xs
xsm
sm
md
lg

"โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์" ส่งต่อ “ความรู้” สู่ ธุรกิจชุมชน เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เปิดตัวโครงการ "โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์" (Toyota Social Innovation) อย่างเป็นทางการให้คนไทยได้รู้จัก ภายใต้แนวคิด “โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข” ซึ่งถือเป็นโครงการแรกๆ โดยภาคเอกชนที่ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมในลักษณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นอีกขั้นหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สิ่งที่น่าสนใจคือ มันไม่ใช่โครงการหว่านเงินอย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่เป็นการสอน Know-How ให้กับธุรกิจชุมชน โดยการนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่โตโยต้ามี มาใช้แก้ปัญหาในด้านต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย

เพราะโตโยต้ามองว่า ความสุขของคนเราเกิดขึ้นจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนหนึ่งก็มาจากเศรษฐกิจที่ดี เศรษฐกิจชุมชนเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจในประเทศไทยที่มี GDP คิดเป็นมูลค่า 2.8 ล้านล้านบาท หรือ 25% ของ GDP ของประเทศ ดังนั้นถ้าธุรกิจชุมชนสามารถอยู่รอดได้ เศรษฐกิจในชุมชนก็จะดี ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศก็ดีตามไปด้วย แต่ปัจจุบันพบว่าธุรกิจชุมชนสามารถอยู่รอดได้เพียง 5% เท่านั้น ดังนั้นการถ่ายทอด Know-How ให้กับธุรกิจชุมชน จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และช่วยทำให้คนไทยมีความสุขอย่างแท้จริง

จากการศึกษาของโตโยต้าพบว่า ความต้องการที่แท้จริงของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทยคือ องค์ความรู้ ปัญหาที่แท้จริงของธุรกิจชุมชนนั้นคือการขาดความรู้เรื่องการจัดการ คนไทยมีทักษะในการสร้างสินค้าและบริการ แต่ขาดทักษะในการจัดการที่มีประสิทธิภาพ สิ่งที่โตโยต้าเข้ามาทำ คือ การสอนวิธีคิด สอนวิธีจับปลา สอนผู้ประกอบการให้มองเห็นปัญหา แล้วแก้ไข และดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยนำองค์ความรู้ของโตโยต้า ได้แก่ วิถีโตโยต้า (Toyota Way), ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) และปรัชญาลูกค้าเป็นที่ 1 มาประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาในด้านการดำเนินงานและการขาย

หลักการดำเนินงานของโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” จะยึดหลัก “ไคเซน” (Kaizen) หรือ การปรับปรุงและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ “รู้ เห็น เป็น ใจ”

1.รู้ หมายถึง รู้ปัญหา สามารถระบุปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกๆกระบวนการ มีการส่งบุคลากรลงไปที่หน้างานเพื่อเก็บข้อมูลการทำงานโดยละเอียด วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปปัญหา

2.เห็น หมายถึง เห็นปัญหา วิเคราะห์ปัญหา กำหนดแนวทางการแก้ปัญหา และดำเนินการแก้ปัญหา มีการสร้างตารางข้อมูลบนบอร์ดขนาดใหญ่ เพื่อความสะดวกในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน

3.เป็น หมายถึง ทำเป็นด้วยตนเอง ให้ธุรกิจชุมชนเข้าใจระบบ และสามารถทำ “ไคเซน” ได้ด้วยตนเอง และดำเนินการแก้ไขปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

4.ใจ หมายถึง เข้าใจลูกค้า ใส่ใจลูกค้า และถูกใจลูกค้า ตามหลักปรัชญาลูกค้าเป็นที่ 1

กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล “ฮาร์ท โอทอป” จ. กาญจนบุรี เป็น 1 ในโครงการนำร่องของ "โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์" ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ประสิทธิผลในการผลิตดีขึ้นจาก 49% เป็น 70%, มูลค่าการสูญเสียอันเนื่องมาจากคุณภาพ ลดลงจาก 8.5 แสนบาท เหลือเพียง 3 แสนบาท หรือมากกว่า 50% และต้นทุนการดำเนินงาน ลดลงจาก 2.5 ล้านบาท เหลือเพียง 1.5 ล้านบาท

นอกจากกลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล “ฮาร์ท โอทอป” แล้ว “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ยังมีโครงการนำร่องอีก 2 แห่ง ได้แก่ หัตถกรรมพื้นบ้านเตยปาหนัน บ้านวังหิน จ. กระบี่ และ แกงไตปลาแม่บ้านเกษตรกรท่าข้ามสัมพันธ์ จ. ตรัง ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งคู่

โตโยต้ามีแผนจะขยายการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2557 กับธุรกิจชุมชนอีก 3 แห่ง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนล่าง เพื่อให้มีโครงการนำร่องในทุกภูมิภาค โดยคาดว่าจะดำเนินงานแล้วเสร็จในปี 2558 และมีแผนที่จะขยายโครงการให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในปี พ.ศ. 2563

นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” โดยการให้บริษัทในเครือฯ และภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น การให้ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชนในการเฟ้นหากลุ่มธุรกิจชุมชนในพื้นที่เพื่อเข้าร่วมโครงการ หรือร่วมกับบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ในการให้คำแนะนำในเรื่องการจัดการระบบบัญชีและบริหารงบประมาณของธุรกิจ เป็นต้น นอกจากนี้โตโยต้ายังมีแผนในการขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรทางธุรกิจอื่นๆ ที่มีความชำนาญในการดำเนินธุรกิจที่ต่างกัน เพื่อแบ่งปันความรู้และขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจแก่ธุรกิจชุมชนต่อไปด้วย

ที่มา : www.toyota.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น