เดินหน้ากระตุ้นผู้ผลิตและผู้บริโภค นำผลิตภัณฑ์ต้นแบบจาก 5 บริษัท ผ่านการสร้างคุณค่าจากการออกแบบเศษวัสดุเหลือใช้หรือขยะโรงงานเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก โชว์ในงาน TIFF 2016 หวังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการเปิดมุมมองพัฒนาการผลิต พร้อมกับการตระหนักในการใช้ทรัพยากรอย่างทิ้งขว้างและฟุ่มเฟือย สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์เชิงพาณิชย์
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญโครงการ “อัพไซคลิ่ง : สร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้ด้วยการออกแบบ (Upcycling : Value Creation with Design)” โดยความร่วมมือกับ ITAP, สวทช และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตตั้งรับกับความต้องการของลูกค้า ทั้งในการบริหารจัดการกับขยะ การออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืน และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ
โดยในงาน Thailand International Furniture Fair 2016 (TIFF 2016) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ อาคารชาเลนเจอร์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้นำผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากเศษวัสดุของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ 5 บริษัทมาจัดแสดง ได้แก่ บริษัท ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ อินดรัสตรี จำกัด, บริษัท อินเตอร์เฟอร์นิเจอร์ เอเชีย จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด โมรัล เอ็นจิเนียยริ่ง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด บัวคำสกลนครก่อสร้าง และห้างหุ้นส่วนจำกัด รักชาติพาณิชย์ ซึ่งผลงานต้นแบบจากเศษวัสดุเหลือทิ้งต่างๆ เป็นการพัฒนาเศษวัสดุอย่างสร้างสรรค์ ผ่านเทคนิค แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการออกแบบ เพื่อออกสู่ตลาดสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รายแรก “บริษัท ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ อินดัสตรี จำกัด” เป็นบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ห้องครัวทั้งในรูปแบบเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป และแบบ Built-In และมีโชว์รูมจัดจำหน่ายที่ร้านบุญถาวรทุกสาขา มีเศษเหลือจากการผลิตชุดครัวและเคาน์เตอร์ เช่น หินสังเคราะห์ กระเบื้องที่มีตำหนิและหินแกรนิต สำหรับผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ผ่านการออกแบบและนำออกสู่ตลาด เช่น “Origami Table” เป็นโต๊ะกาแฟจากเศษหินสังเคราะห์ ที่พัฒนาจากแนวคิดการพับกระดาษของญี่ปุ่น กระบวนการพัฒนายังเป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการควบคู่กับการออกแบบไปด้วย เนื่องจากผลงานนี้มีการตัดต่อมุมที่หลากหลาย ต้องพัฒนาทักษะการขึ้นรูปอย่างมาก
“Barcode Stool” เป็นที่นั่งภายในอาคาร ที่ทำจากเศษหินสังเคราะห์ 2 สี ที่มีปริมาณเหลือใช้ที่ต่อเนื่อง และเหลือจากการผลิตสินค้าในช่วงเวลาเดียวกัน การออกแบบพยายามเน้นการใช้เศษที่เป็นขอบแคบมาประกอบกันเพื่อให้สามารถนำเศษที่มีขนาดเล็กกลับมาใช้งานได้ แม้เก้าอี้นี้จะดูเบาบางแต่แข็งแรงเนื่องจากมีคานซ่อนอยู่ใต้ที่นั่ง อีกทั้งง่ายต่อการผลิต ทำให้ต้นทุนไม่สูง
“Inlay Outdoor” เป็นที่นั่งในสวน ที่ทำจากเศษหินแกรนิต 3 สี ที่มีปริมาณเหลือใช้ต่อเนื่อง และเหลือจากการผลิตสินค้าในช่วงเวลาเดียวกัน การออกแบบพยายามเน้นการใช้เศษที่เป็นขอบแคบมาประกอบกันเพื่อให้สามารถนำเศษที่มีขนาดเล็กกลับมาใช้งานได้ แม้จะดูเบาบางแต่แข็งแรงต่อสภาวะอากาศ เนื่องจากเป็นหินจริงและมีคานซ่อนอยู่ใต้ที่นั่ง
“Half Clock” นาฬิกาจากเศษวัสดุหินเทียม ที่เหลือจากอุตสาหกรรมการผลิต โดยนำเศษหินเทียมขนาดเล็กที่มีสีต่างกันมาประกอบบริเวณขอบและขัดให้เรียบเสมอกัน สร้างลวดลายด้วยตัววัสดุเอง นำเสนอความเรียบง่ายทั้งในแง่การออกแบบและการผลิต
รายที่สอง “บริษัท อินเตอร์เฟอร์นิเจอร์ เอเชีย จำกัด” เป็นการนำเศษเหลือจากไม้ MDF ซึ่งเป็นไม้อีกเกรดหนึ่งที่ต่างจากไม้จริงทั่วไป มาออกแบบสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ชุด “Marker Collection” เป็นการออกแบบที่ต้องการให้ชิ้นงานที่พัฒนาจากเศษวัสดุกลายเป็นหนึ่งเดียว โดยอธิบายผ่านการใช้เส้นสายของขอบขาเก้าอี้ทั้ง 4 ขา ให้เป็นเส้นยาวจนถึงหน้าเก้าอี้คล้ายการขีดปากกาเป็นเครื่องหมายให้ตัดกับสีผิวของชิ้นงาน มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.Grace Table โต๊ะนักเรียนที่ทำจากแผ่น MDF เหลือใช้จากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ติดตั้งอาคารชุด โดยออกแบบให้หน้าโต๊ะสามารถเห็นเส้นสายของขาโต๊ะและคานคล้ายเหล็ก I-Beam ซึ่งเป็นจุดเด่นของชิ้นงาน 2.Marker Bench และ3.Marker Stool
ชุด “Tertis Collection” เป็นชุดโต๊ะจากเศษวัสดุ MDF ออกแบบโดยเน้นความแข็งแรง ใช้วิธีการยึดหลบคานเพื่อหลบสายตาของผู้ใช้งาน โดยขอบซอกแซกของชุดเก้าอี้สามารถต่อตามยาวได้เรื่อยๆ อีกทั้งเส้นยกระดับเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของชิ้นงาน ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวและป้องกันอุปกรณ์ตกหล่นของเครื่องใช้อีกด้วย
รายที่สาม “ห้างหุ้นส่วนจำกัด บัวคำสกลนครก่อสร้าง” ดำเนินธุรกิจรับแปรรูปงานไม้ ไม้ปาร์เกต์ และพื้นภายนอก ชุกประตู-หน้าต่าง ลูกกรงฉลุ ห้องซาวนา และเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้ง ขายวัสดุก่อสร้าง มีเศษไม้เหลือจากการผลิตจำนวนมาก หลากหลายชนิดและเป็นไม้ที่มีคุณภาพ สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามโครงการนี้ ได้นำเศษไม้เหลือจากโรงงาน มาออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่น่าใช้ เช่น ชุด “Tiptoe Collection” เป็นชุดเฟอร์นิเจอร์จากเศษไม้อาคาดิสที่หนาแต่สั้น โดยใช้การประกบและยึดไม้สั้นเป็นสามแถวเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยาว มีการเว้นช่องว่างเป็นจังหวะเพื่อให้ดูเบา ส่วนปลายขามีเพียงไม้ชิ้นกลางยื่นออกมาแตะพื้นดูคล้ายการเขย่งเท้า ทำให้ชิ้นงานดูเบาขึ้น
ชุด “Cross Collection” แนวคิดเกิดจากการนำเศษไม้แดงสำหรับทำฝาบานประตูหน้าต่างที่เป็นแท่งยาว มีหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสมาประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงแม้มีขนาดที่เล็กมาก จึงใช้การขัดกันของเศษไม้เพื่อเสริมโครงสร้างของขาให้มีเอกลักษณ์และเพิ่มความแข็งแรงของชิ้นงาน
“Alta” โต๊ะหมู่บูชาที่ต้องการให้มีรูปลักษณ์เข้ากับยุคสมัย มีลักษณะโปร่งด้วยโครงสร้างเหล็ก และใช้เศษไม้อิโนกิซึ่งมีกลิ่นหอมมาประกอบเป็นฐานรองรับพระพุทธรูป และ “Aesthetic Sauna” เป็นห้องอบซาวนาที่ทำจากเศษไม้อิโนกิ โดยออกแบบให้รูปทรงแต่ละด้านแตกต่างกันคล้ายงานประติมากรรม ผนังด้านบนเป็นกระจกเพื่อให้แสงส่องผ่านเข้ามาและสามารถเปิดระบายอากาศหลังการใช้งาน
รายที่สี่ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด โมรัล เอ็นจิเนียริ่ง” เป็นผู้ผลิตงานโลหะที่เน้นสินค้าประณีต เช่น spare parts for furniture, handles, lamp based มีเศษเหล็กเหลือจากการผลิตชิ้นงานเป็นจำนวนมากจึงต้องการนำกลับมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ผลิตภัณฑ์กึ่งงานประติมากรรมที่ใช้งานได้จริงและมีเอกลักษณ์ชัดเจน นำไปสู่การสร้างแบรนด์ “PLAI” เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์
ยกตัวอย่าง “Terrain I” เป็นงานที่มีพื้นฐานความคิดด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมีศิลปะ เป็นงานออกแบบที่ต้องการใช้เศษเหล็กที่นำเรื่องราวของสภาพภูมิประเทศมาเป็นแรงบันดาลใจ มีการเล่าเรื่องภูมิประเทศผ่านวิถีชีวิตชุมชนโดยใช้หมู่บ้านเป็นองค์ประกอบในรายละเอียดของผลงาน และจากการคำนึงถึงความเปราะบางของธรรมชาติ จึงจัดเรียงองค์ประกอบของวัสดุให้ดูโปร่งเบา ยึดติดกันด้วยปลายแหลมเพื่อเปิดช่องว่างให้กว้างและมองผ่านได้ทั่วชิ้นงาน
“Mon Table” เป็นโต๊ะข้างทรงรังผึ้งที่ประกอบกันเป็นชุด 3 ชิ้น ผลิตจากเศษเหล็กที่เหลือจากการผลิตที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้ว นำมาออกแบบเป็นโต๊ะที่มีการใช้งานหลากหลาย มีช่องใส่ของที่ลึกลงไปเล็กน้อย ส่วนขาสามารถถอดประกอบได้เพื่อง่ายต่อการขนส่ง และสลับสีขาและชิ้นส่วนหน้าโต๊ะได้ตามต้องการ และ”Like a Bird” เป็นผลิตภัณฑ์กึ่งประติมากรรม ทำจากเศษเหล็กทรงเสี้ยวพระจันทร์ที่ให้ความรู้สึกถึงการโบยบินของนก การประกอบดูบางเบาและแข็งแรงสามารถใช้แขวนสิ่งของต่างๆ
รายที่ห้า “ห้างหุ้นส่วนจำกัด รักชาติพาณิชย์” ผู้ผลิตเสื่อ ซึ่งใช้พลาสติกรีไซเคิล (PP) เป็นวัตถุดิบ มีเศษพลาสติกเหลือจากการผลิตเป็นจำนวนมากและหลากหลายรูปแบบ โดยได้จดทะเบียนแบรนด์ AGORA เป็นแบรนด์ใหม่เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีลวดลาย สีสัน และการออกแบบ ที่แตกต่างจากเสื่อที่ผลิตอยู่ในปัจจุบัน
ยกตัวอย่าง “Two Tone” ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% โดยเลือกใช้เทคนิคที่เรียบง่าย เน้นใช้คู่สีที่ทันสมัย เป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเสื่อและวัสดุเหลือใช้ สามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์ Athleisure ที่กำลังมาแรงในหมู่คนเมืองรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในสุขภาพ การออกกำลังกาย และการใช้ชีวิตกลางแจ้ง
“Beach Bag Collection” ออกแบบให้มีรูปทรงที่ใช้งานง่าย โดยใช้เทคนิคการพับและเย็บ เพื่อให้ได้รูปทรงของกระเป๋า มีปากเปิดกว้างและก้นกระเป๋าแข็งแรงจากการใช้เสื่อผืนเดียว
“Twinpins Collection” เพื่อสื่อสารข้อความ More Ideas, Less Waste โดยออกแบบเป็นเข็มกลัดที่แสดงความงามของเสื่อ สามารถติดบนหมวก กระเป๋า เสื้อ รองเท้า ฯลฯ โดยนำเข็มขัดรัดท่อ (Pipe Clamp) วัสดุในงานก่อสร้าง มาชุบโครเมียมเพิ่มความงามและคุณค่าให้ชิ้นงาน มาประกอบทำให้ได้เข็มกลัดที่มีรูปร่างเหมือนโบว์ไทด์ และเหมือนม้วนเสื่อเล็กๆ เข้าคู่กัน
“Mad Mat Collection” เครื่องประดับที่มาจากแนวคิดแบบ Futuristic ที่แสดงออกผ่านสีสันและลวดลาย Graphic ผสมผสานความขัดแย้งกันของเสื่อที่ดูเป็นพื้นบ้านล้าสมัย แต่เมื่อแกะเสื่อออกเป็นเส้นๆ แล้วนำมาต่อลวดลายกับสีอื่นๆ กลับทำให้ดูแปลกตาและทันสมัย มุ่งนำเสนอให้คนไทยหันมานิยมใช้สินค้าไทย
อีกชุดที่น่าสนใจคือ “Seaweed Lamp Collection” เป็นชุดผลิตภัณฑ์โคมไฟ ผลิตจากเศษพลาสติกเส้นสั้นเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการผลิตเสื่อ โดยใช้เทคนิคการรีดให้ความร้อน การออกแบบได้แรงบันดาลใจจากสาหร่ายทะเลที่มีสีสันมากมายและให้ความรู้สึกพลิ้วไหวใต้ท้องทะเล ทำให้ได้แสงที่ออกมาหลากหลายจากรอบด้าน