xs
xsm
sm
md
lg

Social Value Procurement มิติใหม่การจัดซื้อแถมช่วยสังคม / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การส่งเสริมให้เกิดกิจการเพื่อสังคมหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) นั้นนับเป็นนวัตกรรมทางสังคมลักษณะหนึ่งที่เป็น “กลไกเชิงธุรกิจ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาสังคม” ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จแล้วในยุโรป โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษที่มีแล้วถึง 70,000 กว่ากิจการ
จึงต้องมีกลยุทธ์และกลวิธีการทำงานอย่างมีรูปแบบองค์กรและแผนธุรกิจดังที่ประสบความสำเร็จในกิจการธุรกิจที่ยั่งยืนได้
คณะผู้แทนจากสมาคม Workability Thailand ได้เข้าพบ พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ที่ 2 จากซ้าย) เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสมาคมฯ และกิจการเพื่อสังคมสำหรับผู้พิการ กับกระทรวงพาณิชย์  พร้อมมอบของที่ระลึกจาก Buy Social Thailand
จุดเด่นของ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” หรือ SE ก็คือ มีวัตถุประสงค์ดี หากมีความพร้อมด้วยแผนและวิธีการดำเนินงานที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและคุณธรรม ผลกำไรที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพื่อผู้ถือหุ้นแต่นำไปลงทุนขยายงานหรือสนับสนุนโครงการส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ โดยไม่ต้องรอแต่เงินบริจาค จึงเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม
ยุคนี้องค์กรที่มีจิตสำนึก CSR เริ่มปรับกลยุทธ์การช่วยเหลือหรือส่งเสริมสังคมจากรูปแบบเชิงสังคมสงเคราะห์ (Charity) โดยผนึกแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-Process) และคิดโครงการที่สร้างให้เกิดคุณค่าร่วม CSV (Creating Share Value) เพื่อผลลัพธ์ที่ดีทั้งกิจการและสังคม
ขณะที่ธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ก็มีแนวทางนี้โดยพยายามพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อส่งมอบคุณค่าทางสังคมที่ตอบโจทย์ผู้ซื้อเป็น “จุดขาย”
การจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงผลดีต่อการช่วยสังคมได้ด้วย (Social Impact Procurement) จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างมาก เพราะพลังการซื้อจะส่งผลดีต่อสังคมด้วย
ในโลกตะวันตกนำโดยอังกฤษ สก็อตแลนด์ รวมทั้งแคนนาดา จึงมีนโยบายกำหนดสัดส่วนการใช้งบประมาณจัดซื้อของภาครัฐที่สร้างคุณค่าแก่สังคม (Social Value) เพื่อสนับสนุนโครงการ “Buy Social” โดยเปิดช่องทางการตลาดให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นมูลค่าราว 425 พันล้านปอนด์ (18.5 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 3.4% ของ GDP ในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยกฎหมายเปิดช่องให้เกณฑ์การจัดซื้อครอบคลุมถึงมิติทางสังคม เช่น ในหมวดการจัดจ้างงานคนพิการ, ผู้ยากไร้, คนตกงานซึ่งในกรณีดังกล่าวมีสัดส่วนอยู่ที่ 30% ของพนักงานทั้งหมด เป็นต้น
ทั้งนี้ SE ผู้ให้บริการต้องรายงานผลดรต่อสังคม (Social Impact Report) ควบคู่การให้บริการตามสัญญาจัดจ้างปกติ

ผลิตภัณฑ์ ฺBuy Social
ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการสนับสนุนของภาครัฐเต็มที่แบบต่างประเทศ ดังนั้น การที่ SE จะเข้าสู่การแข่งขันในตลาดหลัก จึงต้องมีตัวช่วย เช่น การสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่าง Demand ผู้ซื้อ และ Supply คือ SE การเกิดโครงการ Buy Social Thailand ในประเทศไทยจึงเป็นการต่อยอดจาก Buy Social ในระดับสากล ที่ริเริ่มโดย SE ในประเทศอังกฤษและขยายเครือข่ายไปทั่วโลก
แนวโน้มการจัดซื้อเพื่อส่งเสริมสังคม (Social Impact Procurement) โดยผู้ซื้อของ Buy Social จะได้รับพ่วงคุณค่าทางสังคม (Social Value) นอกเหนือไปจาก “สินค้าและบริการคุณภาพ”

สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ กรรมการผู้จัดการไนท์คอร์ป เอส.อี จำกัด เปิดเผยว่า NICEได้ทำหน้าที่เป็นกลไกส่งเสริมการตลาดโดยจัดทำรายการสินค้าและบริการเด่นของ SE ทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช่จ่าย เพื่อสร้างชุมชนสินค้าบริการ SE น้ำดี และยังมุ่งพัฒนา 2 ด้านคือ ทั้งสายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อให้เป็น“องค์กรมาตรฐาน ผลิตของดีมีคุณภาพ” นำระบบมาตรฐานมาประเมินและพัฒนา SE ให้มีความโปร่งใสในการนำเสนอคุณค่าแก่สังคม
ขณะที่ด้านผู้ซื้อก็กระตุ้น Demand โดยใช้กลยุทธ์ B2B เจาะตลาดองค์กร โดยสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ด้วยการชูประเด็น “Social Impact Procurement” รวมถึง B2C คือเข้าสู่ผู้บริโภคโดยการเชื่อมต่อกับระบบการตลาดออนไลน์และช่องทางร้านค้า ด้วยการสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ชี้แจงว่า กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนและส่งเสริม SE จากผลิตภัณฑ์ของผู้พิการ ในโครงการ “Buy Social” เช่น สมุดโน้ต (สมุดทำมือ) ที่รองโทรศัพท์ ตะกร้าสาน ข้าวสามสี สบู่อโรม่า สบู่ข้าว หมอนรองคอ หมอนอิง คุกกี้ รวมทั้งสมุดทำมือ ผู้ที่สนใจสามารถสนับสนุนสินค้าเหล่านี้ได้ที่ร้าน The Cube Shop ซึ่งมี 2 สาขา ได้แก่ กรุงเทพ (สำเพ็ง 2 เขตบางแค) และระยอง (อ.นิคมพัฒนา) รวมทั้ง ช่องทางออนไลน์ ได้แก่ Facebook: Buy Social Thailand และ www.buysocialthailand.com
ส่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันที ได้แก่ 1. การเชื่อมโยงขยายตลาด อาทิ ตลาดชุมชน ตลาดต้องชม ตลาดธงฟ้าประชารัฐ รวมถึง งานแสดงสินค้าต่างๆ โดยเลือกสรรผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับตลาดนั้น เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้มากขึ้น 2. การพัฒนาสินค้า/บรรจุภัณฑ์/เครื่องหมายการค้า รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจและผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจ และสร้างสรรคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์
สำหรับระยะกลางถึงยาว กระทรวงพาณิชย์จะช่วยส่งเสริม SE คนพิการ ให้ใช้ความต้องการของตลาดนำธุรกิจให้มากขึ้น โดยเริ่มจากการศึกษาความต้องการตลาด แล้วนำไปพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ สร้างคุณค่า (Value Creation) โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป้าหมาย
รูปแบบธุรกิจของ Buy Social นั้นมุ่งทำงานกับชุมชนเพื่อเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ซื้อสินค้าและบริการ ที่ได้ร่วมสร้างคุณค่าสังคมที่ดีควบคู่กัน จึงได้สร้างสร้างกลไกการสื่อสารให้ทั้งผู้ซื้อและ SE ผู้ขาย เช่นการประเมินผลดีต่อสังคม (Social Impact) อีกทั้งยังมีบริการสนับสนุนการตลาด การพัฒนาสินค้า การสร้างแบรนด์ ซึ่งทำร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ
NISE ยังมีรายได้สำคัญจากการบริหารโครงการ เพื่อการสร้างระบบและพัฒนาสินค้าให้มาตรฐานแก่กลุ่ม SE ที่ไม่มีกำลังซื้อ เช่นการทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการส่งเสริม SE คนพิการ ผ่าน “โครงการของคนดี 77 จังหวัด ร่วมใจไทยทำได้ Amazing Ability Thailand” เพื่อยกระดับสินค้าและบริการของคนพิการ/หรือส่งเสริมคนพิการให้เป็นที่ยอมรับของสังคม เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจและเพิ่มมูลค่าของสินค้าบริการและสร้างช่องทางการเข้าถึงสินค้าบริการเพื่อสังคม
การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้แก่ระดับชุมชน โดยได้ร่วมกับ “Workability Thailand” ในการส่งเสริมกลุ่ม SE คนพิการ เพื่อสร้างรายได้จากการจ้างเนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้องจ้างงานคนพิการร้อยละ 1 ของจำนวนพนักงาน ที่ภาครัฐและภาคเอกชน ยังมีความต้องการจ้างเพิ่มเติมจากสัดส่วนที่สามารถจ้างได้แล้วปัจจุบันถึงกว่า 30,000 คนต่อปี
ผู้บริหารวิสาหกิจเพื่อสังคม NISE ชี้ประเด็นความท้าทายที่สำคัญ คือ 1. นโยบายจากภาครัฐและการปฏิบัติที่ต้องสอดรับกันทั้งสองระบบ ด้วยการเพิ่มระเบียบที่เอื้อต่อการจัดซื้อจัดจ้าง SE เพราะหากแข่งขันกันที่ราคา SE อาจไม่ได้รับเลือกได้ 2. “การสร้างมูลค่าเพิ่ม” “การสร้างความแตกต่าง” จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ SE แข่งขันได้ 3. ควรมีการตรวจสอบติดตามผลดีด้านสังคม (Social Impact) ด้วยมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “การจัดซื้อเพื่อสังคม” เติบโต เพราะต่างไปจากการช่วยเหลือในลักษณะบริจาคแบบเก่า

ข้อคิด..

ขณะที่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจที่มีความคิดก้าวหน้าตามทันกระแสโลก ตระหนักว่า การมุ่งสร้างกำไรสูงสุดไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะ “ความยั่งยืน” (Sustainability) จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงต้อง “ยั่งยืน” ร่วมไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังคำเก๋ที่ว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive)
กิจการที่มีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อยู่ใน DNA ก็จะมีทั้งความเก่งและความดี ย่อมทำได้ทั้งการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมของตัวเอง หรือสนับสนุน SE ที่มีอยู่ หรือจะบริจาคทรัพยากรสนับสนุนก็ย่อมได้
การสนับสนุนด้วยการจัดซื้อผลผลิต หรือบริการดีๆ ที่ SE อย่างกรณีผลผลิตจากคนพิการดังตัวอย่างข้างต้น ที่เป็นโครงการ “Buy Social” ที่ส่งเสริมให้เกิดการซื้อที่ช่วยสังคมให้ดีด้วย ก็เป็นการสนับสนุนที่ได้ของดีมีคุณภาพ แถมด้วยกุศลที่เกิดจากการช่วยสังคมคนพิการเป็นผลทวีคูณ
ทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการเอกชนก็ต้องจัดซื้อจัดจ้างอยู่แล้ว จึงสามารถใช้วิธีการสร้างคุณค่า 2 ต่อ เช่นนี้ได้
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น