xs
xsm
sm
md
lg

“ชุมชนบ้านลิ่มทอง” ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ แก้วิกฤตน้ำแล้งน้ำหลากที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย ดร. รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ และมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย โดย นันทิวัต ธรรมหทัย กรรมการ ร่วมกับชาวบ้านปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดการพังทะลายของหน้าดิน บริเวณแก้มลิงบ่อใหม่ ณ ตำบลลำไทรโยงที่เริ่มดำเนินการในปีนี้ อันเป็นองค์ความรู้ที่ขยายจากบ้านลิ่มทอง
ดร. รอยล จิตรดอน และ นันทิวัต ธรรมหทัย
•ที่ชุมชนบ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ในวันนี้ มีน้ำท่าใช้ได้ตลอดปีด้วยการทำแก้มลิงและเก็บกักน้ำในคลองส่งน้ำมากกว่า 852 ล้านลิตร ซึ่งแตกต่างจากเมื่อ 9 ปีย้อนหลังโดยสิ้นเชิง
•จากผลสำเร็จถูกขยายผลไปสู่ชุมชนใกล้เคียงรวม 42 หมู่บ้านใน 5 ตำบล จนถือเป็นชุมชนตัวอย่างด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ
อาสาสมัครพลังบวกของโคคา-โคลา กว่า 300 คน จัดกิจกรรมสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น 5 ตัว
ฝายที่ร่วมกันสร้างเสร็จ จะช่วยชะลอน้ำหลาก
ล่าสุดเป็นอีกครั้งจากความความร่วมมือของหลายชุมชนใน 5 ตำบล คือ ตำบลหนองโบสถ์ ชุมแสง ทุ่งแสงทอง นางรอง และลำไทรโยง ของอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย พร้อมอาสาสมัครพลังบวกของโคคา-โคลา รวมกว่า 300 คน จัดกิจกรรมสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น 5 ตัว ปลูกหญ้าแฝก 10,000 ต้น และต้นไม้ 3,000 ต้น เพื่อลดการพังทะลายของหน้าดิน ซึ่งถือว่าเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำให้ชุมชนเกิดความยั่งยืนยิ่งขึ้น

ดร. รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้มีความรุนแรงมาก ส่งผลกระทบต่อทั้งการเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง จังหวัดบุรีรัมย์เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง ทำให้ชาวบ้านที่สู้ภัยแล้งไม่ไหวต้องอพยพไปทำงานที่อื่น อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ยังมีชุมชนบ้านลิ่มทองที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ในทางตรงกันข้าม กลับมีน้ำใช้อย่างพอเพียง อันเป็นผลจากการที่ชาวบ้านกว่า 6,000 คนรวมตัวกันเป็น “เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนลิ่มทอง” เสียสละที่ดินส่วนตัวเพื่อทำแก้มลิง น้อมนำแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และยึดถือพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “น้ำคือชีวิต” มาใช้ จนสามารถเก็บกักน้ำจากการทำแก้มลิงและคลองส่งน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรตลอดปี
มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และมูลนิธิโคคา-โคลา ต้องการที่จะชูความสำเร็จของชุมชนบ้านลิ่มทองให้เป็นตัวอย่างแก่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แต่หากมีการเตรียมรับมืออย่างมีประสิทธิภาพก็จะสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติต่างๆ ได้ ความสำเร็จของชุมชนบ้านลิ่มทองยังเป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ที่ว่าการสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กและขยายแหล่งเก็บน้ำธรรมชาติเพื่อรองรับน้ำฝนในฤดูน้ำหลากเป็นแนวคิดที่ควรสนับสนุนเพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้ง”
เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ชุมชนบ้านลิ่มทองประสบทั้งปัญหาน้ำแล้งและน้ำหลาก ต่อมาทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ภายใต้ “โครงการรักน้ำ” ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2549 จึงเกิดจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันของ 3 ภาคส่วน ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนทั่วประเทศ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภาคเอกชนอย่างมูลนิธิโคคา-โคลาที่ให้เงินทุนสนับสนุนกว่า 26 ล้านบาท นำแนวคิดกระตุ้นจิตสำนึกและดำเนินกิจกรรมพัฒนาแหล่งน้ำผ่านเครือข่ายอาสาสมัครพลังบวกกับโคคา-โคลาทุกปี และชาวบ้านจากชุมชนบ้านลิ่มทองที่มุ่งมั่นพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยร่วมวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข รวมถึงลงมือทำงานอย่างจริงจังในทุกขั้นตอน
สนิท ทิพย์นางรอง หรือน้าน้อย ผู้นำการจัดการน้ำชุมชนบ้านลิ่มทอง ร่วมนำปลูกหญ้าแฝก และต้นไม้ ลดการพังทะลายของหน้าดิน บริเวณบ่อแก้มลิงใหม่
สนิท ทิพย์นางรอง หรือน้าน้อย ผู้นำการจัดการน้ำชุมชนบ้านลิ่มทอง กล่าวว่า “เมื่อก่อน ชีวิตที่บ้านลิ่มทองลำบากมาก น้ำจะกินและใช้แทบไม่มี ฤดูฝนน้ำก็ท่วม พอฝนทิ้งช่วงน้ำก็แล้ง พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ ต้องไปกู้เงินจนมีปัญหาหนี้สินสะสม ส่งผลให้ชาวบ้านต้องละทิ้งถิ่นฐานไปประกอบอาชีพในเมือง จากวันที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และโคคา-โคลาเดินเข้ามา ปัญหาก็ได้รับการแก้ไข พวกเรากลับมามีน้ำใช้ตลอดทั้งปี สามารถทำนาและทำการเกษตรแบบผสมผสาน ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น ชำระหนี้สินได้หมด มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6 เท่า ที่สำคัญคือ ขณะนี้ชุมชนสามารถเริ่มทำนาได้ตามปกติ ท่ามกลางสถานการณ์ภัยแล้ง โดยได้เริ่มปักดำข้าวแล้ว ด้วยปริมาณน้ำที่เพียงพอ องค์ความรู้ที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และโคคา-โคลามอบให้ทำให้ชุมชนสามารถรับมือได้ทั้งช่วงน้ำหลากหรือน้ำแล้ง นับเป็นความภาคภูมิใจครั้งใหญ่ในชีวิตที่ได้เห็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนบ้านเกิด”
ด้าน นันทิวัต ธรรมหทัย กรรมการ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “น้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งของธุรกิจของโคคา-โคลา หากไม่มีความยั่งยืนในทรัพยากรน้ำในพื้นที่ที่เราดำเนินธุรกิจ ธุรกิจของเราก็ไม่สามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ เราจึงมีกรอบการบริหารทรัพยากรน้ำแบบ 3 R’s คือ Reduce ลดปริมาณการใช้น้ำในโรงงานและการผลิต Recycle บำบัดน้ำจากกระบวนการผลิตและนำกลับมาใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ในโรงงานนอกเหนือจากการผลิต เพื่อลดการใช้น้ำดิบในโรงงาน และ Replenish หรือการคืนน้ำสู่ชุมชนและธรรมชาติ ภายใต้ “โครงการรักน้ำ” รวมถึงการร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ในการให้ความรู้และสนับสนุนชุมชนบ้านลิ่มทองในการนำแนวพระราชดำริมาใช้แก้ปัญหาน้ำในชุมชน โดยการสร้างเครือข่ายแก้มลิงและคลองส่งน้ำที่บ้านลิ่มทอง จากโครงการนี้เราสามารถคืนน้ำได้เฉลี่ยกว่า 94 ล้านลิตรต่อปี
“บ้านลิ่มทอง จึงเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการทำงานภายใต้สามเหลี่ยมความร่วมมือสู่ความยั่งยืนระหว่างมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน และโคคา-โคลาอย่างแท้จริง”

บ่อแก้มลิงใหม่ และบ่อเดิมที่มองเห็นว่า หน้าแล้งนี้ยังมีน้ำท่าสมบูรณ์
อาสาสมัครพลังบวกกับโคคา-โคลา 300 คน ในกิจกรรมสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นและปลูกหญ้าแฝก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ
9 ปี พลิกชีวิตชุมชนบ้านลิ่มทอง
ตลอด 9 ปีจนถึงปัจจุบัน ชุมชนบ้านลิ่มทองได้ร่วมกันทำแก้มลิงรวม 58 บ่อ และคลองส่งน้ำยาวกว่า 40 กิโลเมตร เพื่อใช้เก็บกักน้ำในฤดูน้ำหลากไว้ใช้ในหน้าแล้ง โดยสามารถเก็บกักน้ำได้มากกว่า 852 ล้านลิตร ยังประโยชน์ให้กับชาวบ้านกว่า 2,200 ครัวเรือน และพื้นที่เกษตรกว่า 52,000 ไร่ จากจุดเริ่มต้น 1 หมู่บ้าน บ้านลิ่มทองได้ส่งต่อองค์ความรู้ไปยังชุมชนใกล้เคียงรวม 42 หมู่บ้าน ใน 5 ตำบล คือ ตำบลหนองโบสถ์ ชุมแสง ทุ่งแสงทอง นางรอง และลำไทรโยง โดยตำบลนางรองและลำไทรโยงเริ่มดำเนินการในปีนี้
ความสำเร็จจากการพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้บ้านลิ่มทองได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ประจำปี 2554 และ 2557
กำลังโหลดความคิดเห็น