xs
xsm
sm
md
lg

บจ.ไทยไต่ระดับ DJSI ตามทันกติกาโลกยุคใหม่ / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระยะนี้วงการธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดหุ้นจะมีการสื่อสารการตลาด ในประเด็นการประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ขึ้นแท่นเป็นสมาชิกของกลุ่มดัชนีแห่งความยั่งยืน หรือ DJSI ประจำปี 2558
แน่นอนครับสำหรับบริษัทในตลาดทุนไทยที่ผ่านเกณฑ์ การประเมินประจำปีและได้เป็นสมาชิก DJSI ก็น่าภูมิใจที่ได้ผ่านการรับรองด้วย “มาตรฐานโลก” ว่าได้ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
นั่นคือมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่สร้างผลประกอบที่ดีพร้อมกับคำนึงถึงการส่งผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 3 มิติ จะเป็นผลให้ลดความเสี่ยงและเกิด “ความยั่งยืน” (Sustainability)
บดินทร์ อูนากูล
บริษัทจดทะเบียนที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ในปีนี้ แชมป์เก่าปีที่แล้วยังคงติดกลุ่มทั้ง 10 บริษัท และมีเพิ่มใหม่อีก 3 บริษัทคือ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) รวมเป็น 13 บริษัทที่ขึ้นแท่นดัชนี DJSI ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets
ขณะเดียวกัน ก็มี 4 บริษัทที่ติดกลุ่มดัชนี DJSI World ซึ่งคัดบริษัทที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงเข้าเกณฑ์ และตัดเฉพาะคะแนน 10% แรกเข้าเป็นสมาชิกซึ่งเครือปตท. ติดกลุ่มนี้ถึง 3 บริษัท และยังมีกติกายกย่องบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุดแต่ละธุรกิจอุตสาหกรรมอีกด้วย
ดังเช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือเครือ SCG เป็นที่ 1 ของโลก สาขาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเป็นปีที่ 5 ขณะที่ บมจ.ไทยออยล์ ก็ภูมิใจที่ได้รับคะแนนสูงสุด ด้านความยั่งยืนในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานของโลก (Energy Industry Group Leader) อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เป็นต้น
สรุปบริษัทที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิก DJSI 2015 ได้แก่

•กลุ่มดัชนี DJSI World 4 บริษัท ได้แก่ 1) บมจ. ปตท. (PTT) 2) บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 3) บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ 4) บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)

•กลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets 13 บริษัท ได้แก่ 1) บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) 2) บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) 3) บมจ. บ้านปู (BANPU) 4) บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) 5) บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) 6) บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) 7) บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) 8) บมจ. ปตท. (PTT) 9) บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 10) บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 11) บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 12) บมจ. ไทยออยล์ (TOP) และ 13) บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF)

บดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า ดัชนีความยั่งยืน DJSI ปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 3 บริษัท ไทยจึงเป็นประเทศที่มีบจ. ได้รับคัดเลือกเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets นับว่าเป็นไปตามแผนงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนา บจ. ให้ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ภายใต้กรอบบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการยกย่องบจ. ที่ได้เป็นสมาชิกของ DJSI เพื่อให้เกิดการรับรู้และสนใจเข้ารับการประเมินมากขึ้น ผลปรากฏว่าในปีนี้มีบริษัทจดทะเบียนตอบแบบสอบถามข้อมูลเข้าร่วมรับการประเมินมากถึง 23 บริษัทจากจำนวน 34 บริษัทที่มีศักยภาพและได้รับเชิญเข้าร่วมการประเมิน หรือคิดเป็น 68% ในขณะที่เมื่อปีที่ผ่านมามีการตอบรับเพียง 48%
ข้อคิด....
ถ้าจะถามว่ากลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) มีความสำคัญอย่างไรก็ต้องพิจารณาในแง่ เป็นมาตรฐานการวัดความยั่งยืนของธุรกิจสถาบันแรกของโลกซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นความร่วมมือของ RobecoSAM และ กลุ่มดัชนีเอสแอนด์พี ดาวโจนส์ ในการประเมินผลการดำเนินงานที่เน้นผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของบริษัทจดทะเบียนของตลาดชั้นนำทั่วโลก
ทั้งนี้ โดยคัดเลือกบริษัทกว่า 3,000 บริษัทในตลาดทุนทั่วโลก ที่โดดเด่นมากที่สุด 2,500 บริษัท และจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เด่นสุด 800 บริษัท โดยพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดและการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อเข้าไปเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี DJSI ซึ่งจะมีการประเมินและทบทวนเกณฑ์พิจารณาให้เหมาะสมทุกปี

เมื่อ DJSI เป็นดัชนีหลักทรัพย์ที่คัดบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ผ่านการประเมินความยั่งยืนนี่เอง กองทุนต่างๆ จึงใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน
นับวันกติกาโลกจะให้ความสำคัญใน กิจการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและคุณธรรม ในการเลือกคบ-ค้าและลงทุน สถาบันอิสระต่างๆ จึงใช้เกณฑ์การประเมินมาตรฐานด้านต่างๆ เช่น DJSI มุ่งความยั่งยืน และแนวปฏิบัติการจัดทำรายงานตามหลัก GRI จึงใช้อ้างอิงเพื่อตรวจสอบและทบทวน เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของหลักเกณฑ์ยิ่งขึ้น
ผู้นำองค์กรที่ใฝ่ดี รักความเจริญก้าวหน้า ที่มั่นคงยั่งยืน จึงพากันตื่นตัวที่จะเรียนรู้กติกาโลกยุคใหม่และปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น