xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจพอเพียง กับการบริหารเศรษฐกิจมหภาค / ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและครอบครัว หรือเป็นหลักในการบริหารประเทศจนเป็นที่ยอมรับไปในระดับโลก
ส่วนการบริหารเศรษฐกิจมหภาคก็สามารถเรียนรู้มาใช้ประโยชน์ได้ใน 3 ส่วน คือ
ส่วนแรก การถอดบทเรียนจากข้อมูลของ Our World In Data ที่ใช้ข้อมูลที่ยาวถึง 200 ปี ชี้วัดการพัฒนาที่ผ่านมาโดยรวม ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพของประชากรโลกในหลายมิติ เช่น อัตราความยากจนลดจากร้อยละ 94 เหลือร้อยละ 10 จำนวนคนที่อ่านออกเขียนได้เพิ่มจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 85 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 56
แม้ว่าภาพรวมจะดีขึ้นแต่กลับพบความแตกต่างอย่างมากระหว่างประเทศที่รวยที่สุดกับประเทศที่จนที่สุด และหากมองพัฒนาการของประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะพบความจริงว่า ผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการเติบโตของ GDP เป็นไปในทางที่ดีพอสมควร แต่ระดับอุปโภคบริโภคของประชากรโดยเฉลี่ยแล้วมีแนวโน้มที่ลดลง ในขณะเดียวกัน หนี้ของภาคครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกันค่อนข้างมาก และหากมองลึกลงไปจะพบกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่แตกต่างกันอย่างมากจนน่ากังวล ซึ่งเป็นรอยแผลจากการพัฒนาซึ่งยากที่จะกล่าวว่าสําเร็จและยั่งยืน การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สมาชิกสหประชาชาติยืนยันร่วมกันที่จะทำให้เกิด Sustainable Development Goals หรือ SDGs ใน 17 เป้าหมาย
ผมมองว่าสาเหตุการพัฒนาที่ผ่านมาของประเทศไทยไม่ยั่งยืนและไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรมี 3 ประการ คือ
1. การพัฒนาที่ผ่านมาเน้นการเจริญเติบโตเป็นหลัก การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปตามภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก ผลของการพัฒนาจึงกระจุกตัวอยู่กับคนบางกลุ่ม การใช้ GDP เป็นตัวชี้วัดหลัก ซึ่งไม่สามารถวัดผลประโยชน์ที่ตกถึงประชาชน รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติได้
2. การแก้ปัญหาระยะสั้น ที่เป็นทั้งในระดับบุคคล องค์กรและนโยบาย เช่น เมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รัฐต้องให้เงินสนับสนุน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่เพราะกลัวที่จะสูญเสียคะแนนนิยม จึงไม่สามารถยกเลิกเงินสนับสนุนได้ก็เกิดเป็นสนิมกัดกร่อนฐานะทางการเงินของประเทศ
3. การทำงานแบบแยกส่วนตามความเชี่ยวชาญหรือระดับ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ แต่เมื่อปฏิบัติจริง กลับเป็นความเชี่ยวชาญที่ปราศจากความร่วมมือ ทุกคนมุ่งมั่นทำงานเฉพาะในส่วนที่ตนรับผิดชอบ แนวคิดหรือนโยบายที่ดีหลายเรื่องจะไม่ถูกขับเคลื่อนให้สำเร็จจริงได้ เนื่องจากปัญหาความล้มเหลวในการร่วมมือ
ส่วนที่ 2 การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงกับเศรษฐกิจมหภาค เพื่อจะเป็นพยานให้กับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่เห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องของเกษตรเพียงอย่างเดียว ตัวผมเองครั้งหนึ่งมีโอกาสไปเยี่ยมทีมงานสาขาธนาคารแห่งประเทศไทยที่ภาคเหนือ เขาจัดบูธเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่อุทยานราชพฤกษ์ เชียงใหม่ เขาก็ภูมิใจมากที่ได้ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมเห็นแล้วตกใจ เพราะว่าเขาทำเป็นกระท่อมไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไร มีคนโทน้ำที่ไม่เสียเงินซื้อมา แล้วก็บอกว่านี่คือ เศรษฐกิจพอเพียง มีการทำบัญชีครัวเรือน
ประเทศไทยเคยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งเป็นผลจากการมุ่ง “สร้างความเจริญเติบโตจนลืมคำว่าพอดี” การคิดถึงผลประโยชน์ระยะสั้นจนขาดจิตสำนึกในเรื่องของความยั่งยืน ประชาชนใช้จ่ายเกินฐานะ บริษัทหลายแห่งลงทุนเกินตัว และประเทศมีหนี้จำนวนมาก เมื่อถูกโจมตีจากนักเก็งกำไร การเงินไทยก็เข้าสู่ภาวะวิกฤติ หากนำเศรษฐกิจพอเพียงมาพิจารณาจะพบว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้สอนว่าต้องไม่ลงทุน แต่สนับสนุนให้ลงทุนตามศักยภาพ เหมาะสมกับฐานะตัวเอง
การพัฒนาระบบการเงินให้เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของประเทศไทย มีการพัฒนาระบบการเงินที่สำคัญ 5 ด้าน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ การสร้างระบบธรรมาภิบาล การกระจายตัว การขยายโอกาสการเข้าถึงและการร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการวางรากฐานระบบการเงินที่มั่นคง และเอื้อให้ประชาชนเข้าถึงเงินทุนได้ทั่วถึงและเป็นธรรม
ขณะเดียวกัน “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ได้ส่งเสริมการปิดประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมองเห็นผลเสียของการปิดประเทศมากกว่าผลดี ดังพระราชดำรัสที่ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเอง 100% นี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน” การส่งเสริมให้ร่วมมือกับประเทศอื่น การร่วมมือและเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินโลกจะได้ประโยชน์มากกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่นประเทศจีนที่เคยปิดประเทศ ใช้กำแพงกีดกันการค้า แต่วันนี้ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง กล่าวในการประชุม World Economic Forum ว่า “การใช้นโยบายกีดกันการค้าก็เหมือนปิดตัวเองไว้ในห้องมืด อาจช่วยให้ปลอดจากลมและฝน แต่ก็จะทำให้ขาดแสงแดดและอากาศ”
การเปิดเสรีระบบการเงินช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 คือตัวอย่างการใช้นโยบายโดยไม่เตรียมความพร้อมก่อน ประเทศไทยกระโดดเข้าไปเป็นศูนย์กลางการเงินโดยไม่มีความพร้อม ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลตลาดทุนไทย โดยวางรากฐานระบบสถาบันการเงินให้แข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถรองรับความผันผวน และแรงกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดั่งพระราชดำรัสที่ว่า “การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้วจึงค่อยสร้างค่อยเสริมฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สองขึ้นโดยลำดับต่อไป”
การวางรากฐานธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุน เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในตลาดทุน สํานักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ผลักดันใน 3 ด้านสำคัญ คือ 1. การออกกฎระเบียบ 2. การมอบรางวัล และ 3. การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม จนปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
หลังวิกฤติการเงินปี 2540 เศรษฐกิจพอเพียงก่อให้เกิดการปรับกระบวนทัศน์ในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค และทำให้เศรษฐกิจมหภาคของไทยในภาพรวมมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน จนเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกไม่เหมือนเดิม มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และยากที่จะคาดการณ์ เทคโนโลยีมีความซับซ้อนมากขึ้น การติดต่อสื่อสารทำได้สะดวกมากขึ้น
ส่วนที่ 3 จึงเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในโลกที่เปลี่ยนไป อย่าลืมว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เฉพาะ พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2 ประการคือความรู้หลักวิชาการ และหลักคุณธรรม ซึ่งถ้าคุณธรรมได้รับการยอมรับเป็นเวลานานก็จะเป็นวัฒนธรรม และถ้าหากยุทธศาสตร์ใดถึงแม้จะดีแค่ไหนแต่ถ้าไม่ได้รับการยอมรับแล้วก็จะถูกวัฒนธรรมกลืนกินไปได้ ดังนั้น จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมแบบหักดิบก็คงไม่ได้
ประเทศไทยโชคดีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชทานแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักในการพัฒนา ซึ่งทันสมัยและนำมาปรับใช้ได้ในบริบทของโลกที่ไม่เหมือนเดิม พระองค์ไม่ได้เน้นแค่ให้ประเทศเติบโตได้ปีละมากๆ แต่ให้ความสำคัญกับคุณค่าและคุณภาพของชีวิตของคนแต่ละคนมากกว่า
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีความจำเป็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องปรับตัวให้เท่าทันโลก หลักคิดสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และวางแผนไปข้างหน้า พอเพียงไม่ได้หมายถึงให้หยุดพัฒนา เพราะจะเป็นการประมาทและไม่มีภูมิคุ้มกัน
ไม่ว่าโลกจะก้าวหน้ารวดเร็วแค่ไหน สิ่งที่ยังคงอยู่และไม่ได้หายไปไหนคือ คน เทคโนโลยีทำให้มนุษย์เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ต้องยอมรับว่าคนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองในหลายมิติ อย่างที่เทคโนโลยีไม่สามารถที่จะพัฒนาได้ การสร้างทัศนคติเรื่องการพอเพียงในการดำเนินชีวิต จะเป็นพื้นฐานสำคัญให้คนสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย   กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา
"ประเทศไทยโชคดีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชทานแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักในการพัฒนา ซึ่งทันสมัยและนำมาปรับใช้ได้ในบริบทของโลกที่ไม่เหมือนเดิม"
กำลังโหลดความคิดเห็น