การพัฒนาต้นแบบในการสร้างชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญสำหรับการดำเนินงานเพื่อสังคมและชุมชนของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จึงได้ร่วมกับมูลนิธิสัมมาชีพ ขับเคลื่อนโครงการ “1 บริษัท 1 ตำบลสัมมาชีพ” พร้อมค้นหาตำบลเข้มแข็งเพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพบนพื้นฐานที่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ
จากการดำเนินงานมากว่า 1 ปี ที่ผ่านมา มีหลายโครงการที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตำบลนำร่องจนเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 1 ไร่เกษตรอินทรีย์ 1 บริษัท 1 ตำบลสัมมาชีพ ที่ตำบลบัวใหญ่ จ.น่าน โดยร่วมพัฒนาบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในที่สูง หรือ โครงการไทยเบฟร่วมสร้างต้นแบบตำบลเกษตรอินทรีย์ ที่ตำบลโพนทอง จ.ชัยภูมิ ที่ช่วยพัฒนาและแปรรูปข้าวฮางงอกเป็นผลผลิตภายใต้ชื่อ “ข้าวมีสุข” ที่สร้างรายได้ให้ชุมชน
ล่าสุด “ชุมชนเขาถ่าน” จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็เป็นอีกตำบลหนึ่งที่ ไทยเบฟ เข้าไปร่วมพัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ โครงการต้นแบบตำบลแห่งการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน พร้อมลงพื้นที่ติดตาม ศึกษา ร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด และบูรณาการแผนการพัฒนา ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
ธารทิพย์ ศิรินุพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ไทยเบฟ เลือกเข้ามาในชุมชนเขาถ่าน เพราะเรามีความผูกพันกับ จ.สุราษฎร์ธานี เรามีโรงงานนทีชัยและพนักงานประจำอยู่ที่นี่ อีกทั้งเรามองเห็นความเข้มแข็งของชุมชน จุดเริ่มต้นมาจากการที่ชุมชนได้นำเสนอสมุนไพรรางจืดที่ปลูกได้ในพื้นที่ ซึ่งน่าจะสามารถพัฒนาแปรรูปให้เป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้ชุมชนได้ แต่เมื่อได้เข้ามาสัมผัส จึงได้เห็นศักยภาพของพื้นที่ และศักยภาพของคน ที่มีมากกว่าด้านสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นการเพาะพันธุ์ปูเปี้ยว หรือการฟื้นฟูป่าชายเลน จากวันที่เราเริ่มเข้ามาพูดคุยกับผู้นำชุมชนจนถึงวันนี้ เราเห็นการพัฒนา เห็นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมากขึ้น ได้เห็นเยาวชนในชุมชนตระหนักและหวงแหนทรัพยากรที่มีค่า ก็รู้สึกดีใจมากที่เราได้มีส่วนร่วมสร้าง และเผยแพร่ศักยภาพของชาวเขาถ่านให้ออกสู่ภายนอก”
•กลุ่มสมุนไพร “พัฒนา แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม”
ตำบลเขาถ่านมีทรัพยากรที่สำคัญคือ ดินที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งสามารถเพาะปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณค่าทางยาหลายชนิด การนำสมุนไพรท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จึงเป็นแผนหนึ่งที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเพิ่มรายได้ของคนในชุมชน อาทิ ลูกประคบสมุนไพร น้ำมันเหลืองสมุนไพร ยาดมและยาหม่อง รวมไปถึงชารางจืด ชาหญ้าหนวดแมว น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เป็นต้น
ขนิษฐา รักเขียว (พี่นิด) ประธานกลุ่มสมุนไพร กล่าวว่า “ชุมชนของเราเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกมากโดยเฉพาะพืชสมุนไพรที่มีคุณค่าทางยา เช่น ชุมเห็ดเทศ ขมิ้นชัน รางจืด ฟ้าทะลายโจร เถาวัลย์เปรียง มะพร้าว หญ้าหนวดแมว ใบเตยหอม เป็นต้น แต่เราประสบปัญหาผลผลิตที่เจือปนสารเคมี จึงได้เริ่มหาความรู้ด้านการเพาะปลูกแบบปลอดสารพิษ และได้รับการสนับสนุนพันธุ์พืชจากเกษตรอำเภอ ซึ่งแนะนำให้เน้นปลูกพืชระยะสั้น ปลูกต้นมะขามรอบแปลงสมุนไพร เพื่อช่วยดูดซับสารเคมีจากพื้นที่ติดกัน ในขณะเดียวกันทีมงานของไทยเบฟ ก็ได้เข้ามาสนับสนุนและให้คำแนะนำต่อเนื่อง ทั้งด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การทำสื่อประชาสัมพันธ์ การปรับปรุงแปลงเรียนรู้สมุนไพร ทำให้เราขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึงมอบทุนสนับสนุนสร้างโรงเรือนให้ได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิต และไว้รับรองผู้มาเยี่ยมชม ซึ่งเราก็เปิดโอกาสให้ได้ลงมือปฏิบัติจริงกับแปลงสาธิตจริงๆ ได้ทดลองปลูกพืชสมุนไพรด้วยตนเอง ได้ลองชิมน้ำรางจืดซึ่งเป็นสมุนไพรตัวชูโรงของกลุ่มฯ และได้ทดลองทำลูกประคบสมุนไพร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีของกลุ่มฯ อีกด้วย”
•กลุ่มอนุรักษ์ “ฟื้นฟูแหล่งอาศัย คืนความสมบูรณ์ระบบนิเวศน์ริมทะเล”
ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าชายเลนและสัตว์น้ำ แต่เมื่อเกิดการบุกรุกเพื่อทำการประมงด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย จนเกิดผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย และทำลายแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำ ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่แนวความคิดที่จะฟื้นฟูผืนป่าและก่อตั้งแหล่งอนุรักษ์และขยายพันธุ์ทรัพยากรทางทะเลในท้องถิ่น ได้แก่ ธนาคารปูเปี้ยว เพื่อเพาะพันธุ์ปูเปี้ยว สัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของชาวเขาถ่าน โดยใช้ตาข่ายกั้นเป็นแนวเขตพิเศษ และปล่อยแม่พันธุ์ปูเปี้ยวในฤดูวางไข่ช่วงเดือนตุลาคม - มีนาคม เพื่อให้ลูกปูลอดตาข่ายออกสู่ระบบนิเวศน์เติบโตตามธรรมชาติต่อไป นอกจากนั้นยังพัฒนาแหล่งเพาะพันธุ์ปลา โดยการทำ บ้านปลา ซึ่งทำจากท่อซีเมนต์วางใต้น้ำ ทับด้วยทางมะพร้าว ด้านบนผูกโยงกับไม้ไผ่และถังพลาสติก เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ นอกจากนั้นยังปลูกฝังให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลสอดส่องซึ่งกันและกันให้ผู้ประกอบอาชีพประมง หาปลานอกแนวเขตเพาะพันธุ์ ทำให้ปัจจุบันปริมาณสัตว์น้ำมีมากขึ้น รวมถึงป่าชายเลนกลับมาสมบูรณ์เกือบทั้งหมด สามารถใช้เป็นเส้นทางเดินเพื่อศึกษาธรรมชาติและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตามระบบนิเวศน์
ทวี เพชรนวล (ลุงวี) - ประธานกลุ่มอนุรักษ์และธนาคารกุ้งก้ามกราม บ้านปลา และปูเปี้ยว กล่าวถึงความสำเร็จของการดำเนินการว่า “การฟื้นฟูผืนป่าชายเลนและเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำเป็นสิ่งที่กลุ่มอนุรักษ์ดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด ความสำเร็จของเราเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเพราะมีจำนวนสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และป่าชายเลนก็กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม และนับจากนี้พวกเราชาวกลุ่มอนุรักษ์ รวมถึงทุกคนในชุมชนตำบลเขาถ่าน จะร่วมแรงร่วมใจกันสานต่อสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ไปจนชั่วลูกชั่วหลาน ขอขอบคุณทีมงานไทยเบฟที่ได้เห็นความสำคัญและความตั้งใจจริงในเรื่องต่างๆ ที่พวกเรากำลังทำอยู่ ให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สร้างบ้านปลา ขยายคอกพันธุ์ปูเปี้ยว และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น ขอบคุณ มูลนิธิสัมมาชีพ ที่ได้ให้คำแนะนำการพัฒนาอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่ม จนขณะนี้เราสามารถสร้างบ้านปลาได้ทั้งหมด 5 จุดแล้ว และจะขยายเพิ่มต่อไปในอนาคตอีกหลายจุด”
นอกจากการพัฒนาแหล่งทรัพยากร ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ท้องถิ่นจนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
ไทยเบฟ และโครงการต้นแบบตำบลแห่งการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ตำบลเขาถ่าน ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนา
ต่อยอดในแง่มุมอื่นเพิ่มเติม จากแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ฟาร์มสเตย์ ฟาร์มเลี้ยงหอยแครงกลางทะเลสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาการเลี้ยงหอย เกาะนก สัมผัสความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เมื่อนกกระยางขาวกว่าพันตัวมารวมตัวกันที่เกาะกลางทะเลในช่วงพลบค่ำจนทั่วทั้งเกาะเป็นสีขาวโพลน ลานโลกพระจันทร์ และสำนักธารน้ำร้อน ที่สำนักสงฆ์สาขาวัดพระบรมธาตุไชยา บ่อน้ำร้อนธรรมชาติที่สามารถลงแช่น้ำพอกโคลนตามความเชื่อในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ โดยมีแผนในการพัฒนาแบบบูรณาการ เพื่อจัดทำเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่จะสามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจศึกษาธรรมชาติ ให้แวะเวียนมาที่ตำบลเขาถ่าน เป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและจังหวัดสุราษฎร์ธานีต่อไปในอนาคต