xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ โชว์ลดใช้ถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อได้ถึง 90%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มาตรการงดแจกถุงฟรี-เก็บค่าถุงโครงการ Chula Zero Waste ร่วมใจลดใช้ถุงพลาสติกในมหาวิทยาลัย
เป็นการรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมมาร่วมรักษ์สิ่งแวดล้อม หันมาพกถุงผ้า หรือใช้ถุงซ้ำ ซึ่งสามารถลดปริมาณถุงพลาสติกถึง 90% จาก 132,000 ใบในเดือนตุลาคม (ก่อนเริ่มโครงการ) เหลือเพียง 13,600 ใบในเดือนเมษายน 2560
นิสิตร่วมประชาสัมพันธ์งดแจกถุงพลาสติก ในช่วงสองวันแรกที่งดแจกถุงพลาสติก (1-2 กุมภาพันธ์ 2560)
ถุง 2 บาทและป้ายและกล่องรับบริจาคถุงพลาสติกและถุงผ้าที่ไม่ใช้แล้วที่ร้านสหกรณ์จุฬาฯ สาขาคณะทันตแพทยศาสตร์
ด้วยความตระหนักถึงปัญหาผลกระทบของถุงพลาสติกและสถานการณ์ที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 5 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก โครงการ Chula Zero Waste นำโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมและสำนักบริหารระบบกายภาพจึงได้จับมือร้านสหกรณ์จุฬาฯ และบริษัทซีพีออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ดำเนินมาตรการลดและงดแจกถุงพลาสติกในร้านสหกรณ์ฯ 5 สาขาและบูธเซเว่นอีเลฟเว่น 6 สาขาในมหาวิทยาลัย โดยในช่วงสามเดือนแรกของโครงการ (พฤศจิกายน 2559 ถึงมกราคม 2560)
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste กล่าวว่า เป็นการรณรงค์ให้ชาวจุฬาฯ ลดรับถุงพลาสติกเมื่อซื้อของน้อยชิ้นซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกไปได้ 30% โดยเฉลี่ย แต่มาตรการรณรงค์ยังไม่สามารถกระตุ้นให้บุคลากรและนิสิตปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาพกถุงผ้าหรือถุงใช้ซ้ำได้มากนัก โครงการฯ จึงได้ใช้มาตรการงดแจกถุงพลาสติกฟรี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา โดยผู้ที่ต้องการถุงพลาสติก สามารถซื้อถุงชนิดย่อยสลายได้ ในราคา 2 บาท โดยโครงการฯ เป็นผู้เก็บรวบรวมเงินรายได้จากขายถุงทั้งหมดนำไปใช้สนับสนุนกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของนิสิตและบุคลากรจุฬาฯ ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นกรณีซื้อของร้อน เช่น ซาลาเปาร้อน ร้านค้ายังให้บริการถุงหิ้ว

ป้ายประชาสัมพันธ์งดแจกถุงพลาสติก ฉบับปรับปรุงที่ติดในร้านค้าที่ร่วมโครงการฯ
ในช่วงเปลี่ยนผ่าน โครงการได้จัดให้มีทางเลือกของการใช้ถุงพลาสติก หากไม่ต้องการซื้อถุงใหม่ 2 บาท ลูกค้าสามารถใช้ถุงพลาสติกที่ได้รับบริจาคได้ฟรี และร้านค้าจะแจกถุงผ้าที่ได้รับบริจาคให้กับผู้พิการและผู้ทุพพลภาพอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีบริการถุงยืม มัดจำ 10 บาทซึ่งลูกค้าสามารถยืมถุงผ้า (ถุงสปันบอนด์) ของโครงการไปใช้ใส่ของและสามารถรับเงินมัดจำคืน เมื่อนำถุงมาคืนที่ร้าน
ก่อนเริ่มมาตรการงดแจกถุง ในช่วงเดือนมกราคม 2560 โครงการฯ ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งดีเดย์งดแจกถุงพลาสติกผ่านป้าย cut out สื่อดิจิตอลและหนังสือเวียนทุกส่วนงาน รวมทั้งการสื่อสารผ่าน Facebook ของโครงการ chula zero waste ผลการดำเนินงานช่วงงดแจกถุงพลาสติก พบว่า ยอดการใช้ถุงพลาสติกลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านสหกรณ์จุฬาฯ ที่สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 99% จาก 56,000 ใบต่อเดือน (ข้อมูลเดือนตุลาคม 2559) เหลือเพียง 500 ใบต่อเดือน (ข้อมูลเดือนมีนาคมและเมษายน 2560) ส่วนบูธเซเว่นอีเลฟเว่น สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 83% ในช่วงเวลาเดียวกัน หากรวมปริมาณการใช้ถุงพลาสติกของทั้งสองร้าน พบว่า ในเดือนเมษายน 2560 มีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกอยู่ที่ 13,600 ใบ ลดลงจากยอดก่อนเริ่มโครงการ (132,600 ใบ) ถึง 89.7%
ในแง่ผลกระทบของมาตรการงดแจกถุงพลาสติกนั้น จากการสอบถามผู้จัดการร้านสหกรณ์จุฬาฯ และหัวหน้าหน่วยที่ดูแลบูธเซเว่นฯ เห็นตรงกันว่า มาตรการงดแจกถุงพลาสติกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายของร้านแต่อย่างใด โดยยอดขายจะขึ้นลงจากปัจจัยอื่น เช่น จำนวนผู้ใช้บริการที่แตกต่างกันระหว่างวันธรรมดาและเสาร์อาทิตย์ กิจกรรมพิเศษ และระยะเวลาที่นิสิตและบุคลากรอยู่ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
แสดงปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในร้านสหกรณ์ฯ และบูธเซเว่นฯ ในจุฬาฯ เดือนตุลาคม 2559 – เมษายน 2560 *หมายเหตุ:1) ตัวเลขเดือนตุลาคม 2559 เป็นปริมาณการใช้ถุงพลาสติกก่อนเริ่มโครงการ   2) เดือนมีนาคม 2560 มีงานจุฬาฯ วิชาการซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของถุงพลาสติกในบูธเซเว่นฯ
อย่างไรก็ดี การดำเนินมาตรการงดแจกถุงพลาสติกยังคงพบปัญหาอุปสรรคบางประการ ที่สำคัญคือ ลูกค้าขาจรที่เป็นบุคคลภายนอกที่เข้ามาใช้บริการในจุฬาฯ ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการและได้ต่อว่าพนักงานของร้านค้าอย่างมาก โดยอ้างว่า ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นข้างนอกยังแจกถุงพลาสติกอยู่ ทำไมจึงมีการเลือกปฏิบัติและบางรายอ้างว่า มิใช่บุคลากรจุฬาฯ ไม่จำเป็นต้องทำตามกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังพบว่า นิสิตและบุคลากรบางส่วนก็ยังไม่ได้รับทราบวัตถุประสงค์ของโครงการเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ โครงการฯ จึงได้เพิ่มมาตรการประชาสัมพันธ์มากขึ้นโดยปรับปรุงป้ายแจ้งเรื่องงดแจกถุงพลาสติกให้ชัดเจนรวมทั้งเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ให้มากขึ้น
หากพิจารณาประโยชน์ของมาตรการงดแจกถุงพลาสติกแล้ว อาจประเมินได้ว่า โครงการฯ สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขยะจากถุงพลาสติกได้ ถึง 465,900 ใบตลอดระยะเวลา 6 เดือน (พฤศจิกายน 2559 - เมษายน 2560) (สมมติปริมาณถุงพลาสติกในแต่ละเดือนเท่ากับปริมาณในเดือนตุลาคม 2559 ก่อนเริ่มโครงการ) เท่ากับว่า ชาวจุฬาฯ (และประชาชนที่มาใช้บริการและไม่รับถุง) ได้ช่วยลดความเสี่ยงของเต่าทะเลและสัตว์อื่นๆ ที่อาจต้องตายจากการกลืนกินถุงพลาสติกไปได้หลายร้อยตัวหลายพันตัว ได้ช่วยลดผลกระทบของถุงพลาสติกที่จะไปอุดตันท่อระบายน้ำและทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ รวมถึงลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะไปทำให้เกิดก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการฝังกลบและเผาขยะพลาสติก อันเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
โครงการฯ ยังคงเปิดรับบริจาคถุงพลาสติกและถุงผ้าที่ไม่ใช้แล้วจากบุคลากรจุฬาฯ และประชาชนทั่วไปเพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับลูกค้าของร้านสหกรณ์ฯ และบูธเซเว่น โดยสามารถนำมาบริจาคได้ที่กล่องรับบริจาค (Drop box) ที่ร้านสหกรณ์จุฬาฯ ทุกสาขา ทั้งนี้ ผู้ที่นำถุงพลาสติกตั้งแต่ 50 ชิ้นขึ้นไปหรือถุงผ้าตั้งแต่ 5 ชิ้นขึ้นไปมาบริจาคให้กับโครงการฯ สามารถรับสมุดโน้ตแทนคำขอบคุณจากโครงการฯ
เพื่อให้มาตรการงดแจกถุงพลาสติกประสบความสำเร็จในระยะยาวและไม่ให้พนักงานต้องเหนื่อยและเครียดกับการชี้แจงโครงการงดแจกถุงพลาสติกให้กับบุคคลภายนอก โครงการฯ เสนอให้ภาครัฐและภาคเอกชนพิจารณามาตรการงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกทุกร้านเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการงดแจกถุงในจุฬาฯ รวมทั้งในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตและมหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและนำเงินรายได้จากการขายถุงไปดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์อย่างโปร่งใส เพื่อลดแรงต้านจากประชาชน และกระตุ้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“มาตรการงดแจกถุงพลาสติกพบปัญหาลูกค้าภายนอกไม่เข้าใจ วอนสื่อช่วยประชาสัมพันธ์พร้อมเสนอให้รัฐบาลและภาคเอกชนดำเนินมาตรการงดแจกถุงในร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ ท่านสามารถติดตามรายละเอียดโครงการ Chula Zero Waste ได้ที่ Facebook: CHULA Zero Waste หรือสอบถามรายละเอียด ได้ที่ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้จัดการโครงการ โทร 02-2188217 อีเมล์: chulazerowaste@gmail.com”ดร.สุจิตรา กล่าวในที่สุด
ทั้งนี้ ข้อมูลการสำรวจของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พบว่าคนไทย 1 คนใช้ถุงพลาสติกประมาณ 8 ใบต่อวัน หากคำนวณจากจำนวนประชากรกว่า 68 ล้านคน (ไม่นับรวมประชากรแฝงและนักท่องเที่ยว) เท่ากับว่า ใน 1 ปี คนไทยใช้ถุงพลาสติกมากถึง 198,560 ล้านใบ โดยคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าถุงพลาสติกย่อยสลายยาก ใช้เวลาถึง 100 - 450 ปีกว่าจะเสื่อมสลาย สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างมากทั้งบนบกและทะเล ในแต่ละปี มีสัตว์ทะเลนับแสนตัวที่ต้องตายจากขยะพลาสติก อีกทั้งถุงพลาสติกยังเป็นประเภทขยะที่พบมากที่สุดในทะเลไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น