เพื่อสืบสานน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย มุ่งเน้นการให้ความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
โครงการไอคอนสยาม ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา และองค์กรพันธมิตรได้แก่ กองทัพเรือ, กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรมเจ้าท่า, สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, สมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา และชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกันแถลงเปิดโครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน”
การดำเนินโครงการรักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฯ ในระยะแรกจะใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี โดยจะสำรวจ ศึกษาลักษณะกายภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะวางแผนการบำบัดน้ำเน่าเสียได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งให้ความรู้กับชาวบ้านในพื้นที่ ในการดูแลรักษาแหล่งน้ำ โดยได้เริ่มดำเนินการในเบื้องต้นไปแล้วในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจและทำความสะอาดคลองวัดทองเพลง และคลองสมเด็จเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังมีคลองเป้าหมายอีก ได้แก่ คลองวัดสุวรรณ คลองสาน คลองวัดทอง คลองลัดมะยมและคลองมหาสวัสดิ์
สุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่าไอคอนสยามให้ความสำคัญในการร่วมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน จึงดำเนินพันธกิจต่อสัคม 3 เรื่องคือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบ มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและส่งเสริมต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนอย่างยั่งยืน และการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงามที่อยู่คู่กับวิถีคนริมน้ำเจ้าพระยามาช้านาน
ไอคอนสยามร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนา และองค์กรพันธมิตรต่างๆ เปิดตัวโครงการ“รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบ ในพื้นที่คลองเป้าหมายจำนวนคลอง 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 เขตของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตคลองสาน เขตตลิ่งชัน และเขตบางกอกน้อย ภายในเดือนมีนาคม-ธันวาคม 2560
ศาสตราจารย์ ดร.เกษม จันทร์แก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิชัยพัฒนาและผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า มูลนิธิชัยพัฒนาจะสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียจากศาสตร์ของพระราชาเป็นหลัก ซึ่งความจริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มการบำบัดน้ำเสียตั้งแต่ปี 2533 องค์ความรู้ต่างๆ ของมูลนิธิฯ มีมากพอที่จะนำมาใช้ ซึ่งหลักในการดำเนินโครงการจะยึดตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า “...ให้ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เป็นเทคโนโลยีอย่างง่าย ใครๆ ก็สามารถทำได้ และมีวัสดุหาได้ในท้องที่...” โดยใช้สาหร่ายสังเคราะห์แสงเพื่อเติมออกซิเจนให้จุลินทรีย์หายใจและย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย และระบบที่สองคือ ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย โดยใช้พืชและหญ้าที่มีคุณสมบัติกรองและดูดซับของเสียที่อยู่ในน้ำ แต่อย่างไรก้ตามการดำเนินโครงการในเวลาเพียง 1 ปีอาจจะสำเร็จได้ยาก เพราะความสกปรกของน้ำค่อนข้างสูงอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี และคาดว่าจะมีการสานต่อ
สำหรับการบำบัดน้ำเสียจากชุมชน ซึ่งเป็นผลจากการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เกิดสารอินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันเป็นองค์ประกอบหลักในน้ำเสีย ซึ่งน้ำเสียเหล่านี้สามารถบำบัดได้ โดยการประยุกต์ใช้แนวการบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ โดยอาศัยแสงแดด และสายลม เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำให้มีความเหมาะสม สำหรับจุลินทรีย์ และสาหร่ายสีเขียวในน้ำ ซึ่งช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ และป้องกันไม่ให้เกิดก๊าซที่มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นผลจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน ส่งผลรบกวนต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ในเขตริมคลองอีกด้วย
นอกจากนี้ภายในงานแถลงข่าวยังมีการสาธิตการทำถังดักไขมันด้วยตัวเอง รวมทั้งแจกถังดักไขมันให้กับแขกที่มาร่วมงานด้วย เพื่อช่วยกันลดปริมาณไขมัน เศษอาหาร และขยะที่อยู่ในน้ำทิ้ง ก่อนจะลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมไปถึงการแจกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติในการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยเยาวชนทูตน้อยไอคอนสยาม