xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกพันธบัตรป่าไม้ คืนพื้นที่ป่าร้อยละ 40

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปมการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ภาครัฐหลายสมัยไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าตามเป้าหมายร้อยละ 40 ไว้ได้ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงร้อยละ 32 เท่านั้น เหตุผลดังกล่าว “พันธบัตรป่าไม้” จึงถูกหยิบยกเป็นเครื่องมืออีกครั้ง เนื่องจากมีโอกาสเป็นไปได้จริงด้วยการเพิ่มพื้นที่ “ป่าเศรษฐกิจ”
พันธมิตรผู้ปกป้องป่า ที่ร่วมตั้งวงเสวนา “พันธบัตรป่าไม้ เครื่องมือเศรษฐกิจสู่ป่า 40%” เมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) กรมป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร รวมถึงภาคเอกชน กลุ่มบิ๊กทรี สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด เป็นต้น
ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา  และ อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ  ชูประเด็น ป่าเศรษฐกิจ เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยได้แน่

พบพื้นที่ป่าสูญเสียซ้ำซาก

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงสาเหตุหลักของการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ ว่ามาจากการขยายตัวของการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่มีการบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวน และที่ผ่านมาการฟื้นฟูสภาพป่าบนพื้นที่สูงยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้รับการสนับสนุนจากวงจรธุรกิจอาหารสัตว์ ขณะที่การปลูกป่าทดแทนโดยภาคประชาชน หรือหน่วยงานโดยไม่หวังผลกำไรก็ยังมีข้อจำกัดทั้งด้านงบประมาณและการทำงานที่ต่อเนื่อง เหตุนี้ประเทศไทยจึงต้องพัฒนากลไกให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันโดยให้ความสำคัญกับการทำงานและคุณภาพชีวิตเกษตรกร สร้างอาชีพทางเลือกทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
เขาให้ข้อสังเกตผลกระทบจากพื้นที่ป่าหายไปหรือเขาหัวโล้นในหลายๆ พื้นที่ ว่าเกิดจากปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรขาดน้ำ เมื่อถึงฤดูฝนน้ำก็จะหลาก ราษฎรประสบปัญหา รัฐบาลก็ต้องทำการชดเชย บางครั้งในหนึ่งจังหวัดเกิดทั้งภัยแล้งและอุทกภัยในเวลาเดียวกัน ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้
กลไกพันธบัตรป่าไม้
เป็นอีกทางออกหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ เพราะรวบรวมทั้งองค์ความรู้ด้านระบบนิเวศ หลักเศรษฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจ และนิติศาสตร์ ผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อผลักดันให้เกิดกลไกดังกล่าว ซึ่งมีความต้องการที่จะนำพลังของภาคเอกชนเข้ามาฟื้นสภาพป่าด้วยกัน ดังนั้นการที่ภาคเอกชนจะสามารถเข้ามาร่วมได้ก็ต้องมีการแสวงหาผลกำไร
“จริงๆ แล้วผมอยากให้การปลูกป่าเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้ค่อนข้างดี เพราะ (1) เราต้องตอบแทนผู้ลงทุน (2) เราอยากให้ประชาชนที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่สูงได้มีอาชีพใหม่จากการทำงานสวนป่า โดยมีรายได้สามารถเลี้ยงครอบครัวของเขาได้ นี่คือการนำกำลังของเอกชนฝ่ายดีมาสู้รบกับเอกชนที่มาทำลายป่ามา 20-30 ปีที่ผ่านมา”
ดร.อดิศร์ บอกกระบวนการทำงานพันธบัตรป่าไม้นั้นจะต้องทำการระดมทุนขึ้นมา
ทุนที่หนึ่ง คือ เงินกองทุน โดยการออกพันธบัตรป่าไม้ที่ได้ออกแบบไว้มีลักษณะใกล้เคียงกับกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) มาก หรือการที่กระทรวงการคลังระดมทุนเพื่อมาสร้างถนนมอเตอร์เวย์ จากนั้นจึงมีการเก็บค่าผ่านทาง และเมื่อได้เงินมาก็นำเงินรายได้ตรงนี้มาคืนให้แก่ผู้ลงทุน
พันธบัตรป่าไม้ก็ทำงานเหมือนกัน การออกพันธบัตรป่าไม้จำนวนหนึ่งผ่านกลไกของกระทรวงการคลัง เมื่อระดมเงินได้จำนวนหนึ่งอาจ 10,000-100,000 ล้านบาท เงินนี้ก็จะถูกนำไปใช้ปลูกป่าเศรษฐกิจโดยผู้ประกอบการ ซึ่งก็จะเป็นภาคเอกชนที่จะเข้ามาปลูก พอระดมทุนได้แล้ว ทุนที่เป็นเงินก็เป็นส่วนหนึ่ง เราจ่ายดอกเบี้ยให้แก่พันธบัตรหรือผู้ที่มาลงทุน 5%
ทุนที่สอง คือ เราต้องการพื้นที่จากกรมป่าไม้ ซึ่งคุณจงคล้าย วงพงศธร รองอธิบดี กรมป่าไม้ ระบุว่ามีพื้นที่ประมาณ 20 ล้านไร่ และ ทุนที่สาม คือ ทุนแรงงาน
แนวคิดนี้ไม่คิดจะผลักดันเกษตรกร หรือแรงงานในพื้นที่ให้ไปทำกินพื้นที่อื่น แต่เป็นการเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาทำงานในสวนป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และพอมีการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งสัญญาเช่าของกรมป่าไม้เปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่ป่าได้รอบละประมาณ 30 ปี มันก็จะมีระยะเวลานานพอให้ปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งไม้เศรษฐกิจเองนั้นมีหลายสูตร บางสูตรมีสัดส่วนไม้สักมากหน่อย บางสูตรเป็นไม้พลังงาน บางสูตรทำไม้ที่จะแปรรูปไปทำกระดาษ เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการผสมผสานกันระหว่างพืชเศรษฐกิจบางตัวที่สามารถให้ผลตอบแทนได้เร็ว เพื่อให้แรงงานสามารถมีรายได้ไปเลี้ยงครอบครัว แต่พืชเศรษฐกิจบางชนิดอาจเป็นไม้ระยะยาวที่มีรอบตัด 8 ปี หรือ 20 ปี เป็นต้น
หนุนเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ
ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสริมว่า พันธบัตรป่าไม้เริ่มได้แรงสนับสนุนเพิ่มมาเรื่อยๆ ทุกหน่วยงานก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ฟื้นฟูสภาพป่าทางภาคเหนือให้กลับคืนมา รวมถึงการทำให้ป่าเหล่านั้นมีคุณค่าทั้งเชิงนิเวศน์ และเชิงเศรษฐกิจ สร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ ทำให้เราคิดว่างานนี้เป็นประโยชน์กับสังคมโดยร่วม และต้องการให้มีการพลักดันไปปฏิบัติจริงต่อไป
จากการรวมตัวกันพูดคุยเรื่องป่าเศรษฐกิจ โดยอิงจากข้อมูลป่าไม้ของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน พบว่า เรามีพื้นที่ป่าไม้ทั้งสิ้น 32% ส่วนตามแผนการจัดการป่าไม้ต้องการมี 40% แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 25% ป่าเศรษฐกิจ 15% ในขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ มีป่าไม้ในเขตรับผิดชอบ 20% กรมป่าไม้อีก 3% ทำให้ป่าอนุรักษ์ตอนนี้มีประมาณ 23%
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และกลุ่มบิ๊กทรี มีข้อสรุปว่าหากต้องการให้พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยมี 40% ก็ต้องเพิ่มที่ป่าเศรษฐกิจอีก 5% ซึ่งตอนนี้มีเพียง 1 - 2 % เท่านั้น ยกเว้นว่าทางกรมป่าไม้จะยกป่าชุมชนที่มีอยู่ประมาณ 3% ให้เป็นป่าเศรษฐกิจทั้งหมดซึ่งก็จะช่วยให้มีต้นทุนเพิ่ม ดังนั้น เราจึงมีโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้ป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 10% หรือคิดเป็นพื้นที่อีกประมาณ 20 - 30 ล้านไร่ ตรงนี้คือโจทย์ใหญ่ โดยที่ป่าในเขตอนุรักษ์ถึงไม่เพิ่มขึ้นแต่จะต้องรักษาเอาไว้ได้
สันติ โอภาสปกรณ์กิจ กลุ่มบิ๊กทรี หยิบยกพันธบัตรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจากการสังเกตประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ โมเดลที่ได้การชื่นชมจากทั่วโลก ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ และคอสตาริกา ปัจจัยที่ทำให้สองประเทศนี้สามารถรักษาพื้นที่ป่าซึ่งเราเองต้องขบคิด คือ ปัจจุบันเกาหลีใต้ มีพื้นที่ป่าเป็นของเอกชน 70% และคอสตาริกา มีพื้นที่ป่าเป็นของเอกชนถึง 75% เขาใช้เอกชนช่วยรัฐในการปลูกป่าในขณะที่ไทยใช้เพียงเอกชนเพียง 13%
ปัจจัยที่ทำให้ประเทศเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลง คือ ได้ใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนประเทศคอสตาริกา มีรายได้ส่วนใหญ่จากการปลูกป่า และที่ได้เหมือนกัน คือ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยเคยมีพื้นที่ป่า 50% และลดต่ำสุดเหลือ 28% ล่าสุดได้ 33% ก้าวต่อไปคือสัดส่วนพื้นที่ป่าให้ได้ หากเราทำได้เราจะเป็นโมเดลพันธุศาสตร์ที่ประเทศอื่นๆ จะกล่าวถึงเช่นเดียวกัน
สิ่งที่ประเทศไทยควรจะดำเนินการ คือ กองทุนที่มีป่าเป็นของตนเอง และหาผลกำไรให้กองทุนโดยการนำไม้ไปขายในตลาดเพื่อที่กองทุนไม่ต้องขอเงินรัฐบาลอย่างเดียว อีกส่วนหนึ่งก็คือ พันธบัตร ภายใน 10 -20 ปี เงินที่อยู่ในระบบก็จะหมุนวนไปเรื่อยๆ จะมากเท่าใดขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งตอนนี้เราทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี มีขั้นตอน เราจะมีการสนับสนุนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมนำสหกรณ์สวนป่า ออป. มาทำในรูปของวิสาหกิจชุมชน แต่สำหรับพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ชาวบ้านและเอกชนสามารถดำเนิดการได้เอง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพไม้เศรษฐกิจเหมือนกัน
ทั้งนี้ หากออกมาเป็นระบบภาคธุรกิจแล้ว ก็จะมีกระบวนการว่าจะทำอย่างไร ซึ่งตอนนี้ก็มีการแข่งขันในหลายๆภาคธุรกิจมีการปลูกไม้สัก ผลิตสินค้าออกมาสู่กันทั้งในตลาดภายในและต่างประเทศ แล้วระบบก็จะสามารถดำเนิดไปได้ด้วยตัวเอง ในขณะนี้อยู่ระหว่างปรึกษาหารือว่าพันธบัตรควรจะเกิดได้ในระยะเวลาเท่าใด และควรมีหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบโดยตรง
ผศ.ดร. นิคม แหลมสัก คณบดี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสริมอีกว่าต้องทำอย่างไรให้บทบาทของป่าไม้โดยเฉพาะตัวเลขป่าเศรษฐกิจ 15% หรือประมาณ 48 ล้านไร่ มีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งถ้าไม่ทำอยู่ในพื้นฐานความยั่งยืน ป่าเศรษฐกิจก็อาจก่อปัญหาได้ในอนาคต เช่น ต้องทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และนโยบายการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ในส่วนนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพันธบัตรป่าไม้ที่ต้องทำให้เป็นจริงให้ได้ตามเป้า โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายๆภาคส่วน
หากเราจะขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยให้ไปถึงเป้าหมาย ทุกๆภาคส่วนล้วนเกี่ยวข้องกับป่าไม้ ทั้ง อาหารที่มาจากป่า พลังงาน และบ้านที่อยู่อาศัยจากไม้ ซึ่งถ้าหากสถาปนิกกลับมาใช้ไม้มากขึ้น ไม้เศรษฐกิจที่เราร่วมกันสร้างขึ้นก็รองรับได้ ซึ่งอุตสาหกรรมไม้ไทย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจตั้งแต่เก็บเมล็ดประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี และมีมูลค่าส่งออกประมาณ 1.2 แสนล้านบาทต่อปี และหากทำกันจริงจัง มีทิศทางเป้าหมายที่ชัดก็ย่อมจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดี กรมป่าไม้ ยืนยัน ป่าเศรษฐกิจ มีอนาคตยั่งยืน
กรมป่าไม้ ยัน “ป่าเศรษฐกิจ” เพิ่มพื้นที่ป่าได้ตามเป้า

จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดี กรมป่าไม้ กล่าวว่า ผมขอยืนยันคำเดิมว่า “การที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทย ต้องพึ่งพาป่าเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว” จากตัวเลขพื้นที่ของประเทศไทยมีประมาณ 323 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าไม้ 102.4 ล้านไร่ หากเราต้องการเพียง 25% ในเรื่องของการอนุรักษ์แค่ 80 กว่าล้านไร่ก็ครบแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ตรงไหน ก็นับว่าเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด แต่ตอนนี้เราแบ่งแยกให้มีความชัดเจนเมื่อประมาณ 5 - 6 เดือนที่ผ่านมา ว่ากรมอุทยานแห่งชาติรับผิดชอบป่าอนุรักษ์ กรมป่าไม้ดูแลเรื่องป่าเศรษฐกิจ
ตัวเลขพื้นที่ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติมี 72 ล้านไร่ แต่ความจริงเหลือพื้นที่อยู่ประมาณ 61 ล้านไร่ ทางนั้นก็มีกระบวนการที่จะเพิ่มเกือบ 10 ล้านไร่ ขณะที่กรมป่าไม้ เหลือพื้นที่ดูแลอยู่ประมาณ 29.5 ล้านไร่ มีทั้งป่าอนุรักษ์ และป่าชุมชนซึ่งกำลังนิยามให้เป็นป่าเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ต้องการป่าเศรษฐกิจ 15% เราจะต้องมีต้นทุน ทำให้คิดว่าป่าชุมชนที่มีชาวบ้านเข้าไปเก็บของป่าทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นในชุมชน เราก็จัดให้เป็นป่าเศรษฐกิจเสีย เพราะจะได้แบ่งแยกกับกรมอุทยานฯ อย่างชัดเจน
ดังกล่าว พื้นที่ป่าที่ทางเรามีอยู่ 29.5 ล้านไร่ ก็เตรียมส่งมอบให้กรมอุทยานฯ 9.3 ล้านไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบพื้นที่เพื่อไปทำเรื่องป่าเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชน ดังนั้นป่าชุมชน กรมป่าไม้ ก็จะเหลืออยู่ประมาณ 20.2 ไร่ ส่วนป่าที่ยังสมบูรณ์ ให้ทางกรมอุทยานฯ ไปดูแลก็จะได้ครบประมาณ 80 ล้านไร่ ซึ่งเราเชื่อในศักยภาพของกรมอุทยานในเรื่องของการป้องกัน

"ป่าเศรษฐกิจ" ให้ประโยชน์อะไรบ้าง
1. การปลูกไม้เศรษฐกิจ ช่วยประหยัดการนำเข้า และสามารถส่งออกได้
2. ไม้พลังงาน เพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิล
3. รักษาสมดุลของระบบนิเวศต้นน้ำ ชะลอการไหลของน้ำในฤดูฝน และเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้ง รวมถึงลดการพังทลายของหน้าดิน
4. คนในพื้นที่หรือเกษตรกรมีงานทำ รวมถึงเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหันมาเป็นผู้ปลูกและดูแลป่าเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงให้กับชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิต
5. เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
6. โอกาสที่จะพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวในอนาคต

เมื่อป่าเศรษฐกิจผืนนี้มันสร้างประโยชน์มากมาย ผลตอบแทนจึงชัดเจน ซึ่งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้คำนวณผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ประมาณ 15-19% (ขึ้นอยู่กับต้นทุนแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน) หากบวกผลตอบแทนทางสังคมด้วยคิดเป็น 25% จากข้อมูลนี้แสดงให้ความคุ้มค่าในการลงทุน

ฉะนั้นเมื่อมีการขายหรือเก็บรายได้จากแหล่งเหล่านี้มา เงินเหล่านี้จะกลับเข้าสู่วงจรเดิม ก็คือนำมาจ่ายคืนให้แก่ผู้ที่มาซื้อพันธบัตรป่าไม้ด้วยต้นทุนเพียง 5% เท่านั้น ถือเป็นการระดมทุนที่ไม่แพง นี่คือหลักการของพันธบัตรป่าไม้ที่แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศกับกลไกทางเศรษฐกิจมันสามารถเกื้อกูลกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น