ก่อนเข้าเรื่องในบ้านเรา อยากให้ดูประเทศต้นแบบญี่ปุ่นซึ่งเขาประสบผลสำเร็จมาก พลเมืองส่วนใหญ่ตระหนักการทิ้งขยะถูกที่ถูกถัง จนถือว่าคือ “วัฒนธรรมคนญี่ปุ่น” เห็นได้จากสภาพบ้านเมืองที่ดูสะอาดตาแทบในทุกสถานที่ ตามถนนซอกซอย สถานที่สาธารณะต่างๆ มองไม่เห็นขยะ ซึ่งมีที่มาที่ไป ว่าทำไมคนของเขาถึงทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง
1. การแยกขยะเพื่อรีไซเคิลของญี่ปุ่นนั้นถูกกำหนดเป็นกฎหมาย
โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นไซส์ธุรกิจรูปแบบใดก็ตามจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย Containers and Packaging Recycle Law ว่าต้องมีการรีไซเคิลแก้ว, ขวดพลาสติก, กระดาษ หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการมีหน้าที่จ่ายเงินตามจำนวนและน้ำหนักของขยะรีไซเคิล
นี่เองเป็นสาเหตุให้หลายๆ ร้านสะดวกซื้อเขียนระบุเอาไว้ที่ถังขยะว่า “ห้ามเอาขยะอื่นๆ มาทิ้งที่นี่” เพราะไม่เช่นนั้นร้านของเขามีค่าใช้จ่ายบานปลาย
2.ไม่มีใครมาทำแทนคุณจนกลายเป็นวัฒนธรรมคนญี่ปุ่น
ที่ญี่ปุ่น การแยกขยะถือว่าเป็นวินัยและความรับผิดชอบของพลเมืองที่มีการปลูกฝังไว้ตั้งแต่เด็ก ขนาดตอนเกิดมหันตภัยใหญ่อย่างสึนามิในปี 2011 คนญี่ปุ่นที่สูญเสียที่อยู่อาศัยแล้วต้องไปพักยังที่หลบภัยชั่วคราวก็ยังคงปฏิบัติตามมาตรฐานการแยกขยะอยู่
3.ใช้สติ๊กเกอร์เตือนทำให้คนรู้สึกละอาย
บ้านเรือนทุกหลังคาเรือนต้องเอาขยะที่แยกไว้แล้วไปวาง ณ จุดทิ้งที่ได้กำหนดไว้ หากว่าบ้านหลังไหนแยกขยะมั่วๆ แล้วเอาไปวางที่จุดทิ้ง คนเก็บขยะสามารถจะเลือกที่จะ “ไม่เก็บ” ถุงขยะของคุณ และปล่อยทิ้งไว้ พร้อมติดสติ๊กเกอร์เพื่อให้ละอายใจ
สติ๊กเกอร์มักจะเขียนว่า “ไม่สามารถเก็บถุงขยะนี้ได้” พร้อมกับระบุสาเหตุให้รู้อีกด้วย ถ้าหากว่า!!! มีคนทิ้งขยะทำไม่ถูกวิธี หรือจำแนกประเภทไม่ถูกต้อง ทิ้งผิดวันเวลา ทิ้งผิดสถานที่ ฯลฯ ก็อาจเกิดปัญหา เช่น ถูกตักเตือนจากเทศบาลไปจนถึงขั้นถูกปรับ หรืออาจเป็นการลงโทษทางสังคม เช่น เพื่อนบ้านหมั่นไส้เอาถึงขั้นกับฟ้องเทศบาล หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกันเลยทีเดียว
4.เรื่องรีไซเคิล หรือการแยกขยะถูกบรรจุไว้ในหนังสือสอนภาษาญี่ปุ่น
นี่เป็นอีกหนึ่งกุศโลบายที่คนญี่ปุ่นบรรจุเนื้อหาเหล่านี้เพื่อให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยที่ประเทศญี่ปุ่นใหม่ๆ ได้เรียนรู้ว่า การแยกขยะคืออะไร
อย่างคำศัพท์ 分別 (Bun-betsu) แปลว่าการแยกขยะ มักจะถูกสอนเป็นคำแรกๆ ให้ทุกคนเข้าใจถึงการแยกขยะตั้งแต่วัยเด็ก
5.มีการแจกโปสเตอร์ประเภทการแยกขยะ
เมื่อใครเห็นภาพก็เข้าใจได้ง่าย ดูก็รับรู้เข้าใจ แจกให้ทุกบ้านเรือน แถมมีแปลให้อ่านเข้าใจหลากหลายภาษา เช่น อังกฤษ จีน เกาหลี โปรตุเกส สเปน ฟิลิปปินส์ อิตาลี เป็นต้น แล้วใครมาอยู่จะอ้างว่าอ่านไม่เข้าใจ คงไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอ
6.แม้แพกเกจที่ญี่ปุ่นจะดูเยอะ แต่คุณก็สามารถทิ้งมันได้ทันทีหลังจากซื้อ
คนญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญมากกับแพกเกจจิ้ง หรือบรรจุภัณฑ์ จนเราอาจรู้สึกว่ามันเยอะเกินไปมั้ย อย่างกล้วยบางทีไม่ได้ขายเป็นหวีแต่ขายเป็นลูก จึงมีการหีบห่อ ทำให้เกิดขยะมาก แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ได้จัดเตรียมถังขยะหลากหลายประเภทรองรับอย่างเพียงพอ
อ้างอิงจาก www.facebook.com/JapanSalaryman
คนไทยยังไม่ตระหนัก ทิ้งขยะแยกถัง
ในการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย รู้ดีว่าจำเป็นต้องจัดให้มีระบบการคัดแยกขยะมูลฝอยประเภทต่างๆ ตามแต่ลักษณะองค์ประกอบโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่แหล่งกำเนิด โดยจัดวางภาชนะให้เหมาะสม ตลอดจนวางระบบการเก็บรวบรวมมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับระบบการคัดแยกขยะมูลฝอย พร้อมทั้งพิจารณาควรจำเป็นของสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยและระบบขนส่งขยะมูลฝอยไปกำจัดต่อไป
แต่ทำไมถึงไม่ค่อยจะได้ผล โดยเฉพาะความร่วมมือจากบ้านเรือนทั่วไป ถ้าย้อนทวนสอบไปที่ 6 ประเด็นในญี่ปุ่นก็จะเห็นชัดว่า
คนไทยยังขาดทั้งความเข้าใจ และการให้ความร่วมมือ ขนาดการทิ้งขยะไม่ถูกที่ ไม่ลงถังก็ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายที่เอาจริงเอาจัง (ถึงแม้จะมีคำเขียนเหมือนแค่ขู่ว่า ทิ้งขยะจะถูกปรับ 500 บาทก็ตาม) ดังนั้น การรณรงค์ทิ้งขยะโดยการคัดแยกขยะจึงไม่ได้ผล แถมยังมีข่าว ภาพข่าว และข้อคิดเห็นตามสังคมโซเชียล ระบุว่าเจ้าหน้าที่เก็บขยะตามบ้านเรือนเทถังขยะที่เขาแยกไว้แล้วไปรวมกันอีก ซึ่งทำให้หลายคนไม่เข้าใจว่า “ แล้วเราจะรณรงค์ให้คัดแยกขยะเพื่ออะไรกัน”
พฤติกรรมคนไทยทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไม่ถูกถัง ที่ไม่มีบทลงโทษอย่างทั่วถึงและจริงจัง กลายเป็นอีกประเด็นที่บอกต่อกันมากว่ากฎหมายบ้านเราไม่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น การขอความร่วมมือผ่านการรณรงค์ทิ้งขยะลงถึงให้ตรงถังแยกขยะ จึงเป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก ละเลย
หลายคนไม่เข้าใจว่าเขาทำไปจะได้รับประโยชน์อะไรจากการทิ้งขยะลงถังแยกขยะ เมื่อเปรียบเทียบกับคนญี่ปุ่น เราจึงห่างไกลนัก อีกทั้งบ้านเราไม่ได้มีการบ่มเพาะจนซึมซับกลายเป็นวัฒนธรรมไทยในการทิ้งขยะลงถัง ถูกถัง แม้กระทั่งในบทเรียนตั้งแต่เด็กก็ไม่เห็นเนื้อหาสอดแทรกว่านี่คือหน้าที่ของพลเมืองไทยที่ดี คนไทยที่เติบใหญ่ขึ้นมาจึงไม่ค่อยตระหนักว่าเรื่องทิ้งขยะไม่เป็นที่ไม่ใช่ความน่าละอายเหมือนคนญี่ปุ่น
ทั้งที่ความเป็นจริง การลดปริมาณขยะมูลฝอยให้ได้ผลดี ต้องเริ่มที่การคัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้ง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน ทำให้ได้วัสดุเหลือใช้ที่มีคุณภาพสูง สามารถนำไป Reused-Recycle ได้ง่าย รวมทั้งปริมาณขยะมูลฝอยที่จะต้องนำไปกำจัดมีปริมาณน้อยลงด้วย
ซึ่งการคัดแยกขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด คือการมีถังคัดแยกขยะ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละชุมชน เช่น ครัวเรือน ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน บริษัท สถานที่ราชการต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งปริมาณ และลักษณะสมบัติขยะมูลฝอยที่แตกต่างกันด้วย อย่างไรก็ตาม บ้านเรายังไม่ก้าวผ่านบรรลุเป้าหมายแรกที่ต้องการให้คนไทยเลือกทิ้งขยะตรงถังที่จะเห็นกันมากสักหน่อยก็คือ ห้างสรรพสินค้า