xs
xsm
sm
md
lg

เอ็กโก กรุ๊ป ชวนสัมผัส 3 เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เขาหลวง เดินหน้าผนึก กรมอุทยานฯ พัฒนาเส้นทางศึกษาฯ ทั่วไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เอ็กโก กรุ๊ป นำโดย ชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ส่งมอบ “3 เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่าต้นน้ำ เขาหลวง” โดยมี ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมด้วย วิกรานต์ ทั่วด้าว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาหลวง, สุพจน์ เพริดพริ้ง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ร่วมรับมอบ ณ เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกพรหมโลก อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช
ชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย
เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ส่งมอบ 3 เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่าต้นน้ำ เขาหลวง ได้แก่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกพรหมโลก เส้นทางฯ น้ำตกกะโรม และเส้นทางฯ น้ำตกอ้ายเขียว เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ผู้คนสามารถเข้าถึงสะดวก ปลอดภัย ได้เข้ามาศึกษาสภาพแวดล้อมภายในป่าที่มีพืชพรรณนานาชนิด นับว่าเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศร์และการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

ชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวว่าการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติทั้ง 3 เส้นทาง มูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ปรับปรุงเส้นทางเดินให้มีความปลอดภัย ทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติตลอดเส้นทาง และก่อสร้างอาคารศูนย์บริหารนักท่องเที่ยว พร้อมทำแผ่นพับสำหรับเผยแพร่ให้ผู้มาเยือนได้รับรู้ว่ามีพืชพรรณไม้สำคัญอะไรบ้าง ทั้ง 3 เส้นทางนี้พัฒนาเสร็จสมบูรณ์ในปี 2559

“แผนการดำเนินงานในพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความมือครั้งนี้ มูลนิธิฯ ยังจะร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาหลวง พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง ที่มีระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร พร้อมทั้งการพัฒนาเครือข่ายชุมชนและเยาวชน เพื่อร่วมอนุรักษ์ผืนป่าเขาหลวง”
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
ป้ายเข้าเส้นทาง
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะดำเนินงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเพิ่มเติมจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญในแต่ละภูมิภาคของประเทศ
ทั้งนี้ มูลนิธิฯ เริ่มจากการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกมณฑาธาร อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และมาขยายสู่พื้นที่ภาคใต้กับอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
ชนินทร์ กล่าวว่ากิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยาการธรรมชาติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นหนึ่งในพันธกิจขององค์กรที่กำหนดให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เอ็กโก กรุ๊ป จึงก่อตั้งมูลนิธิไทยรักษ์ป่าในปี 2545 ด้วยเจตนารมณ์เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผืนป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศให้เกิดความยั่งยืน
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีระยะเวลา 5 ปี (ปี 2560-2564) ภายใต้กรอบการดำเนินหลัก 5 ข้อ ได้แก่
1)การสื่อความหมายธรรมชาติ
2)การสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
3)การสนับสนุนงานสำรวจวิจัย และส่งเสริมบุคลากร เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
4)การสร้างเครือข่ายชุมชนและเยาวชน เพื่อการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
5)การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ และชุมชนในพื้นที่ เพื่อการมีส่วนร่วมรักษาป่าของประเทศ
ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ
เดินป่าศึกษาระบบนิเวศ เส้นทางน้ำตกพรหมโลก
ธัญญา เนติธรรมกุล
ด้าน ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
สำหรับอุทยานแห่งชาติเขาหลวงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของภาคใต้ เนื่องจากมีน้ำตกสวยงามอยู่รอบเขาหลวงถึง 15 แห่ง ได้แก่ น้ำตกกรุงชิง น้ำตกกะโรม น้ำตกพรหมโลก น้ำตกอ้ายเขียว น้ำตกยอดเหลือง น้ำตกวังลุง น้ำตกวังไม้ปีก น้ำตกท่าแพ น้ำตกสวนชัน น้ำตกสวนอาย น้ำตกเหนือฟ้า และน้ำตกกรุงนาง
ขณะที่ผืนป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบชื้น จึงมีพืชพรรณไม้ที่ชอบอากาศร้อนและชุ่มชื้น ส่วนบนยอดเขาสูงกว่า 1,000 เมตร และยอดเขาสูงสุดในภาคใต้ คือ ยอดเขาหลวง สูง 1,835 เมตร ก็จะเป็นป่าดงดิบเขาที่มีพืชพรรณชอบหนาวเย็น มีเมฆหมอกปกคลุมตลอดปี พบพืชหายาก เช่น กุหลาบขาว กุหลาบแดงมลายู มีกล้วยไม้มากกว่า 300 ชนิด พืชจำพวกเฟินกว่า 200 ชนิด เรียกได้ว่าผืนป่าเขาหลวงมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างแท้จริง
“อุทยานแห่งชาติเขาหลวงจะช่วยบอกเรื่องราวของธรรมชาติ ถ่ายทอดคุณค่าความเป็นผืนป่าต้นน้ำไปให้แก่ผู้มาท่องเที่ยวศึกษา 3 เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นวิธีการอนุรักษ์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน เพราะสามารถกระตุ้นให้ทั้งคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวรับรู้และสัมผัสได้จริง”
กำลังโหลดความคิดเห็น