xs
xsm
sm
md
lg

เทสโก้ฯ เปิด “ร้านค้าปลอดถุงแห่งแรกในกรุงเทพฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาวิณี ปุณณกันต์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และผู้บริหารระดับสูงเทสโก้ โลตัส ร่วมเปิดร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขานวมินทร์ เป็นสาขาปลอดถุงพลาสติก แห่งแรกในกรุงเทพฯ
•“ร้านค้าปลอดถุงพลาสติก” ที่เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส เปิดบริการสาขาที่ 5 ย่านนวมินทร์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ถือว่าประเดิมเป็นสาขาแรกในกรุงเทพฯ
•ตอกย้ำแนวทางสีเขียว เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าโดยไม่ใช้ถุง หลังประสบผลสำเร็จมาแล้วจาก 4 สาขาหัวเมืองท่องเที่ยว พร้อมตั้งเป้าลดใช้ถุง 20 ล้านใบในปีนี้
•เปิดตัวแคมเปญรักษ์โลก ลดขยะด้วยสองมือ หวังปลุกพฤติกรรม iHold บนโลกโซเชียล ผนวกมอบแต้มกรีนพอยต์ที่ประสบผลสำเร็จมาก่อนหน้า

สาขานำร่อง ปลอดถุงพลาสติก บ้านใสยวน อ.เมือง จ.ภูเก็ต และ สาขาตลาดแหลมดิน เกาะสมุย ลูกค้าทั้งคนไทย นักท่องเที่ยวต่างประเทศ เข้าใจแล้วว่าเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากร
หลังประเดิมสาขานำร่องภายใต้คอนเซ็ปต์ “ร้านค้าปลอดถุงพลาสติก” (No Plastic Bag Store)ที่เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขาบ้านใสยวน อ.เมือง จ.ภูเก็ต และสาขาตลาดแหลมดิน เกาะสมุย เป็นผลสำเร็จ คือ ลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติต่างให้ความร่วมมือจนได้ผลตอบรับที่ดี
ต่อมาขยายอีก 2 สาขา ในภูเก็ต และเกาะสมุย พร้อมแคมเปญกระตุ้นลูกค้าจับจ่ายโดยไม่ใช้ถุงพลาสติก ได้แก่ การให้กรีน พอยท์ 20 แต้ม ต่อการชอปปิ้ง 1 ตะกร้า โดยแต้มกรีนพอยท์ใช้คู่กับบัตรคลับการ์ดของเทสโก้ โลตัส และแต้มดังกล่าวจะเปลี่ยนเป็นคูปองเงินสดส่งให้ลูกค้าถึงบ้านทุกไตรมาส
ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย ปลุกคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก ผ่านสังคมออนไลน์ iHold
เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส นำร่องสู่กรีนสโตร์
ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการสาธารณะ เทสโก้ โลตัส กล่าวว่าแนวทางที่ประสบผลสำเร็จในสาขาก่อนหน้า จะใช้เป็นประสบการณ์เพื่อต่อยอดให้สาขาต่อไป ซึ่งภายในปีนี้ตั้งเป้าเปิดให้ครบ 10 สาขา ที่เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยยังเน้นเลือกหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ และพัทยา พร้อมการเลือกที่ตั้งสาขาที่ไม่ใกล้กับคู่แข่ง จึงค่อนข้างเป็นสาขาสแตนอโลนเพื่อป้องกันผลกระทบต่อยอดการจำหน่าย ทำให้มีข้อเปรียบเทียบด้านความสะดวกสบาย
สาเหตุที่เลือกรณรงค์กับเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรสก่อน เนื่องจากสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจง่ายกว่า ลดแรงต่อต้านได้ดีกว่า ซึ่งส่วนมากเป็นลูกค้าประจำในชุมชนที่เข้ามาใช้บริการ และซื้อของจำนวนที่ไม่มากชิ้นเหมือนดีพาร์ตเมนต์สโตร์ เพียงการติดป้ายประกาศ และพนักงานในสาขาบอกลูกค้าไว้ล่วงหน้าก่อนก็สามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าตระหนักและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมปรับพฤติกรรมสู่การบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยความสมัครใจมากขึ้น
ชาคริต บอกว่า ช่วงสัปดาห์แรกอาจจะทำให้ลูกค้าหงุดหงิดที่ไม่ได้รับความสะดวก แต่ก็เชื่อว่าในใจลึกๆ นั้นลูกค้ารู้ดีว่าเป็นแนวทางที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ในสัปดาห์ที่สองค่อยคลาย และปรับตัวรับความไม่สะดวก อย่างที่สาขานำร่องช่วงแรกๆ ลูกค้าใจดีเอากล่องมาตั้งรับบริจาคถุงพลาสติกใช้แล้ว เพื่อให้บริการกับลูกค้าอื่นๆ ต่อมาลูกค้าประจำรู้ว่ามาชอปปิ้งที่นี่ต้องเตรียมถุงผ้ามาด้วย ในที่สุดก็ยุบกล่องบริจาคถุงนั้นไป
ชักชวนลดใช้ถุงด้วย กรีนพอยต์ / แคมเปญปลุกพฤติกรรม iHold
ด้านการกระตุ้นให้ลูกค้าไม่ใช้ถุง ยังใช้วิธีการมอบแต้มกรีนพอยท์คืนแก่ลูกค้าที่นำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ และลูกค้าไม่ใช้ถุงพลาสติกซึ่งอาจจะใช้ถุงผ้าแทน ได้แก่ กรีนพอยท์ 20 แต้ม ต่อการชอปปิ้ง 1 ครั้งเมื่อไม่ใช้ถุงพลาสติก หรือใช้ถุงผ้าแทนให้ 500 แต้ม ช่วงสุดสัปดาห์สิ้นเดือนเพิ่มแต้มจาก 20-100 เป็น 100-500 แต้ม โดยกำหนดช่วงรณรงค์ 1 เดือนเต็ม นับตั้งแต่วันเปิดบริการไม่ใช้ถุง ที่เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ย่านนวมินทร์ ในวันที่ 26 ส.ค. รวมถึงมีถุงผ้าแจกในช่วงเริ่มต้น 4,000 กว่าใบ เมื่อซื้อครบ 100 บาท
พิธีกรสาว-วุ้นเส้น นำอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ “คนไทยควรเปลี่ยนพฤติกรรมลดใช้ถุงพลาสติก”โดยบอกว่า ทุกวันนี้คนไทยใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย 8 ใบต่อคนต่อวัน จนกลายเป็นเรื่องปกติ ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องมีถุงพลาสติก  ทำให้ขยะเพิ่มขึ้นถึง 40,000-50,000 ตัน และเป็นพลาสติกถึง 20 %หรือวันละเกือบ 10,000 ตัน
ที่น่าสนใจ ในวันเปิดตัว เทสโก้ฯ ได้ทำแคมเปญชักชวนคนรุ่นใหม่ให้เข้าร่วม “กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมสร้างพฤติกรรม iHold ลดปัญหาขยะล้นโลก” ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ วันเปิดตัวจะนำดาราพิธีกรสาว วุ้นเส้น-วิริฒิพา ภักดีประสงค์ แย้มนามซึ่งถือว่าเป็นสาวเปรี้ยวหัวใจสีเขียว (หนึ่งในแก๊งค์นางฟ้า) มาร่วมปลุกเทรนด์แฟชั่นใหม่กระแส ‘iHold’
ชาคริต บอกว่า “แทบทุกคนในทุกวันนี้พกสมาร์ทโฟนติดตัวเป็นปัจจัยที่ 6 เราจึงใส่แนวคิดเพื่อให้ผู้บริโภคยุคใหม่รับรู้ และตระหนักใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีส่วนร่วมช่วยลดขยะง่ายๆ จากการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง เป็นการกระตุ้นให้คนยุคใหม่ใส่ใจอีกสักนิดว่าสามารถช่วยลดขยะด้วยสองมือของเขาเองได้ตลอดเวลา" 
อย่างพฤติกรรมการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดจากร้านสะดวกซื้อ ผู้ขายมักจะใส่ถุงและหลอดให้ แต่เพียงแค่ชั่วเวลาไม่นานที่ผู้บริโภคออกจากร้านแล้วเปิดขวดน้ำดื่ม ขยะที่เกิดขึ้นก็คือ ถุงหิ้งใส่ขวดซึ่งที่จริงไม่ค่อยจำเป็น ซึ่งผู้บริโภคร่วมเปลี่ยนได้โดยไม่รับถุงพลาสติกจากผู้ขาย หรืออย่างของกินและของใช้ที่ไม่อันตราย ผู้บริโภคเปลี่ยนได้ โดยการซื้อแล้วบอกว่าไม่ต้องแยกถุงหิ้วเพิ่ม สิ่งเหล่านี้ทุกคนช่วยกันก็สามารถลดขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน
ส่วนปริมาณการลดใช้ถุงพลาสติก ในปีที่ผ่านมา สามารถลดได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 12 ล้านใบ และคาดว่าจะลดลงอีกเท่าตัวในปีนี้ หรือ 20 ล้านใบ เฉพาะในสาขาของเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรสที่ไม่ใช้ถุง สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้กว่า 5,000 ใบต่อสัปดาห์

ลูกค้าร่วมขับเคลื่อนแนวทางสีเขียว
เทสโก้ โลตัส เริ่มต้นด้วยการวางนโยบายสีเขียว คือ การประหยัดพลังงาน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการสร้างสรรค์กระบวนการขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกให้มีความตระหนัก และเริ่มต้นจากพนักงานงานก่อน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ การออกระเบียบที่ช่วยการประหยัดใช้ทรัพยากร ลดขยะ ตลอดจนถึงการสร้างกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และตอบแทนสังคม
ขณะเดียวกันได้ขยายผลโดยให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องตามนโยบายดำเนินธุรกิจเพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า โดยที่ “ร้านค้าปลอดถุงพลาสติก” เป็นหนึ่งในแนวทางขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายให้คำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ได้วางนโยบายและดำเนินกิจกรรมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับ 3 ภาคส่วน ได้แก่
-การลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินธุรกิจของบริษัท
-การจัดโครงการที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยตรง เช่น การปลูกป่าไม้ครบ 9 ล้านต้นในปีที่ผ่านมา
-การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าให้ใช้ชีวิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ขยายผลโดยให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมตามนโยบายดำเนินธุรกิจเพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า โดยที่ “ร้านค้าปลอดถุงพลาสติก” เป็นหนึ่งในแนวทางขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายให้คำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ชาคริต กล่าวอีกว่า อุปสรรคสำคัญของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ มักถูกมองเป็นผู้ก่อมลพิษ และทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กระบวนการการทำ CSR เราจึงเริ่มต้นด้วยการปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจจากภายในก่อนนำไปสู่คู่ค้า และลูกค้า เรียกว่าเป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมทั้ง 3 ด้าน เริ่มจากตนเองก่อน ต่อมาชวนพันธมิตรและชุมชนเข้าร่วม และเชิญชวนลูกค้าให้ความร่วมมือ
กำลังโหลดความคิดเห็น