บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อการทำงานที่สมบูรณ์แบบ รองรับการขยายตัวของธุรกิจบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เพื่อให้การประมวลผลและงานบริการด้านข้อมูลต่างๆ ในระบบดำเนินไปอย่างรื่นไหล ไม่สะดุด ที่สำคัญช่วยตอบโจทย์ด้านการบริหารจัดการ และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดีเยี่ยม (Smart and Green Datacenter)
สุวรรณ ศรีนวล ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป้าหมายของ ไออาร์พีซี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ได้จัดวางแนวทางการดำเนินธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้แนวคิด Big, Long, Strong โดยมุ่งเน้นสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ (Big) พัฒนาโรงกลั่นปิโตรเคมีแบบครบวงจรไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน (Long) และต้องมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง (Strong) โดยมีเป้าหมายคือ การสร้างผลตอบแทนของเงินลงทุน (Return on Investment Capital) เพื่อให้ ไออาร์พีซี เป็นบริษัทที่มีผลกำไรอยู่ในอันดับต้นๆ ของบริษัทแม่ ปตท.
ดังนั้น ไออาร์พีซี จะต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทุกภาคส่วน หนึ่งในภารกิจสำคัญของฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ คือการเพิ่มประสิทธิภาพดาต้าเซ็นเตอร์ให้สามารถรองรับการเติบโตของของข้อมูลที่จะหลั่งไหลเข้ามายังระบบในปริมาณมากจากการขยายตัวของธุรกิจ ทั้งนี้ ประมาณการว่า จำนวนข้อมูลที่จะมีการขยายตัวน่าจะสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ทำให้บริษัทฯ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของดาต้าเซ็นเตอร์ให้สามารถรองรับการเติบโตที่จะตามมา ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุด เร็วที่สุด และประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด คือการปรับปรุงดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใช้งานอยู่ให้สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการตอบโจทย์นโยบายในเชิงธุรกิจไปพร้อมกัน สิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพของดาต้าเซ็นเตอร์ คือการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดียิ่งขึ้น ทางไออาร์พีซีจึงได้มีการปรึกษากับทีมประเมินประสิทธิภาพดาต้าเซ็นเตอร์ของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Data Center Assessment Service) ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านการจัดการดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านไอทีและด้านการจัดการพลังงาน และมีเทคโนโลยีล้ำหน้าในการทำการประเมินและตรวจสอบ เพื่อช่วยให้บริษัทฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพดาต้าเซ็นเตอร์ และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลงได้
ด้าน รังสิมันตุ์ มีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการแผนกบริการ ฝ่ายธุรกิจไอที ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย เผยว่า "บริการประเมินประสิทธิภาพดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ Data Center Assessment Service เป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ดูแลดาต้าเซ็นเตอร์สามารถรับรู้และทำความเข้าใจถึงประสิทธิภาพการทำงานของดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน พร้อมกับนำเสนอข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการปรับปรุงดาต้าเซ็นเตอร์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยช่วยตรวจสอบและประเมินโครงสร้างและการทำงานของอุปกรณ์พื้นฐาน รวมถึงปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุปกรณ์แหล่งจ่ายไฟสำรองฉุกเฉิน ระบบจัดการและทำความเย็น ระบบตรวจวัดต่างๆ โครงสร้างการจัดวางอุปกรณ์ในห้อง และประสิทธิการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ช่วยให้ผู้จัดการดาต้าเซ็นเตอร์ ได้ทราบถึงประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ โดยอ้างอิงและเปรียบเทียบตามมาตรฐานอุตสาหกรรม การบริการดังกล่าวมุ่งเน้นเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้จัดการดาต้าเซ็นเตอร์มั่นใจได้ถึงความพร้อมทำงานของดาต้าเซ็นเตอร์ในระดับสูงสุด”
สุวรรณ กล่าวเสริมว่า “ในการประเมินประสิทธิภาพด้าต้าเซ็นเตอร์ของไออาร์พีซี ทางทีมประเมินของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ในการประเมินสภาพแวดล้อมภายในดาต้าเซ็นเตอร์ พร้อมทั้งหาโซลูชั่นเพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการของเราได้ ซึ่งถือว่ารวดเร็วมากกับการเพิ่มศักยภาพของดาต้าเซ็นเตอร์ภายในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังช่วยให้ไออาร์พีซี สามารถวางแผนจัดการงบประมาณในส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์ได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
จากเดิมเรามีการใช้แอร์ในการทำความเย็นในห้องดาต้าเซ็นเตอร์ถึง 3 ตัว เพื่อส่งผ่านความเย็นไปยังตู้ เซิร์ฟเวอร์ต่างๆ เพื่อให้อุปกรณ์ไอทีไม่เกิดความร้อนเกินไปจนระบบล่ม ซึ่งโดยปกติ ระบบทำความเย็นนี้นับเป็นส่วนที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดในดาต้าเซ็นเตอร์ ปัจจุบัน หลังจากที่ได้มีการประเมินและวางระบบใหม่โดย ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทำให้เราสามารถลดการใช้แอร์ลงเหลือแค่เพียง 1 ตัวในการทำความเย็นเท่านั้น ทำให้ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในระบบทำความเย็นได้ถึง 66% เลยทีเดียว นับเป็นการช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานที่สามารถวัดผลได้ในระยะเวลาอันสั้นเพียง 1 เดือนเท่านั้น สามารถตอบสนองความต้องการทางธุรกิจ และเป้าหมายในแง่นโยบายทางการเงินได้อย่างดี”