ณ ผืนป่ากลุ่ม “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ซึ่งเป็น "มรดกโลกทางธรรมชาติ" ด้วยที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า จึงเป็นแหล่งผลิตโอโซน เสมือนปอดขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นลมหายใจของพวกเราทุกคน
ผืนป่ากลุ่ม “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงจากสภาพป่าหลายแบบ ตั้งแต่ ป่าดงดิบ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และเป็นต้นน้ำลำธารสำคัญๆ ทั้งแม่น้ำนครนายก, แม่น้ำปราจีนบุรี, ลำตะคอง, ห้วยมวกเหล็ก, และแม่น้ำมูลซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขง รวมถึงเป็นแหล่งพบสัตว์ป่าหายาก เช่น เสือโคร่ง ซึ่งปัจจุบันเสือโคร่งในธรรมชาติทั่วโลกมีอยู่ไม่ถึง 4,000 ตัวเท่านั้น โดยเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางสำนักอุทยานแห่งชาติเพิ่งมีการแถลงข่าวว่า ตรวจพบเสือโคร่งในธรรมชาติบริเวณป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์เป็นจำนวนถึง 18 ตัว ถือเป็นข่าวดีในรอบ 15 ปีทีเดียว ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะการลาดตระเวนที่มีคุณภาพนั่นเอง และสำหรับที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็ยังมีสัตว์ป่ามากมายทั้ง ช้างป่า ชะนี กวาง หมาใน จระเข้ ลิง นกเงือก เป็นต้น
แต่ขณะเดียวกันเมื่อผืนป่ามีขุมทรัพย์ทางธรรมชาติมากมาย ก็กลายเป็นที่หมายปองของกลุ่มคนที่เห็นแก่ตัว อยากตักตวงผลประโยชน์จากผืนป่า โดยเฉพาะอุทยานเขาใหญ่แห่งนี้ ได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ มีป่าทุกประเภท เต็มไปด้วยไม้ที่หลายคนต้องการอย่างไม้พยุง รวมไปถึงสัตว์ป่าหายากมากมาย
ทำให้มองกันไปยังผู้ทำหน้าที่ปกป้องผืนป่า ที่เราเรียกพวกเขาว่า “ผู้พิทักษ์ป่า” ซึ่งเป็นคนของกรมป่าไม้ ทั้งที่ความจริงคนไทยทุกคนต่างหากล้วนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ เพราะที่นี่คือผืนป่ามรดกโลกของประเทศไทย
ภารกิจของผู้พิทักษ์ป่า
ในการเดินป่าลาดตระเวนป่าเพื่อปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าตามภารกิจ หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าต้องเดินลาดตระเวนครั้งละนานถึง 3-7 วัน แบกเป้ที่มีน้ำหนักหลายสิบกิโล ทั้งน้ำดื่ม ข้าวสารอาหารแห้งสำหรับยังชีพ เปลสนาม เสื้อผ้า1-2 ชุด ตลอดจนยารักษาโรค เดินกันไม่น้อยกว่าวันละ 10 กิโลเมตร
ทุกครั้งที่เข้าป่า จึงเป็นการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามมากมายทั้งผู้ร้ายที่ลักลอบตัดไม้ เช่นไม้พยุงที่มีราคาสูง การลักลอบฆ่าสัตว์ป่า เช่น กวาง กระทิง เป็นต้น เจ้าหน้าที่จะต้องเตรียมพร้อมในทุกๆด้าน เช่น ฝึกการปลดอาวุธด้วยมือเปล่า เรียนรู้เรื่องพืชสมุนไพรและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นศึกษาการหาแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น วิธีดื่มน้ำจากการคายไอน้ำของใบไม้ หรือการนำน้ำขี้ช้างมาดื่มในยามฉุกเฉิน เป็นต้น
และทุกครั้งในการเดินลาดตระเวน จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์จากการเรียนรู้ธรรมชาติ ซึ่งก็ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เช่นความเชื่อที่ได้รับการถ่ายทอดต่อๆกันมา หากหลงทางแล้วอยากออกจากป่าให้เดินตามรอยเท้าของกระทิง เหตุที่เชื่อกันเช่นนี้เพราะวิเคราะห์จากธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิด กระทิงมีเขาเพราะฉะนั้นมันมักอาศัยอยู่ในที่โล่งๆ ที่ไม่มีเถาวัลย์หรือต้นไม้มาเกี่ยวเขาของมัน จึงเชื่อว่ามันชอบหากินอยู่ในที่โล่ง ถ้าเราหลงอยู่ในป่ารกๆ ให้เดินตามรอยเท้ากระทิงก็จะมีโอกาสออกจากป่าได้ แต่ถ้าอยากหาแหล่งน้ำ ต้องตามรอยเท้าหมูป่าเพราะหมูป่าเป็นสัตว์ที่ชอบแช่ปลัก จึงเป็นไปได้สูงว่ามันมักจะเดินไปหาแหล่งน้ำอยู่บ่อยๆ นี่คือความเชื่อที่ไม่มีบทพิสูจน์จริงเท็จ หากเป็นเรื่องราวและประสบการณ์ที่ผู้พิทักษ์ป่าบอกต่อๆ กันมา
แต่ปัจจุบันนี้การเดินป่ามีเครื่องมือช่วยมากมายเช่น GPS ซึ่งจะช่วยหาพิกัดที่ยืนและทิศทางการลาดตระเวนได้แม่นยำขึ้น แต่อย่างไรก็ตามหากมีเหตุฉุกเฉิน GPS ใช้ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยเรื่องการศึกษาภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์ แผนที่ เข็มทิศหรือความเชื่อตามประสบการณ์เหล่านี้ เพื่อช่วยให้ผู้พิทักษ์ป่าสามารถเอาตัวรอดออกมาจากป่าได้
จะเห็นว่าภารกิจของ“ผู้พิทักษ์ป่า” ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทุกครั้งที่ก้าวขาเข้าไปในป่ามันคือความเสี่ยง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้พิทักษ์ป่าทุกคน ที่ได้ปกป้องดูแลสุขภาพผืนป่าให้แข็งแรง
ไบโอฟาร์ม ร่วมช่วย
กับโครงการ “ตู้ยา BIOPHARM เพื่อชุมชน”
บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด หนึ่งในองค์กรเอกชนที่ได้อาสาเป็นส่วนเล็กๆ ในการดูแลสุขภาพของคนที่ดูแลผืนป่า เสมือนการดูแลโอบอุ้มกันเป็นทอดๆ ไบโอฟาร์มเข้าไปช่วยดูแลสุขภาพของผู้พิทักษ์ป่า เพื่อให้ผู้พิทักษ์ป่าได้ดูแลสุขภาพป่า ขณะเดียวกันผืนป่าก็จะได้ดูแลสุขภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติ และธรรมชาติก็จะมอบลมหายใจและสุขภาพที่ดีให้กับพวกเราทุกคน
ไบโอฟาร์มสานต่อโครงการ “ตู้ยา BIOPHARM เพื่อชุมชน” ทุกปี โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 ได้เข้าไปเยี่ยมเยียน และมอบตู้ยาพร้อมเวชภัณฑ์เบื้องต้นที่จำเป็นให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ ได้ใช้ยาดีมีคุณภาพทัดเทียมยาต้นแบบจากต่างประเทศ
ในปีนี้ ได้เพิ่มรายการยาที่น่าจะตอบสนองความต้องการของเจ้าหน้าที่มากขึ้น เช่น ยาแก้แพ้อากาศ ครีมฆ่าเชื้อรา ครีมแก้คัน ผื่น ยาถ่ายพยาธิ ยาล้างตายาล้างแผล ไฮโดรเจนเปอร์อออกไซด์ นอกเหนือจากนี้ยังมีรายการยาที่เคยมอบให้ตามแนวทางของโครงการปีที่ 1-2 คือ พลาสเตอร์แบบผ้า, สำลีแผ่น, ครีมแก้ปวดเมื่อย แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ, ยาใส่แผลฆ่าเชื้อ ยาแก้โรคกระเพาะ และยาแก้ปวด เป็นต้น
โครงการตู้ยาไบโอฟาร์มเพื่อชุมชนนั้นตั้งเป้าหมายว่าในทุกๆปี จะแจกตู้ยาพร้อมเวชภัณฑ์ที่จำเป็น จำนวน 100 ตู้ ซึ่งในปีนี้ก็ได้มอบให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ดูแลพื้นที่ป่าตะวันออก รวม 5 ผืนป่าด้วยกัน คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จำนวน 29 ตู้ และมอบให้กับอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากลุ่ม “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” อีก 4 ผืนป่ารวมทั้งสิ้น 76 ตู้ พร้อมทั้งชุมชนอื่นๆรอบอุทยานจนครบ 100 ตู้ และลงพื้นที่เพื่อเติมเวชภัณฑ์ให้กับตู้ยาเดิมในสองปีที่ผ่านมาด้วย นั่นคือในปีแรกที่ชุมชนปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และในปีที่สองที่อุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของผืนป่าตะวันตก เช่น เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าสลักพระ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จ.กาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติพุเตย จ.สุพรรณบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นอกจากจะมียาและชุดปฐมพยาบาลเพิ่มขึ้นเพื่อไว้ประจำห้องพยาบาลที่ทำการอุทยานฯ ในการดูแลนักท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุ เช่น ลื่นล้มจากการขึ้นลงน้ำตก ฯลฯ
ครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า “ปัจจุบันการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เป็นการทำงานแบบ National Park 4.0 เพื่อให้สอดคล้องกับยุค Thailand 4.0 โดยมีการพัฒนาคุณภาพและจำนวนของกล้อง CCTV แบบเดียวกับที่ดักสุ่มดูผู้ก่อการร้าย ซึ่งจะช่วยเฝ้าระวังภัยคุกคามทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ป่าได้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงพัฒนาการลาดตะเวน สู่การลาดตระเวนแบบมีคุณภาพที่เรียกว่า Smart Patrol โดยใช้ GPS นำทาง เราจะรู้เลยว่าเจ้าหน้าที่ลาดตะเวนไปยังจุดไหนบ้าง มีแบบฟอร์มให้จดบันทึกว่าพบเจออะไรบ้าง รอยเท้าสัตว์ขนาดเท่าไหร่เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์อายุและประเภทของสัตว์ป่า นอกจากจะช่วยตรวจตราการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้แล้ว ยังถือเป็นการดูแลความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอีกด้วย หากภัยคุกคามอยู่ตรงจุดใด ไม่ว่าจะเป็นคนร้ายหรือการรวมกลุ่มของสัตว์ป่า ก็สามารถแจ้งเตือนและขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ซึ่งน่าจะช่วยให้การดูแลผืนป่าของพวกเราทุกคนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
การดูแลผืนป่าเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีวันหยุด จะเพิกเฉยหรือละทิ้งไม่ได้แม้สักวันเดียว การที่มีคนมองเห็นถึงความสำคัญของหน้าที่ตรงนี้ ถือเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ ทำให้เขารู้สึกว่ากำลังปฏิบัติภารกิจที่ยิ่งใหญ่ เกิดความภาคภูมิใจและมีกำลังใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น แต่แท้จริงแล้วคนที่ดูแลผืนป่าได้ดีที่สุดไม่ใช่เจ้าหน้าที่ แต่คือพวกเราทุกคน เพราะป่าคือแหล่งกำเนิดชีวิต คือลมหายใจของทุกคน และเป็นแหล่งผลิตความสุขให้พวกเรา
"ป่าเป็นของพวกเราทุกคน เราจึงควรรักป่า หวงแหนป่าและที่สำคัญควรช่วยกันอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติ ถ้าคนรักษ์ป่า ป่าก็จะรักทุกคน เพราะถ้าคนปกป้องป่า ป่าก็จะปกป้องทุกคนเช่นกัน” ประโยคทิ้งท้ายจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่