แม้ว่าผู้ประกอบการในธุรกิจประเภทต่างๆ จะใช้ความพยายามและแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมให้ออกมาเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า เพื่อเป็นที่ยอมรับของสังคมและสาธารณชน แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง
ช่องทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวังว่าจะช่วยให้สถานการณ์ของกิจการดีขึ้น คือ การลองอิงกรอบแนวคิด ระดับโลกล่าสุดที่ออกใหม่ ที่เรียกว่า Global Reporting Initiative หรือ GRI G4 Guidelines และกรอบแนวทางใหม่ที่เรียกว่า International Integrated Reporting (IR) Framework ที่ออกมาใช้โดย International Integrated Reporting Council
กรอบแนวคิดทั้งสองกรอบระบุว่า กิจการต้องเปิดเผยแนวความคิดของกิจการในการจัดการกับความเสี่ยงและโอกาสสำคัญของตน โดยศาสตาจารย์จากฮาร์วาร์ด บิซิเนส สคูล Robert Eccles พิจารณาจากประเด็นสำคัญในส่วนต่อไปนี้
ประเด็นที่1 กิจการต้องชี้ให้เห็นว่า การดำเนินงานของกิจการมีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเด็นใดที่สำคัญที่สุดเรียงตามลำดับโดยทำการค้นหาและระบุผลกระทบให้ชัดเจน และเมื่อได้แล้ว ก็ให้นำเอาประเด็นของผลกระทบนั้นๆ มาจัดวางกลยุทธ์ที่แสดงให้เห็นว่ากิจการมีความมุ่งมั่นในการตอบสนองรับความต้องการให้รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการพิจารณาค้นหาและระบุผลกระทบนี้เป็นการมองภาพตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า ที่รวมเอากิจการในห่วงโซ่ทั้งหมดมาอยู่ในวงจรด้วยตั้งแต่ซัปพลายเออร์ไปจนถึงลูกค้าหรือผู้บริโภค
ที่มาของข้อมูลในการวิเคราะห์ความรับผิดชอบของกิจการต่อสังคมที่มาจากรูปแบบและลักษณะการดำเนินงานของแต่ละกิจการมาจาก (ก) งานวิจัย หรือ (ข) จาก Benchmarking ใน GRI. G4 กำหนดให้กิจการพิจารณาขอบเขตของผลกระทบของกิจการต่อสังคมแยกรายวัตถุดิบ ทั้งส่วนที่กิจการควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ หรือทั้งภายในและภายนอก เช่น การนำเอาน้ำมันมาเป็นวัตถุดิบในกิจการ ก็ย่อมแสดงว่าการดำเนินงานมีผลกระทบต่อปริมาณน้ำในโลกด้วย ปัจจุบันมีเครื่องมือมาช่วยฝึกการวิเคราะห์เรื่องนี้ชื่อ Sustainability Accounting Standards Board (SASB) ที่วางมาตรฐานการวิเคราะห์รายสาขาธุรกิจ
ประเด็นที่ 2 ทุกกิจการต้องแสดงให้เห็นถึงการหารือ ปรึกษา การคิดร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภายในและภายนอกกิจการ เรื่องการดึงเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมามีส่วนร่วมมีความสำคัญที่สุดในบรรดาองค์ประกอบทั้งหลาย และแยกออกจากการทำกิจกรรมประชาวิจารณ์ทั่วไปและตามปกติของกิจการ
เริ่มจากการที่กิจการต้องเรียงลำดับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามความสำคัญ โดยมีเหตุผลประกอบการแต่ละกรณีอย่างชัดเจน และทำการวิจัยการหาข้อมูลให้เห็นความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อการดำเนินงานของกิจการ รวมถึงการเพิ่มโอกาสที่จะร่วมมือกันในอนาคต
ประเด็นที่ 3 การพิจารณาประเด็นความยั่งยืนต้องมาจากบนลงล่าง ไม่ใช่ล่างขึ้นบน กิจการจึงต้องวางความรับผิดรับชอบในระดับคณะกรรมการและระดับผู้บริหารให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงสร้างของกิจการ ให้สอดส่องในระดับบน และต้องเชื่อมโยงกับการตัดสินใจในระดับฝ่ายจัดการด้วย และส่วนหนึ่งของการเปิดเผยด้านความโปร่งใสที่ได้รับความสนใจจากตลาดมากขึ้น คือ การกระจายอำนาจการตัดสินใจในกิจการ เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนการกำกับดูแลที่ดี