที่จริง ทั่วโลกรวมทั้งกรีนพีช รอคอยนโยบายจากบริษัทโคคา-โคลาในฐานะยักษ์ใหญ่ของธุรกิจเครื่องดื่มอย่างใจจดใจจ่อ แต่พอประกาศแผนออกมาในลักษณะที่ใช้มาตรการไม่จริงจัง และเข้มงวดน้อยกว่ามาตรการที่มีการประกาศมาก่อนหน้านี้ในยุโรปและในอังกฤษ ทำให้โคคา-โคลา กลายเป็นกิจการที่ได้รับผลตอบรับทางลบต่อแผนการบริหารขยะพลาสติก แทนที่จะเป็นผลบวกในการพยายามรับผิดชอบต่อสังคม


ประเด็นหลักในการวิจารณ์ต่อแผนการจัดการปัญหาขยะพลาสติกของโคคา-โคลา ได้แก่
ประการแรก แผนงานนี้ล้มเหลวในการพิจารณาหาทางลดการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำขวดที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่างไร ซึ่งปัจจุบันกองรวมกันแล้วมากกว่า 110,000 ล้านขวดต่อปี
การเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของขยะพลาสติกในทะเล มาจากวงจรห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ที่ไม่ใส่ใจกับพฤติกรรมการใช้หีบห่อเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งไป รวมทั้งขวดพลาสติกด้วย
สิ่งที่กรีนพีชคาดหวังจะเห็นก็คือ การออกมาให้แนวทางว่าบริษัทจะทำการปรับโครงสร้างธุรกิจ ที่ทำให้จำนวนการผลิตพลาสติกออกมาใส่น้ำดื่มลดลง เพื่อให้จำนวนขยะพลาสติกในทะเลลดลงในอนาคตอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง sustainability จริงมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว ด้วยการลงทุนในการรีไซเคิลเพิ่มเติมในจีน แต่ไม่ยอมรับการเพิ่มจำนวนพลาสติกของบริษัทว่าเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นต่อไป
ประการที่สอง แนวทางของโคคา-โคคา ไม่ได้แตกต่างจากบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในโลก ที่ไม่ยอมรับพันธผูกพันพิเศษเพิ่มเติมจากกิจการอื่นๆ ในฐานะผู้ผลิตพลาสติกและขยะพลาสติกรายใหญ่ของโลก ด้วยการหาทางลดปริมาณสุทธิของขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวลง จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อขยะพลาสติกในทะเลให้ลดลงแต่อย่างใด
ประการที่สาม มาถึงตอนนี้ กิจการขนาดใหญ่ส่วนมากยังไม่ได้แสดงว่าจะหาทางรับผิดชอบต่อขยะพลาสติกในทะเลอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และยั่งยืนได้อย่างไร
การประมาณการของกรีนพีช ชี้ว่าเฉพาะกรณีของโคคา-โคลา ได้เพิ่มจำนวนขวดพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเกือบ 1 ใน 3 ของหีบห่อพลาสติกทั้งหมดในโลก หรือประมาณ 31% ตั้งแต่ปี2008 จนกลายมาเป็น 70% ในปี 2016 แล้วตามรายงาน 2016 Sustainability Report
ดังนั้น แผนงานที่ออกประกาศใหม่ของโคคา-โคลา จึงไม่ได้ทำให้ตัวเลขของแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกในอนาคตลดลงแต่อย่างใด เพราะขวดพลาสติกแบบรีไซเคิลของโคคา-โคลามีสัดส่วนเพียง 7% และไม่น่าจะเพิ่มสัดส่วนได้เกินกว่า 50% ของจำนวนการผลิตทั้งหมดภายในปี 2030
ประการที่สี่ แผนงานดังกล่าวหากเทียบกับแผนของโคคา-โคลาในอังกฤษที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ พบว่า โคคา-โคลาอังกฤษ วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนขวดรีไซเคิลเป็น 50% ภายในปี2020และโคคา-โคลายุโรป วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนในเรื่องเดียวกันเป็น 50% ภายในปี 2025 ซึ่งสิ่งที่กรีนพีชคาดหวังคือ สัดส่วนที่ควรเพิ่มขวดแบบรีไซเคิลให้เป็น100% ทั้งหมด
ประการที่ห้า แม้ว่าโคคา-โคลามีแผนการรับคืนขวดพลาสติกอยู่ในการดำเนินกิจการในอังกฤษ แต่ไม่พบว่ามีแนวโน้มที่จะประกาศใช้แนวทางเดียวกันในระดับการประกอบการทั่วโลกแต่อย่างใด และยังต่อต้านการเปิดโครงการดังกล่าวในบางประเทศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในแคนาดา เนเธอร์แลนด์และอิสราเอล
ประการที่หก การประกาศแผนการดังกล่าวของโคคา-โคลา แตกต่างจากกิจการค้าปลีกรายอื่นในอังกฤษที่กลายเป็นคู่เทียบเคียง อย่างรายร้านไอซแลนด์ ที่ประกาศบุกเบิกการเป็นกิจการค้าปลีกรายแรกของโลกที่กำจัดการใช้หีบห่อพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งออกไปจากแบรนด์ของร้านทั้งหมดภายใน 5 ปีข้างหน้า เป็นการกำจัดต้นตอของปัญหาแทนที่จะมาบริหารจัดการแบบขอไปที
ก่อนหน้านี้ กรีนพีชได้ออกแคมเปญระดับโลกกับโค้กเมื่อเดือนเมษายน 2017 โดยมีผู้สนับสนุนจาก 5 ทวีปร่วมด้วย และมีการลงนามโดยคนมากกว่า 585,000 คน ที่เร่งเร้าให้โคคาโคลาลดการผลิตพลาสติกออกมาใช้ในธุรกิจของตน

กดดันกิจการยักษ์ใหญ่ ต้นตอ “ขยะพลาสติก” มหาศาล
แรงกดดันของกรีนพีชยังรุกกิจการยักษ์ใหญ่ทั่วโลกที่เป็นแหล่งกำเนิดขยะพลาสติกในทะเล ให้ออกมาตรการที่แสดงว่าจะลดการผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างไรให้ชัดเจน โดยใช้กรณีของโคคา-โคลาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของตนว่าควรจะเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจไปสู่แนวทางใหม่ที่เป็นทางเลือก เช่น การให้บริการสถานีบริการที่ผู้บริโภคเอาภาชนะมาเอง (Self-serve water stations) หรือการให้บริการแบบฟรีสไตล์
แนวโน้มดังกล่าวทำให้ร้านค้าปลีกอื่นๆ ในด้านอาหารหันมาตอบสนองต่อความท้าทายนี้ อย่างเช่น แมคโดนัลด์ ก็ถูกติดตามความไม่ใส่ใจกับหีบห่อพลาสติกที่ไม่จำเป็นแต่สร้างปัญหาให้กับโลกมากมาย และมีเพียงไม่ถึง 10% ของร้านค้านับหมื่นแห่งของแมคโดนัลด์ทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับหีบห่อรีไซเคิล ได้พยายามตั้งเป้าจะปรับเป็นรีไซเคิลทั้งหมดภายในปี 2025

สิ่งที่กรีนพีชตอกย้ำอย่างมาก คือผู้ประกอบการชั้นนำของโลกไม่มีข้อแก้ตัวในการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วยการผลิตพลาสติกเป็นหีบห่อในธุรกิจของตน โดยไม่ต้องรับผิดชอบในการทำร้ายสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพราะหีบห่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในทางธุรกิจที่ขาดไม่ได้ หากมีการรณรงค์อย่างจริงจัง และเทคโนโลยีก็ก้าวหน้าไปมากจนสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าสมัยก่อนมากมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น