xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอ ยันอีกทาง “เทรนด์โซลาร์รูฟทอปมาแน่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เตือนรับมือ ระบบไฟฟ้าจะผันผวน แนะปรับโครงสร้างค่าไฟที่สะท้อนความเป็นจริงเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ผลิต รวมถึงเป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกกลุ่ม แยกคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าแต่ละประเภท ทั้งต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร และต้นทุนกำลังการผลิตไฟฟ้าออกจากกัน


ดร.วิชสินี วิบุลผลประเสริฐ และ ภวินทร์ เตวียนันท์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกในทางเดียวกันว่า โซลาร์รูฟทอปที่มีต้นทุนลดต่ำลง จึงมีผู้ติดตั้งกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ประเทศไทยสัดส่วนของผู้ติดตั้งยังไม่มาก ยังมากไม่ถึงร้อยละ 1 ของความต้องการไฟฟ้า จนส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าจนต้องมีการเก็บค่าไฟฟ้าสำรอง หรือการเพิ่มขึ้นการลงทุนในระยะสั้น โดยได้ยกตัวอย่าง Lawrence Berkeley National Lab ที่ศึกษาพบว่า ผลกระทบต่อการไฟฟ้าและราคาไฟฟ้าจะเริ่มชัดเจนเมื่อการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟเกิน 10% ของความต้องการไฟฟ้า

กระนั้นก็ตาม ดร.วิชสินี ระบุว่า หากโซลาร์รูฟทอปเข้ามาในปริมาณมากจะเปลี่ยนรูปแบบความต้องการไฟฟ้าในแต่ละวัน โดยความต้องการช่วงกลางวันจะลดลง ขณะที่การใช้ไฟฟ้าช่วงกลางคืนเท่าเดิม ซึ่งทำให้การไฟฟ้าต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนในระบบที่จะเกิดขึ้น โดยต้องมีโรงไฟฟ้าปรับเพิ่ม-ลดกำลังผลิตให้เพียงพอต่อการใช้งานตลอดเวลา
อีกปัจจัยหนึ่งที่การไฟฟ้าทั้งหลายจะได้รับผลกระทบจากโซลาร์รูฟทอปที่เพิ่มขึ้น คือ การขายหน่วยของไฟฟ้าที่จะลดลง
ดร.วิชสินี แนะนำว่า “การไฟฟ้าควรปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้สะท้อนความเป็นจริงเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ผลิต รวมถึงเป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยแยกคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าแต่ละประเภท ทั้งต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร และต้นทุนกำลังการผลิตไฟฟ้า ออกจากกัน และคิดค่าไฟฟ้าแต่ละช่วงเวลาให้ละเอียดมากขึ้น จากเดิมที่ปัจจุบันใช้ต้นทุนผันแปรในการชดเชยต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งหมด”
ดร.วิชสินี วิบุลผลประเสริฐ
กฟผ. กฟน. กฟภ. ควรใช้เทคโนโลยีช่วยการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน ควรนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Smart Grid ระบบพยากรณ์ความต้องการ รวมไปถึงระบบกักเก็บพลังงาน เข้ามาใช้ในระบบไฟฟ้า เพื่อช่วยในการบริการจัดการระบบไฟฟ้า และลดการลงทุนที่ไม่จำเป็นลงไป เพื่อลดต้นทุนของการไฟฟ้า ส่วนการมองหาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจของการไฟฟ้าทั้งหลาย เพื่อไปชดเชยรายได้ที่ลดลง ซึ่งการไฟฟ้าในต่างประเทศเขาก็ปรับตัวในธุรกิจกันแล้ว
“เขามีการปรับบทบาทการไฟฟ้าเป็นผู้ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา ออกแบบ และเป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้า และบริษัทผู้ติดตั้ง หรือให้บริการเชื่อมต่อแหล่งกำเนิดไฟฟ้าย่อยกับโครงข่ายไฟฟ้า”

ดร. วิชสินี ยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า ในอนาคต หากโซลาร์รูปทอปมีมากขึ้น การไฟฟ้าควรพิจารณาทางเลือกค่าไฟฟ้าสำรอง ควบคู่กับการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุน ซึ่งมีแบบอย่างในต่างประเทศที่มีค่าไฟฟ้าหลากหลายแบบเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การปรับค่าบริการคงที่รายเดือน การกำหนดค่าใช้ไฟฟ้าต่อหน่วยที่แปรผันตามเวลา และเก็บค่าพลังงานไฟฟ้ากับคนทุกกลุ่ม ขณะที่ ผู้กำกับดูแลควรเปิดโอกาสให้การไฟฟ้ามีส่วนร่วมในธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการพลังงาน และพลังงานทดแทนมากกว่าเดิม

ต้องมีโรงไฟฟ้าที่สามารถปรับ-ลดกำลังผลิตได้รวดเร็ว
ด้านของนักวิชาการผู้จัดทำโครงการนำร่องโซลาร์รูฟทอปเสรี รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเสริมว่า การติดตั้งโซลาร์รูฟทอปจะช่วยลดความต้องการไฟฟ้าในช่วงกลางวัน แต่อาจก่อให้เกิดความผันผวนในระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่ง กฟผ. จะต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าที่ต่อเนื่องและรวดเร็วเพิ่มขึ้น จึงอาจต้องปรับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้มีโรงไฟฟ้ากังหันแก๊สที่เดินเครื่องได้เร็วเพิ่มขึ้นแทน ทว่า โรงไฟฟ้าแบบดังกล่าวก็มีต้นทุนมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้แล้ว การมีโซลาร์รูฟทอปในปริมาณมากก็อาจกระทบกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า เนื่องจากการเข้ามาของโซลาร์รูฟทอปในระบบจำหน่ายจะทำให้แรงดันไฟฟ้าสูงขึ้นจนอาจเกินค่ามาตรฐาน และก่อให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพไฟฟ้า อีกทั้งหากมีมากเกินไปจะทำให้ไฟไหลย้อนกลับเข้าไปในระบบไฟฟ้า ซึ่งการไหลย้อนกลับของกำลังผลิตไฟฟ้าที่วิ่งไปในระหว่างทางก็จะมีการสูญเสีย (lost) ในสายทองแดงอีกด้วย รวมถึงอาจต้องปรับอุปกรณ์บางชนิด เพื่อป้องกันปัญหา Over Capacity ซึ่ง กฟน. และ กฟภ. หรือ กฟผ. ต้องรักษาแรงดัน เพื่อป้องกันผลกระทบเหล่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น