xs
xsm
sm
md
lg

พ่อของแผ่นดิน แบบอย่างแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม /ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



แท้จริงคำว่าสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ก็คือปัจจัยแห่งชีวิตของเรา ทรัพยากรธรรมชาติประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือก็คือองค์ประกอบของร่างกายเรา และรวมไปถึงปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ล้วนมาจากสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น
แต่เมื่อถูกผลักดันด้วยกระแสบริโภคนิยมก็เกิดการทำลายสิ่งเหล่านี้ ทำลายทรัพยากรที่เป็นทุนของชีวิต ถึง ณ วันนี้ ทรัพยากรเหล่านั้นใกล้จะหมดลงแล้ว จากจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น แต่ทรัพยากรธรรมชาติกลับลดลง และลดลง ดังนั้น ถ้าเราไม่เริ่มใส่ใจต่อการใช้ทรัพยากร มนุษย์ก็ต้องเผชิญกับวิกฤตที่ยากจะคาดเดาได้
ทรัพยากรบนโลกนี้ต้องจัดการส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน และต้องจัดการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นไปเรื่อยๆ ดังนั้นทำอย่างไรให้สิ่งที่มีวันนี้ พรุ่งนี้ยังมีอยู่และมีต่อไปเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาฟื้นฟู รวมถึงกระบวนการทั้งหมด อะไรที่หมดไปให้ฟื้นฟูกลับมา ที่ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยให้ประหยัด ทำกันได้หรือไม่ อย่างป่าไม้เป็นเรื่องที่เห็นชัดเจนมาก ใช้จนหมดไป ไม่ปลูกทดแทน และผลสะท้อนก็กลับมายังมนุษย์ สิ่งใดใช้ไปก็ต้องทดแทน สิ่งใดหมดไปก็ต้องฟื้นฟู เราควรต้องหันกลับมาทำจริงจังเพื่อเป็นการต่อชีวิตของเรา และหมายถึงชีวิตลูกหลานของเราด้วย
ในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ ได้มีรับสั่งว่า “เราจะครองแผ่นดิน” ทรงใช้คำว่า “ครอง” แทนคำว่าปกครอง ทรงใช้ความรัก ความเมตตา ความรับผิดชอบในการดูแลแผ่นดิน ซึ่งแผ่นดินก็ประกอบไปด้วยทรัพยากรทั้งหลายทั้งปวงที่ได้กล่าวไป รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติด้วย เรื่องที่พระองค์รับสั่ง 70 - 80% เกี่ยวกับน้ำ และยังมีเรื่องของดิน รวมถึงการนำหญ้าแฝกมาใช้

เพราะฉะนั้นตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ทรงทุ่มเทรักษาปัจจัยแห่งชีวิตเราไว้ และในความเป็นจริงการรักษาดิน น้ำ ลม ไฟ ก็คือรักษาประเทศ รักษาแผ่นดิน เพราะหากไม่มีประเทศ เราไม่สามารถมีวันนี้ได้ และก็ไม่มีชีวิตของเรา พระองค์ท่านได้ทรงทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้ออกมาในรูปของโครงการ น่าเสียใจและน่าเสียดายที่คนไทยเห็นเป็นเพียงโครงการเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงทั้งหมดนั้นคือบทเรียน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำความเข้าใจอย่างไรในบทเรียนเหล่านี้ แล้วเข้าถึงการกระทำ ผลสุดท้ายการพัฒนาก็จะยั่งยืน
หลายๆ คนอาจมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของขยะ เรื่องของน้ำเสีย แต่สำหรับผม ผมมองว่าเป็นเรื่องของ “มนุษย์” เพราะทุกปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมาจากมนุษย์ทั้งสิ้น ใช้ทรัพยากรทุกอย่างมากเกินความจำเป็น อย่างไม่ระมัดระวัง เพราะฉะนั้นทำอย่างไรจึงจะฟื้นฟูเอาสิ่งที่มนุษย์ใช้หมดไปกลับคืนมา ในลักษณะของธรรมาภิบาล จำเป็นต้องใช้ทุกอย่าง อย่างระมัดระวังและรักษา น้ำทุกหยดต้องบริหารให้มีคุณค่า ต้นไม้ทุกต้นอย่าเห็นคุณค่าว่าเป็นเงินทอง ตัดทำลายเสียหมดสิ้น ดินทุกตารางนิ้วมีคุณค่าต่อชีวิต ไม่ใช่บุกรุกป่าไปยึดถือมาเป็นกรรมสิทธิ์ จะเห็นได้ว่าทุกปัญหาเกิดจากมนุษย์
ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องไปที่ต้นตอซึ่งก็คือ มนุษย์ จำเป็นต้องพัฒนาฟื้นฟูให้ยั่งยืน เป็นแนวความคิดที่ต้องใช้สติปัญญาในการบริหารจัดการทุกสิ่งให้กลับมาเป็นประโยชน์อีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้แสดงให้เห็นหมดแล้ว ทุกอย่างมีวิธีการ แต่เราทุกคนต้องปฏิบัติ และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการปลูกฝังจิตสำนึก โดยต้องเริ่มจากเด็ก เริ่มจากการศึกษา เริ่มในโรงเรียน ถ้าเด็กๆ เราไม่ปลูกฝังเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ไม่ปลูกฝังวิธีคิดแบบใหม่ วิธีปฏิบัติแบบใหม่ โตขึ้นไปก็ทำลายเหมือนเดิม

อันที่จริงการจะเริ่มต้นชีวิตอย่างไร จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเสียก่อน รู้จักความพอประมาณ ประมาณต่อสถานะตัวเองกับสภาพแวดล้อม ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสั่งสอนไว้ ว่าไปที่ไหนให้รู้จักสิ่งที่อยู่รอบตัว ให้รู้จักนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ และนำไปสู่ประโยชน์สุขดังที่พระองค์ได้รับสั่งไว้


“ตลอดระยะเวลา70 ปีที่ทรงครองราชย์ ทรงทุ่มเทรักษาปัจจัยแห่งชีวิตเราไว้ และในความเป็นจริงการรักษาดิน น้ำ ลม ไฟ ก็คือรักษาประเทศ รักษาแผ่นดิน”

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

กำลังโหลดความคิดเห็น