ในยุคที่มีการพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น โมเดลทางเศรษฐกิจที่ได้รับการทบทวนว่าเป็นคุณกับโลกใบนี้ คือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พูดให้เข้าใจง่ายๆ ระบบการผลิตที่ไม่มีของเสีย เนื่องจากของเสียของธุรกิจหนึ่งถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบต้นทางของอีกธุรกิจเสมอ โดยการ Reuse-Recycle จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของกระบวนการ
แนวปฏิบัติเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือบางคนเรียกว่าเศรษฐกิจวงรอบ เป็นกระบวนการบริหารจัดการของโลกยุคใหม่ เพื่อจะเปลี่ยนจากรูปแบบเศรษฐกิจดั้งเดิมแบบเชิงเส้น (Linear Economy) ซึ่งมุ่งการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต การอุปโภคบริโภค และการกำจัดขยะและของเสียจากผลิตภัณฑ์เท่านั้น
กว่าทศวรรษที่ผ่านมา มนุษย์ใช้ทรัพยากรโลกหมดไปถึงร้อยละ 30 ก่อมลพิษและขยะมากมาย อีกทั้งสร้างผลกระทบเชิงนิเวศและวิถีชีวิตทางสังคม ดังจะเห็นว่าหากเราต้องการทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นปัจจัยนำเข้าของการผลิต เรามักจะพบว่าบริเวณพื้นที่ดั้งเดิมที่เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นจะโดนโยกย้ายไป เพื่อให้สะดวกในการตักตวงเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในบริเวณนั้นมาใช้
ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิก นักออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่าถึงเวลาที่โลกใบนี้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยจะต้องตระหนักว่ากิจกรรม วิถีการดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจต่างๆ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ซึ่งก็เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) แต่ในแง่ของการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในภาคธุรกิจขณะนี้ โดยเฉพาะแถบสหภาพยุโรป ธุรกิจยุคใหม่มุ่งไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เนื่องจากทำให้เกิดการรวมตัวของหลายภาคส่วนจนทำให้ระบบการผลิตไม่ก่อผลเสียจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตมนุษย์
“กรอบปฏิบัติเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ความสำคัญตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างระมัดระวัง การเพิ่มมูลค่าของทรัพยากร แนวปฏิบัตินี้ไปส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่พูดกันลอยๆ เพราะมีบทพิสูจน์จริงที่ทำสำเร็จแล้วในประเทศเนเธอร์แลนด์”
วิธีการของกลุ่มบริษัทในเนเธอร์แลนด์ที่นำมาใช้แล้วเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว คือการจัดตั้งกลุ่มโดยให้หลายๆ บริษัทที่มีหลากหลายอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตที่ก่อให้เกิดขยะ ของเหลือทิ้ง ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีทั้งคนได้คนเสียประโยชน์ หรือไม่ได้ไม่เสียประโยชน์อะไรจากของเหลือทิ้ง เขาจึงสร้างกองทุนกลางเอาไว้ชดเชยสำหรับบริษัทที่เสียประโยชน์
จะเห็นว่าเศรษฐกิจแบบ Circular Economy เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในโมเดลของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งในด้านนโยบาย การส่งเสริมการรีไซเคิลทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการอุดหนุนพลังงานทดแทน
ในสหภาพยุโรปเขาเสนอเป้าหมายใหม่ของการ Recycling เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และลดการสูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ ห้ามฝังกลบขยะที่นำไปใช้ได้อีกครั้ง (Recyclable) หลังปี 2025 นำขยะประจำวันมาใช้อีกครั้ง (Recycle) ร้อยละ 70 และนำวัสดุห่อและบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ไปใช้ร้อยละ 80 ลดขยะที่ทิ้งลงทะเลและขยะที่เป็นเศษอาหาร เพื่อลดผลกระทบของเศรษฐกิจต่อสิ่งแวดล้อม และการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ลดอุปสงค์ของทรัพยากรที่มีราคาแพงและมีปริมาณอุปทานน้อย
การสร้างงานในภาคการจัดการขยะ การลดลงของค่าดำเนินการของภาคธุรกิจ สหภาพยุโรปเขามุ่งที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจวงรอบโดยการออกแบบให้ผลิตภัณฑ์สามารถซ่อม อัพเกรด และนำไปใช้อีกครั้งได้ง่าย สร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้นาน และมีขั้นตอนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ลดการใช้วัตถุดิบที่อันตราย หรือยากต่อการในไปใช้อีกครั้ง ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการลดปริมาณขยะ เปลี่ยนขยะให้เป็นวัตถุดิบโดยใช้ความก้าวหน้าเชิงเทคนิค
เรียกได้ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนไปช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดึงออกมาจากธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือไม่ให้เกิดของเสียเลย มีการนำเอาของเสียจากธุรกิจหนึ่งกลายเป็นวัตถุดิบของอีกธุรกิจหนึ่งต่อไปเรื่อย ๆ นับว่าเป็นวาระที่บ้านเราต้องเลือกว่าจะไปทางที่แข่งขันกันสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต สร้างความมั่งคั่ง แล้วค่อยเอาเงินนั้นมาซ่อมสร้างความเสียหาย หรือจะช่วยกันเสริมสร้างเศรษฐกิจโดยหลายๆ ธุรกิจรวมกลุ่มพึ่งพากันลดขยะ ซึ่งเป็นการช่วยโลกใบนี้อีกด้วย
ผศ.ดร.สิงห์ ย้ำว่า โมเดล Circular Economy จะขับเคลื่อนอย่างสมบูรณ์จนไม่ก่อขยะ ของเหลือทิ้งในประเทศไทย จำเป็นต้องมีภาคการผลิตในหลายอุตสาหกรรมเข้าร่วม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เนื่องจากของเหลือทิ้งบางอย่างไม่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่กลับเป็นวัตถุดิบในอีกอุตสาหกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้เราอาจจะเห็นแนวคิดการปิดวงจร (Closing the Loop) เพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมของกระบวนการผลิตแบบ Linear Flow เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทรัพยากรบางส่วนที่นำกลับมาสู่กระบวนการผลิตได้ แต่บางอย่างวนกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้เหมือนกับ Circular Economy
กรณีของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ซึ่งมุ่งมั่นในการเป็น Company of Choice แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน ได้ประยุกต์หลักการ Circular Economy เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ขยะจะนำไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อไป แนวทางนี้จึงส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของทั่วโลก ความร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ มูลนิธิอีโคอัลฟ์ ในโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ซึ่งดำเนินการจัดเก็บขยะในทะเลไทยอย่างเป็นระบบ ทั้งการจัดเก็บ การแปรรูปและพัฒนาเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น ก็ถือว่าเป็นแนวปฏิบัตินำร่องของ Circular Economy ที่เป็นรูปธรรม