xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ โชว์ความสำเร็จปรับปรุงดินด้วยหญ้าแฝก “ลดก๊าซมีเทน-เพิ่มผลผลิต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผศ.ดร.กนกพร บุญส่ง อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับพระราชทานรางวัล TVNI (The Vetiver Network International) ด้าน Agriculture-Soil and Water Conservation
ผศ.ดร.กนกพร บุญส่ง ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ผลงานวิจัยเรื่อง “ผลของการปลูกและไถกลบหญ้าแฝกต่อสมบัติของดิน ผลผลิตข้าวและการปลดปล่อยก๊าซมีเทน เป็นการนำเอาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงดินมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงดินนาที่เสื่อมโทรม ซึ่งเป็นผลทำให้คุณภาพดินนาดีขึ้น นำไปสู่การเพิ่มผลผลิตข้าวที่สูงขึ้น และยังทำให้การปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าวอันเป็นสาเหตุสำคัญด้านหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนลดต่ำลงด้วย ซึ่งการวิจัยนี้ทำให้เห็นผลจริงในทางปฏิบัติ ผลการวิจัยสามารถนำไปขยายผลและเผยแพร่เกษตรกรได้

โครงการวิจัยนี้ได้ศึกษาในแปลงนาอินทรีย์ของเกษตรกรพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ใกล้กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ด้วยวิธีการหว่านน้ำตม ผลการศึกษาในแปลงนาที่ผ่านการปรับปรุงดินด้วยการปลูกและไถกลบหญ้าแฝก ดินมีความหนาแน่นรวมสูงขึ้น ต้นข้าวมีการเจริญเติบโต มวลชีวภาพ และผลผลิตสูงขึ้น และมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนต่ำกว่าแปลงที่ไม่ได้ปรับปรุงดินด้วยหญ้าแฝก ผลการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่า การปรับปรุงดินด้วยการปลูกและไถกลบหญ้าแฝกเป็นเทคนิคที่ประสบผลสำเร็จทั้งในด้านของการปรับปรุงคุณภาพดิน เพิ่มผลผลิตข้าว และลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทน

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยเรื่องนี้ได้รับรางวัล TVNI Award สาขา Agriculture, Soil and Water Conservation จาก TVNI ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบหญ้าแฝกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น