ตามรายงานของ Routledge ชี้ว่าภาคท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนเศรษฐกิจกรีน ผ่านการปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน เน้นลดภาวะโลกร้อน และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ที่ผ่านมาบทบาทภาคการท่องเที่ยว ยังคงเป็นภาคที่มีความสำคัญยิ่งในการส่งเสริมวาระเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องของประเทศต่างๆ ได้หันมาให้ความใส่ใจและพยายามหาแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เน้นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมทางธุรกิจที่จะใส่ใจในผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวมีความก้าวหน้าในการพัฒนาธุรกิจสู่เศรษฐกิจกรีนอย่างรวดเร็วกว่าภาคธุรกิจอื่นมาจาก
ประการแรก ความเข้าใจและตระหนักในแนวคิดของเศรษฐกิจกรีนที่เชื่อมโยงมาถึงธุรกิจการท่องเที่ยวค่อนข้างชัดเจน
ประการที่สอง การสร้างสรรค์ความรับผิดชอบของธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องมีให้เพียงพอต่อการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ประการที่สาม การพัฒนาของเทคโนโลยีที่รองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อย่างเพียงพอ ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวสามารถจัดแพกเกจทัวร์เชิงอนุรักษ์ที่เป็นที่ต้องการและยอมรับของนักท่องเที่ยวได้
ตามรายงานของ Journal of Cleaner Production (Elsevier) ได้ยกตัวอย่าง "โมเดลการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจกรีนของอินโดนีเซีย" พบว่า เน้นการทำกิจกรรมที่ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก จากการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบของแหล่งท่องเที่ยว โดยเน้นการยึดโยงกับการลดการสร้างภาวะก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากร และการบริหารชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในองค์รวม
สิ่งที่เป็นจุดเด่นของโมเดลการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย คือ การสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจท่องเที่ยวทุกภาคส่วน ซึ่งใช้ได้ผลดีในแหล่งท่องเที่ยวหลักของอินโดนีเซียอย่าง "บาหลี" ที่มี Roadmap for Bali Tourism for Green Growth 2050