xs
xsm
sm
md
lg

Upcycling the Oceans, Thailand ปลุกคนไทยเห็นคุณค่า “ขยะพลาสติก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ธีรวัฒน์ สุดสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.),สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ มร.ฮาเวียร์ โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ราชอาณาจักรสเปน ในพิธีเปิดโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand  ณ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
ส่งมอบที่เก็บขยะพลาสติก
โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ส่งเสริมการจัดการปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย คืออีกความร่วมมือของประชารัฐซึ่งคาดผลจะกระตุ้นจิตสำนึกในการทิ้งขยะ โดยการคัดแยกขยะพลาสติกแล้วนำกลับไปใช้ประโยชน์เพิ่มจากการสร้างช่องทางการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม

นับเป็นอีกความร่วมมือด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมในรูปแบบประชารัฐ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), จังหวัดระยอง, องค์การบริหารส่วนตำบล เกาะเสม็ด, พีทีที โกลบอล เคมิคอล และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ เริ่มด้วยการเปิดตัวกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะในทะเล และเก็บขยะบริเวณชายหาด พร้อมมอบถังขยะและถุงขยะให้กับอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ซึ่งแต่ละภาคส่วนนำจิตอาสาในองค์กรของตนเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก


ประเดิมกิจกรรมเก็บขยะทั้งบนบก และในทะเล โดยอาสาสมัครจากหลายภาคส่วนแบบประชารัฐพร้อมใจ
สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “
ผมเห็นวัตถุประสงค์ และแนวทางของโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand พร้อมตอบรับตั้งแต่แรก เพราะมองว่าเป็นโครงการที่จะช่วยสนับสนุนภาครัฐจัดการปัญหาขยะ ซึ่งเป็นปัญหาที่ถูกระบุให้เป็น 1 ในยุทธศาสตร์ 10 ด้าน ในเรื่องของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และเป็นปัญหาระดับสากลที่ต้องร่วมกันดำเนินการแก้ไข โดยการเก็บขยะจากแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ชายฝั่งและหมู่เกาะของประเทศไทยมาแปรรูปโดยการเพิ่มมูลค่า ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกในท้องทะเลไทยไม่น้อยกว่า 10 ตันในปี 2560”
ขยะในทะเลเป็นปัญหาสำคัญของไทยและทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งทะเลและมหาสมุทรเป็นแหล่งรองรับของเสียจำนวนมากที่มาจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยว การประมง การเดินเรือ เป็นต้น ทำให้เกิดมลพิษทางทะเล และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในทะเล กระทรวงฯ จึงดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อลดปริมาณขยะในทะเล โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่เกาะที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากและมีหลายกิจกรรมที่คุกคามต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น การทิ้งขยะปฏิกูลลงทะเล การให้อาหารปลา การทิ้งสมอเรือบริเวณแนวปะการัง ทำให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง ซึ่งกระทรวงฯ จะเข้าไปบริหารจัดการเพื่อควบคุมดูแลให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการใช้งานให้ยาวนาน และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ลดขยะ เพิ่มภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทย

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเสริมว่า “ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ปัญหาขยะในทะเล ส่งผลต่อระบบนิเวศในทะเล และภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย ซึ่งตามข้อมูลระบุว่า ประเทศไทยพบขยะในทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก ดังนั้น หากไม่ดำเนินการจัดการปัญหาขยะอย่างเป็นระบบและทันท่วงทีอาจจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวโดยรวมของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ได้”
โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand มีแนวทางการจัดการขยะในทะเลไทยอย่างยั่งยืน ทั้งสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) เช่น การทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง การเก็บขยะชายหาดและขยะในทะเล โดยพื้นที่นำร่องของโครงการนี้ คือ ฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ฝั่งทะเลอ่าวไทย ได้แก่ เกาะเต่าและเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ
“ผมเชื่อว่า ด้วยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมจัดการขยะอย่างเป็นระบบในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลรวมถึงพื้นที่ชายฝั่งและหมู่เกาะที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องจะช่วยปกป้องรักษาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลไทยให้อุดมสมบูรณ์และคงความสวยงามยาวนาน”

พีทีทีจีซี หวังเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกที่คุ้มค่า

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการบูรณาการแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและแก้ปัญหาขยะในทะเลเพื่อให้ระบบนิเวศดีขึ้นโดยการเก็บขยะพลาสติกในทะเล ได้แก่ ขยะขวดพลาสติกใสหรือขวด PET และขยะจากพลาสติกโพลิเอทิลีน (PE) เช่น ถุงพลาสติก ขวดพลาสติกทึบ มาแปรรูปด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นที่มีมูลค่าสูงขึ้น การดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand จึงช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและสร้างคุณค่าของขยะให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ข้อที่ 14 Life Below Water ที่ให้ความสำคัญในด้านการบริหารจัดการและอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งและการป้องกันและลดมลพิษทางทะเล”
“พีทีทีจีซี มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน โดยได้ประยุกต์หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเมื่อผลิตภัณฑ์หมดอายุกลายเป็นขยะจะถูกนำไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อไป แนวทางนี้จึงส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของทั่วโลก ผมมองถึงเรื่องราวของขยะพลาสติกใต้ท้องทะเลหลังจากที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จะเป็นธีมช่วยกระตุ้นให้คนไทยตระหนักการคัดแยกขยะก่อนทิ้งซึ่งขยะพลาสติกบนบกมีปริมาณมากกว่า และใช้ต้นทุนต่ำกว่าในการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งการส่งเสริมให้คนเห็นภาพจริงว่าขยะพลาสติกมีคุณค่า”

มร.ฮาเวียร์ โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์
อีโคอัลฟ์ เผยใน 3 ปีสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่
มร.ฮาเวียร์ โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์ กล่าวว่า “โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย จากความร่วมมือกับ ททท. และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ดำเนินการจัดเก็บขยะในทะเลไทยอย่างเป็นระบบ ทั้งการจัดเก็บ การแปรรูป และพัฒนาเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น เป็นการนำขยะจากท้องทะเลมาผลิตเป็นเส้นใย และผลิตเป็นสินค้า เสื้อ กระเป๋า รองเท้า ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปี (2560 - 2562) ซึ่งการทำงานในลักษณะพันธมิตรกับอีโคอัลฟ์ เรามีประสบการณ์การทำโครงการมาแล้วในระดับโลกจึงช่วยแก้ปัญหาขยะและสร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
ขณะนี้ภายใต้โครงการนี้ได้มีการติดต่อและประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องต่างๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น ผู้ประกอบการแยกขยะ โรงงานแปรรูป คาดว่าจะสามารถเก็บรวบรวมขยะพลาสติกที่เกาะเสม็ดตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 และจะนำไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบทั้งเส้นใยและเม็ดพลาสติกได้ในช่วงต้นปีหน้า
“ถ้ามองมันด้วยตาเปล่า คุณจะไม่สามารถมองแล้วรู้ว่านี่เป็นเสื้อผ้าที่มาจากของรีไซเคิล อีโคอัลฟ์ เรียกสิ่งนี้ว่า ความทะเยอทะยานที่จะเปลี่ยนวิธีในการจัดการกับขยะในมหาสมุทร เราเริ่มต้นจากมหาสมุทรแอนตาคติคและมีเป้าหมายในการขยายไปยังมหาสมุทรทั่วโลก ในโครงการนี้นอกจากอีโคอัลฟ์จะใช้ประสบการณ์จากการธุรกิจรีไซเคิลในอุตสาหกรรมแฟชั่นมากว่า 5 ปี โครงการยังทำงานกับพันธมิตรอีก 5 รายที่จะนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
ทุกวันนี้เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับชาวประมง ทุกๆวันจะมีชาวประมงเอาขยะขึ้นมาให้เราประมาณ 400-600 กิโลกรัมต่อวันกลับขึ้นมาจากมหาสมุทรแอนแลนติคในโครงการนำร่องที่เราทำทางตอนใต้ของสเปน” มร.ฮาเวียร์ กล่าว
โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ในช่วงปีแรกจะมุ่งเน้นการให้ความรู้และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ พร้อมทั้งการติดต่อประสานงานพันธมิตรสำหรับการจัดการขยะ ทั้งการเก็บขยะ แยกขยะ และแปรรูปขยะ ปีที่ 2 จะมุ่งเน้นการแปรรูปขยะด้วยนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิต และปีที่ 3 จะพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าแฟชั่นที่แปรรูปจากขยะในทะเล
ขยะจากท้องทะเล ถูกแปรรูปโดยการผลิตเป็นเส้นใยสำหรับผลิตเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กระเป๋า รองเท้า เป็นต้น
ขยะใต้ท้องทะเลไทย
จุดประกาย “แฟชั่นที่ยั่งยืน”
ข้อมูลจากโครงการระบุว่าในแต่ละปีมีขยะที่อยู่ในทะเลมากกว่า 8 ล้านตันและนั่นเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของสัตว์น้ำรวมถึงนก โดยขยะ 20% จะลอยอยู่เหนือน้ำและขยะ 80% จะอยู่ใต้น้ำ การกู้คืนขยะเหล่านี้จากทะเลจึงเป็นภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหา โดยไม่เพียงแต่ Recycle เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำเท่านั้น แต่ในความหมายของโครงการ คือการยกระดับและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการมาใช้ซ้ำ หรือที่เรียกว่า Upcycling ด้วย ดังนั้นนอกจากจะทำให้มหาสมุทรสะอาดขึ้นแล้ว ของเสียส่วนหนึ่งที่กู้คืนขึ้นมายังจะถูกนำมาใช้มารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติค รวมไปถึงการรีไซเคิลให้เป็นเส้นใยที่มีคุณภาพที่จะนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้า และของใช้ต่อไป
“Upcycling the Oceans, Thailand จึงเป็นโครงการนอกประเทศครั้งแรกของ UPCYCLING และเราหวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มสำคัญที่ไม่เพียงสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยวิธีคิดที่แตกต่างออกไปจากการเก็บขยะในทะเล ทว่าในอีกด้านหนึ่งนี่จะยังอาจช่วยจุดประกายเรื่องความยั่งยืนในแวดวงแฟชั่นด้วยความคิดที่ว่า “แฟชั่นที่ยั่งยืน” (Sustainable Fashion) ของประเทศไทยเช่นเดียวกัน” มร.ฮาเวียร์ โกเยนิเช่ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น