xs
xsm
sm
md
lg

8 ยุทธศาสตร์ พัฒนาสมุนไพรครบวงจร “อภัยภูเบศร” ชูความพร้อมเป็นต้นแบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลเดินเครื่องบูรณาการ 5 กระทรวง ปรับองคาพยพ ตั้งเป้าพัฒนาระบบการตลาด พัฒนาสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจ หวังสร้างรายได้หลักพันล้าน และสนับสนุนอภัยภูเบศรเป็น Business Innovation

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้สมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดยารักษาโรค เน้นการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน ตลอดจนส่งเสริมการเกษตรเพาะปลูกสมุนไพรในแต่ละชุมชน ช่วยกระจายโอกาสและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ในการกระจายรายได้สู่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย จะต้องมีการบูรณาการทำงานของ 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการพัฒนาแผนงานโครงการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เน้นให้มีการพัฒนานวัตกรรม หรือ Value creation ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด จำเป็นต้องมีการทำแผนการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบในระยะตั้งแต่ 1-5 ปี รองรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 กำหนดการพัฒนาเมืองสมุนไพรเป็นกลไกการทำงานระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร สร้างความมั่นคงในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม มีการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของกลุ่มประเทศ CLMV อาเซียนที่เหลือ และตลาดโลกต่อไป
พร้อมกันนี้สนับสนุนผลักดันให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็น Business Innovation ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกได้ เพื่อให้เป็นกรณีศึกษากับผู้ประกอบการสมุนไพรไทยรายอื่นๆ ได้เรียนรู้เส้นทางความสำเร็จ และสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจในต่างประเทศ


8 กลยุทธ์ ขับเคลื่อน
นายแพทย์จรัญ บุญฤทธิการ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอภัยภูเบศรให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายให้มีการพัฒนาด้านสมุนไพร รวมทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้เราเห็นแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนขึ้น โดยใช้กลไกทั้งประสิทธิผล การมีส่วนร่วมและการเติบโตแบบสีเขียว เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์
เรามีการกลยุทธ์ในการดำเนินการ 8 ข้อ ได้แก่ เพิ่มช่องทางการกระจายสินค้า เพิ่มการยอมรับในบุคลากรทางการแพทย์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์หีบห่อให้แข่งขันได้ พัฒนาตลาดโดยบูรณาการกับการท่องเที่ยว ขยายตลาดต่างประเทศร่วมกับเครือข่าย สร้างงานวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาการตลาดออนไลน์ และสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพ (Health Hub)
หากว่าการดำเนินงานทั้ง 8 ยุทธศาสตร์นี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้อภัยภูเบศรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 400-500 ล้านบาท รวมกับยอดเดิมที่ทำได้คือ 380 ล้านบาท ก็จะเกือบถึงพันล้านตามที่นายกรัฐมนตรีอยากเห็นประเทศไทยก้าวไปถึงจุดนั้น ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นปีละ 200,000 บาท/ปี
ภญ.ดร.สุภาภรณ์  ปิติพร
เพิ่มคุณค่า-คุณภาพห่วงโซ่สมุนไพร
ด้าน ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้ก่อตั้งสมุนไพรอภัยภูเบศร กล่าวถึงผลตอบแทนทางสังคมที่จะได้รับจากการดำเนินงานของอภัยภูเบศรว่า จากการศึกษาของเราพบว่า อภัยภูเบศรได้ก่อให้เกิดผลตอบแทนต่อสังคมในคนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงานในพื้นที่ หมอยาพื้นบ้าน เยาวชน บุคลากรทางสาธารณสุข เนื่องจากอภัยภูเบศรมีความสามารถในการเชื่อมร้อยเครือข่ายบนห่วงโซ่คุณค่าให้เห็นทิศทางเดียวกัน แต่จากโจทย์ที่รัฐบาลให้มานับว่าเป็นสิ่งท้าทายที่อภัยภูเบศรกำลังเผชิญ ครั้งนี้เราต้องปรับองค์กรครั้งใหญ่ พัฒนาระบบการจัดการตลาดที่มีประสิทธิภาพในการเชื่อมร้อย ความต้องการทั่วโลกกับซัปพลายของเรา พัฒนานวัตกรรมบนเทคโนโลยีและความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทยมี รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย
ขณะนี้เรามีเครือข่ายทั้งเอกชนที่จะพัฒนาตลาดต่างประเทศร่วมกัน เครือข่ายวิชาการที่จะพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน เครือข่ายภาครัฐที่จะดำเนินการช่วยกันในการผลักดันนโยบายและมาตรฐานสมุนไพร มีประมาณ 30 หน่วยงานที่ร่วมมือกันทำงานตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่เห็นความสำคัญของสมุนไพร เพื่อช่วยเชื่อมต่อให้เครือข่ายต่างๆได้มาทำงานร่วมกัน ซึ่งภายใน 1 ปีข้างหน้า เราคาดว่าจะมีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ทำตลาดในอาเซียนได้อย่างแน่นอน
ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ
เมืองนวัตกรรมอาหารขานรับ

ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาสมุนไพรไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากล สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด เมืองนวัตกรรมอาหารได้ลงนามความร่วมมือกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาสมุนไพรในรูปแบบของนวัตกรรมอาหาร โดยนำร่องด้วยสมุนไพรรางจืด ซึ่งมีงานวิจัยที่ทำโดยคนไทยมากที่สุดในโลก และยังไม่มีผลงานวิจัยที่ต่างชาติทำไว้ก่อน ทั้งนี้ สามารถต่อยอดและพัฒนาเป็นอาหารได้ในช่วงเวลา 1 ปี
เมืองนวัตกรรมอาหาร ได้ประสานหน่วยงานเครือข่าย ที่จะช่วยพัฒนาได้แก่ หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จะช่วยเรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เนื่องจาก วว.มีหน่วยงาน ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทยเพื่อการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทยมีการวิจัยและพัฒนา ฝึกอบรมและสัมมนา และงานบริการวิเคราะห์ทดสอบที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และวัสดุบรรจุภัณฑ์ เช่น กระดาษ พลาสติก โลหะ สำหรับรองรับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น เครื่องดื่ม ชาชง แคปซูล ฯลฯ รวมทั้งมีหน่วยบริการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทดสอบ ที่จะทำงานร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ในการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพของอาหาร การทดสอบความปลอดภัยของอาหาร การรับรองระบบมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมอาหารทุกระบบ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์อาหาร
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เทคโนโลยีนาโนปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีความสม่ำเสมอทั้งในด้านของการเก็บรักษา การนำส่ง และการออกฤทธิ์ที่ดีขึ้น โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวอีกว่า ในเร็วๆ นี้ ฟู๊ดอินโนโพลิสจะลงทุนร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) 30 ล้านบาท เพื่อเช่าระบบลำเลียงแสงพัฒนานวัตกรรมอาหารโดยเฉพาะ โดยแสงซินโครตรอนสามารถตรวจสอบโครงสร้างสารอาหารระดับโมเลกุล เช่น โครงสร้างโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรตและธาตุอาหารอื่นๆ ซึ่งสัมพันธ์กับคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร รวมทั้งสามารถตรวจวิเคราะห์ปริมาณและความสามารถในการออกฤทธ์ของสารออกฤทธิ์ต่างๆ ในระดับเซลล์ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ สารช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน รวมทั้งวิเคราะห์สิ่งปนเปื้อนในระดับความเข้มข้นต่ำๆ เช่น โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง และจุลินทรีย์ก่อโรค ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มาก ซึ่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สามารถเข้าไปใช้บริการได้ไม่เฉพาะรางจืดเท่านั้น แต่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ ได้
นอกจากหน่วยงานเครือข่ายภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ฟู้ดอินโนโพลิส ยังมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเรื่องการวิจัยและพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงการพัฒนาอาหารในอีกระดับคือ การประเมินประสาทสัมผัสด้านอาหาร ซึ่งจะหนุนเรื่องการส่งออก โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเครือข่ายด้านการประเมินคุณภาพโดยประสาทสัมผัสซึ่งมีสมาชิกอยู่กว่า 300 คน จะร่วมกันดำเนินการ และให้บริการศูนย์เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์คุณภาพทางประสาทสัมผัสของเมืองนวัตกรรมอาหาร แก่ผู้ประกอบการด้านอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของการขึ้นทะเบียน ได้ประสานกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็พร้อมที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือผลักดันสมุนไพรของไทยให้ไปสู่ตลาดโลกให้ได้ตามนโยบายของรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น