คณะผู้บริหารจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี เข้าพบดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และ ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการ สวทน. ในฐานะ ซีอีโอ เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู๊ดอินโนโพลิส เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือในอนาคต หลังจากที่ จุฬาฯ เป็นหนึ่งในหลายมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเป็นเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหารเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า เมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่ สวทน.ได้ขับเคลื่อนเติบโตไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นการดึงดูดบริษัทหรือหน่วยงานวิจัยพัฒนาด้านอาหารชั้นนำของโลกมาลงทุนในกิจการด้านนวัตกรรมอาหารในประเทศไทย การสนับสนุนเอกชนไทยตั้งแต่ สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี จนถึงบริษัทขนาดใหญ่เพื่อสร้างรายได้ใหม่ของประเทศด้วยสินค้าและบริการจากนวัตกรรมอาหารมูลค่าสูง รวมทั้งพัฒนาบุคลากรความรู้ชั้นสูงด้านเกษตรอาหาร โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร
“จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความพร้อมในการพัฒนายกระดับและแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมและธุรกิจอาหารของประเทศในทุกระดับ ตั้งแต่ต้นน้ำในขั้นตอนของกระบวนการผลิต กลางน้ำ ในขั้นตอนกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบ จนถึงปลายน้ำ ในขั้นตอนบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ และมาตรฐานความปลอดภัย”
ด้าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจุฬาฯ เป็นศูนย์กลางการให้บริการทางด้านวิจัยพัฒนาและวิชาการ รวมถึง เป็นคลังเทคโนโลยีให้กับกลุ่ม เอสเอ็มอี อุตสาหกรรมธุรกิจอาหารทั้งฮาลาลและทั่วไป เพื่อช่วยเหลือ แก้ปัญหา และวิจัยร่วม ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมด้านการผลิตอาหารและผลิตบุคลากร เพื่อให้ได้อาหารที่มีมาตรฐานส่งออก คุณภาพดีและปลอดภัย มีความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นต้นแบบเทคโนโลยีสะอาด นอกจากนี้ยังมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ เครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ และพื้นที่ในการอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในทุกระดับตั้งแต่ในห้องปฏิบัติการจนถึงการทดลองในโรงงานต้นแบบ และออกสู่ตลาดจริงทั้งที่ พญาไท และ จ.สระบุรี ทั้งนี้ อาหารส่งออกจากประเทศไทย ต้องปลอดภัยเท่านั้น จึงจะสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งจุฬาฯ มีความพร้อมที่ดำเนินการในเรื่องนี้
“ดีใจที่มีองค์กรที่เข้ามากำกับดูแลทั้งห่วงโซ่คุณค่า ของอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารของโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ทั้งด้านการวิจัยพัฒนา ส่งเสริม เอสเอ็มอี ตลอดจนผลิตบุคคลกรที่มีคุณภาพ เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยให้ได้มาตรฐานส่งออกอย่างปลอดภัย มีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน รวมไปถึงเป็นต้นแบบของเทคโนโลยีที่สะอาด” อธิการบดี จุฬาฯ กล่าว
ขณะที่ ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า สำหรับการเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมความปลอดภัยอาหารนั้น จากการได้หารือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศและหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการวิจัยและพัฒนาด้านนี้ แต่ยังขาดการทำงานที่เป็นระบบและเชื่อมโยงกัน ระหว่างหน่วยงานทำวิจัยและพัฒนา หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานหรือกำกับดูแล และภาคเอกชนโดยเฉพาะในส่วนของเอสเอ็มอีที่ยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยอาหารมากนัก ดังนั้นเมืองนวัตกรรมอาหารจึงได้จัดประชุมหารือไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาถึงแนวทางในการดำเนินการดังกล่าว และคาดว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนายวัตกรรมอาหารของประเทศได้ในเร็วๆนี้ โดยจะเริ่มจากการนำงานวิจัยด้านความปลอดภัยอาหารที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ มาประเมินศักยภาพและกำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนหรือพัฒนาเป็นวิธีการประเมินและตรวจสอบความปลอดภัยอาหารที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป