xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจพอเพียง ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


  • ถอดบทเรียนการพัฒนาโลกที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์

  • เข้าใจโลกวันนี้ในบริบทใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมเพื่อความอยู่รอดของเราในอนาคต

  • แนะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติผ่าน 4 มุมมอง เพื่อเป้าหมายคือความยั่งยืน






เพื่อที่จะสามารถก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง เราจำเป็นต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนการพัฒนาของโลก โดยกล่าวว่า จากข้อมูลของ Our World In Data ชี้วัดการพัฒนาที่ผ่านมาโดยรวมว่าสามารถยกระดับคุณภาพของประชาการในหลายมิติ เช่น มีอัตราความยากจนลดลงจากร้อยละ 94 เหลือร้อยละ 10 มีการอ่านออกเขียนได้เพิ่มเป็นร้อยละ 85 จากร้อยละ 12 อัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลดลงจากร้อยละ 94 เหลือร้อยละ 4
แต่หากนำข้อมูลระหว่างประเทศมาเปรียบเทียบกันโดยเฉพาะรายได้ประชากรต่อหัวต่อปีของประเทศที่รวยที่สุดและจนที่สุดพบว่าต่างกันมาก ประเทศลักแซมเบิร์กมีรายได้ประชากรต่อหัวต่อคนเกินแสนเหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศบุรุนดีอยู่ที่ 227 เหรียญสหรัฐเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย ตัวเลขที่นักวิชาการให้ความสนใจไม่น้อย เช่น พัฒนาการ 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีการเติบโตในทางที่ดีพอควร แต่ระดับการอุปโภคบริโภคของประชากรโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลง ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนเติบโตขึ้นค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองการเติบโตของแต่ละประเทศในเชิงลึก หลายประเทศมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่แตกต่างกันอย่างมากอย่างน่ากังวล ความยากจนที่ซ่อนตัวทุกซอกมุมสะท้อนบาดแผลจากการพัฒนาที่จะกล่าวอย่างเต็มปากว่าสำเร็จและยั่งยืน ที่สำคัญคือปัญหาความยากจนและการเหลื่อมล้ำ ขณะนี้ เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก เป็นวิสัยทัศน์ร่วม หรือ Common Vision ที่องค์การสหประชาชาติประกาศเป็นเป้าหมายหลักซึ่งรู้จักกันพอสมควร คือการพัฒนาแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ควบคู่กับเป้าหมายอื่นรวม 17 ข้อ เช่น สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ และคุณภาพการศึกษา สะท้อนว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เราสามารถร่วมมือกันทำให้โลกน่าอยู่และดีขึ้นได้

3 สาเหตุความไม่ยั่งยืน

คำถามสำคัญคือ ทำไมการพัฒนาของโลกที่ผ่านมาเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืนและไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ในมุมมองของดร.ประสาร มองว่ามีสาเหตุอย่างน้อย 3 ประการ ประการแรก “การพัฒนามุ่งสร้างการเจริญเติบโตเป็นหลัก” ทั้งที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
ดังนั้น การจัดสรรทรัพยากรจึงเป็นไปตามภาคเศรษฐกิจ หรือ Economic Sector ที่สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นสำคัญ ทำให้อานิสงส์ของการพัฒนาอาจจะกระจุกตัวอยู่กับคนบางกลุ่มหรือเป็นแบบฝนตกไม่ทั่วฟ้า ทำให้บางแห่งอุดมสมบูรณ์ บางแห่งแห้งแล้งกันดาร ที่เป็นเช่นนี้เพราะในการพัฒนามองเพียง GDP เป็นเครื่องชี้หลัก เป็นความสนใจลำดับต้นๆ ของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก แต่ไม่ได้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความของผลประโยชน์ที่ตกถึงประชาชน และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ จึงเกิดปรากฎการณ์ยิ่งพัฒนา ความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีความรุนแรง เกิดปัญหาสังคมในหลากหลายรูปแบบ

ในระดับภาคธุรกิจ การตั้งเป้าหมายการบริหารจัดการมุ่งสร้างกำไรให้ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก โดยละเลยผู้มีส่วนได้เสียอื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งในที่สุดอาจส่งผลลบต่อองค์กรในระยะยาว ไม่ได้รับความเชื่อใจจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม

ประการที่สอง “การพิจารณาและแก้ปัญหาด้วยมุมมองระยะสั้น” มีตัวอย่างให้เห็นทั้งในระดับบุคคล องค์กร นโยบาย และผู้มีส่วนได้เสียอื่นในสังคม สำหรับระดับบุคคล บ่อยครั้งที่เลือกตอบสนองความพอใจระยะสั้นมากกว่ารอคอยสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้จะเป็นเรื่องที่ดี เหมือนที่รู้ว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพในระยะยาว แต่มักเลือกความขี้เกียจมากกว่า ส่วนระดับองค์กร เมื่อผู้ถือหุ้นต้องการเงินปันผลมากๆ ในระยะสั้นอาจเป็นปัจจัยทำให้บริษัทละเลยการลงทุนที่จำเป็นต่อการเพิ่มศักยภาพในระยะยาว

ขณะที่ระดับนโยบาย รัฐบาลตัดสินใจให้เงินอุดหนุนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ในช่วงที่ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ซึ่งตอนแรกตั้งใจจะทำชั่วคราว แต่เมื่อกลัวจะสูญเสียคะแนนนิยม จึงไม่ยกเลิกการสนับสนุน จนกลายเป็นสนิมกัดกร่อนฐานะการคลังของประเทศ หรือกรณีผู้มีส่วนได้หกเสียในสังคมขาดจิตสำนึกในการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสมดุลให้กับชีวิต ท้ายที่สุดจะเกิดปัญหาที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Tragedy of a common คือการสูญเสียของส่วนรวมในระยะยาว ด้วยความไม่สนใจของที่เป็นของส่วนรวมเพราะมองว่าไม่ใช่ของตัวเอง

ประการที่สาม “การมองและแก้ปัญหาแบบแยกส่วน” หลายทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนามักจะอยู่บนความเชื่อเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ Specialisation และการแบ่งงานกันแบบ Division of Labour ซึ่งพัฒนามาสู่การวางโครงสร้างการบริหารทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ที่มีการแบ่งงานกันตามหน้าที่ หรือ Function เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและกำหนดเจ้าของงานให้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติมักจะเกิดความเชี่ยวชาญที่ปราศจากความร่วมมือ เป็นปัญหาการประสานงาน ไม่ใช่ปัญหาความเชี่ยวชาญ เพราะคนส่วนใหญ่มุ่งมั่นทำงานที่ตนรับผิดชอบเหมือนม้ามุ่งวิ่งเข้าเส้นชัยเฉพาะในลู่ของตัวเอง ดังนั้น แนวคิดหรือนโยบายที่ดีหลายเรื่องจึงไม่มีการขับเคลื่อนให้สำเร็จจริงได้ เนื่องจากปัญหาความล้มเหลวในความร่วมมือ


ประยุกต์ใช้ในบริบทใหม่

สำหรับโลกในวันนี้เป็นโลกที่ไม่เหมือนเดิม เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผันผวน และยากที่จะคาดการณ์ ยิ่งเมื่อมองไปในอนาคต มีหลายปัจจัยที่ชี้ให้เห็นว่าความไม่แน่นอน เนื่องจากโลกในวันนี้ที่ติดต่อกันได้โดยสะดวกง่ายดาย โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีนั้นนำมาซึ่งความซับซ้อน ทำให้เกิดการกระทบในเรื่องต่างๆ เช่น การพิจารณาเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถ้ามองจากมุมเศรษฐกิจอย่างเดียวก็สนับสนุนให้ดำเนินการ เพราะการผลิตไฟฟ้าต้องมีส่วนที่มีเสถียรภาพ การใช้พลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ ไม่มีความแน่นอนเหมือนเชื้อเพลิงถ่านหินซึ่งทำให้มั่นใจได้มากกว่า แต่มีข้อเสียคือก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่แม้จะใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาให้ลดการปล่อยลงไปได้ แต่เมื่ออยู่ในแหล่งท่องเที่ยว มีทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกกระทบ เช่น ปะการัง ฯลฯ ที่สำคัญคือข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ น้อยครั้งที่จะมีความชัดเจนมากพอที่จะทำให้สามารถตัดสินใจในเรื่องนั้นได้

“ผมอยากเสนอว่า เราอาจจะมีมุมมองอีกแบบ คือใช้หลักคิดมองในมุมกว้าง ว่ามันเกี่ยวข้องกับใคร มองไปข้างหน้าให้ไกล แล้วมองเข้ามาในตัวเองที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม อย่าลืมว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เฉพาะพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันเท่านั้น แต่แนวคิดนี้ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสองประการคือความรู้หลักวิชาการและหลักคุณธรรม โดยมีทั้งส่วนที่เป็นปัจเจกและส่วนของชุมชน หลักคุณธรรมในส่วนของชุมชนถ้าเป็นที่ยอมรับเป็นเวลานานก็จะเป็นวัฒนธรรม ถึงแม้เราจะมียุทธศาสตร์ดีอย่างไร แต่นักวิชาการด้านการบริหารพูดเอาไว้ว่า Culture eats strategy for breakfast. คือจะมีแนวคิดดีอย่างไร ถ้าไม่คำนึงถึงวัฒนธรรม ก็จะถูกวัฒนธรรมกลืนกินเป็นอาหารเช้า”


4 หลักคิดสู่การปฏิบัติ

ดังนั้น จึงอยากแปลงความคิดไปสู่การปฏิบัติด้วย 4 หลักคิด คือ มองกว้าง มองไกล มองเข้ามาในตัวเอง และมองว่าทำอย่างไร

“มองกว้าง” นักคิดนักวิชาการทั่วโลกเริ่มตั้งคำถาม และหันกลับมาทบทวนแนวทางการพัฒนาที่ทำอยู่ในปัจจุบัน จากปัญหาความขัดแย้ง สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นหลายรูปแบบ เหตุการณ์Brexit การชนะการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ฉุกคิดถึงความเหมาะสมของการสรรหาและการพัฒนาที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร อย่าด่วนสรุปว่าคนที่โหวตให้ทรัมป์เป็นผู้ไม่มีการศึกษา ผู้ชนะBrexitต้องพูดเก่ง เสนอข้อมูลไม่จริงหลอกคน เพราะอาจจะมีอะไรลึกๆ ที่โยงไปกับการพัฒนาที่ผ่านมา

ประเทศไทยโชคดีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนา โดยส่วนตัวคิดว่าทันสมัยและสามารถนำมาปรับใช้ได้ในบริบทของโลกที่ไม่เหมือนเดิม ถ้าศึกษาองค์ความรู้ หลักในการดำเนินงานจะพบว่า พระองค์ได้เน้นให้ประเทศเติบโตปีละมากๆ แต่ให้ความสำคัญกับคุณค่าและคุณภาพชีวิตของคนแต่ละคน มากกว่ามูลค่าที่เป็นเป้าหมายแบบหยาบๆ ถ้าใครมีโอกาสฟังการถกเถียงเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ประเด็นนี้จะเข้ามาทันที ถ้าพูดถึงมูลค่าตัดสินใจได้เลย เพราะราคาถ่านหินถูกกว่าอย่างอื่น ยกเว้นนิวเคลียร์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคือเอาถ่านหินที่มีความร้อนสูงมากก็จะได้พลังงานความร้อนออกมามาก ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาก็น้อยลง แต่ถ้าพูดถึงปัจจัยเรื่องคุณค่าของคนที่เกี่ยวข้อง การบริหารจะซับซ้อนมากขึ้น

ดังนั้น การพัฒนาประเทศจะราบรื่นและมั่นคงคิดว่าจำเป็นที่เราจะต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ให้น้อยลง ดังพระราชดำรัสที่ว่า “การนำความเจริญไปสู่ การพัฒนาไปสู่ชนบท หมายถึงไปสู่ประชาชนในชนบท มีเหตุผลหลายประการ เหตุผลใหญ่ที่สุดข้อแรกคือมนุษยธรรม ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมประเทศกับเรา เหตุผลที่สองที่จะต้องพัฒนาชนบทนั้นคือเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของบ้านเมือง”

ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะพยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีที่ดิน การสร้างหลักประกันสุขภาพให้ทั่วถึง การบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมเป็นธรรม มาตรการเหล่านี้นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญ แต่ยังมีก้าวต่อไป ที่สำคัญคือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น ปัจจุบันยังรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางมาก มีผลให้การแก้ปัญหามักจะมีจุดเดียว ทำให้ยากที่จะตอบโจทย์ของท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกันได้อย่างตรงจุด ภาครัฐจึงควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เสนอแนะสิ่งที่ต้องการ และการทำเช่นนี้จะเป็นการสร้างเจ้าภาพที่ชัดเจน มีบทเรียนการปฏิรูปการศึกษาในหลายประเทศชี้ว่า การกระจายอำนาจไปในท้องถิ่น ทั้งงบประมาณ การบริหารบุคคล และการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ ท้ายที่สุดจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้

“มองไกล” การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในวันนี้มีความจำเป็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องปรับตัวให้เท่าทันโลก หลักคิดสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และวางแผนไปข้างหน้า ดังพระราชดำรัสที่ว่า “เราต้องไม่หยุดนิ่ง ที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ”

หลายฝ่ายอาจจะเข้าใจผิดว่าพอเพียงคือพอแล้ว ไม่ต้องทำอะไร ซึ่งอาจจะประมาทไป สุดท้ายอาจจะเป็นพอเพียงแค่ชั่วคราว คือพอเพียงในปัจจุบัน แต่ขัดสนในอนาคต สำหรับประเทศไทยคิดว่าเรื่องที่สำคัญมากคือการปรับปรุงกฎกติกาของบ้านเมืองให้เท่าทันกับกาลสมัย ไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและกฎระเบียบรวมกันกว่า 1 แสนฉบับ และไม่ได้มีการปรับปรุงมานาน ย่อมมีผลกระทบต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจ และมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสว่า “กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบ้านเมือง ขอให้ศึกษาว่ากฎหมายนี้มีประโยชน์อย่างไร และจะทำอย่างไรสำหรับกฎหมายให้กฎหมายมีประโยชน์ยิ่งขึ้น โดยที่สนใจถึงชีวิตของกฎหมายและของคนในสภาพปัจจุบัน”

“มองเข้ามาในตัวเอง” หรือมองลึกลงข้างใน ไม่ว่าโลกจะก้าวหน้ารวดเร็วแค่ไหน สิ่งที่ยังคงอยู่และไม่ได้หายไปไหนคือคน แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าและเข้ามาแทนที่คนได้หลายอย่าง แต่เทคโนโลยีก็ทำให้เราเก่งได้ง่ายขึ้น เพราะมีโอกาสเข้าถึงและเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่าย ต้องยอมรับว่าคนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองในหลายมิติอย่างที่เทคโนโลยีไม่สามารถจะพัฒนาได้เช่นกัน โดยเฉพาะการพัฒนาที่เกิดจากภายใน ด้วยการสร้างทัศนคติเรื่องการพอเพียงในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้คนสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ดังพระราชดำรัสที่สั้นแต่สรุปความไว้อย่างลึกซึ้งว่า “คำว่าพอสมควรนี้ เป็นคำสำคัญที่สุดแล้ว อาจเป็นใจกลางของการปฏิบัติทุกอย่าง”

หลายคนสังเกตเห็นเหมือนกันว่าพระราชดำรัสของพระองค์มีคำว่า พอมี พอกิน พออยู่ พอใช้ พออกพอใจหรือพอประมาณ ในหลายโอกาส ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมพระองค์จึงพยายามถ่ายทอดและปลูกฝังความคิดเรื่องความพอเพียงให้กับพวกเรา เมื่อได้คิดทบทวนบ่อยๆ จึงคิดว่าที่เป็นเช่นนั้น เพราะความรู้จักพอเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่จะช่วยสร้างใจให้เป็นอิสระ รู้จักพอในสิ่งที่มี ภูมิใจในสิ่งที่ตนสร้าง พอใจในความสามารถที่พึ่งตนเองได้ มั่นใจว่าได้ดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย ไม่ต้องวิ่งตามกระแส ซึ่งทั้งหมดก็ช่วยให้แต่ละคนสามารถพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าไปได้อย่างเต็มศักยภาพ

ความพอเพียงในการดำรงชีวิตแม้จะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ชีวิตมีหลักยึดที่ถูกต้อง ดังพระราชดำรัสที่ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกลง รับบ้านเรือน ปลูกอาคารไว้นั่นเอง”
กำลังโหลดความคิดเห็น