xs
xsm
sm
md
lg

The Queen of Green ทรงเป็นแบบอย่างพสกนิกรไทย “รักผืนป่า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่าป่าไม้ ในพื้นที่ต่างๆ กำลังถูกแผ้วถางทำลาย อย่างรวดเร็ว จึงทรงมีพระราชดำริ ให้มีการชักชวนประชาชนทั่วไป และข้าราชการส่วนต่างๆร่วมกันปลูกป่าตัวอย่างเพื่อเป็นการชักชวนให้ประชาชนเกิดความรู้สึกรัก และหวงแหนป่าไม้
เมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ทรงมอบหมายให้ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์ฯ และพันเอก เรวัต บุญทับ รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 23 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) จัดเตรียมพื้นที่สำหรับทรงปลูกป่าเป็นตัวอย่าง 1 ไร่ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำพิธีขึ้นครั้งแรก ที่บริเวณเชิงภูผาเหล็ก ติดกับอ่างเก็บน้ำคำจวง บ.ถ้ำติ้ว อ.ส่องดาว จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2525 โดยในพิธีทรงให้มีการบวงสรวงเทพารักษ์ เจ้าป่ามาสถิตย์อยู่ ณ ป่าแห่งนั้นด้วย และพระองค์ทรงปลูกป่าเป็นตัวอย่างด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งพระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า “โครงการป่ารักน้ำ”
จากนั้นยังทรงขอซื้อที่ที่ชาวบ้านแผ้วถางเพื่อปลูกมันสำปะหลังแต่ทิ้งร้างไปมาทำโครงการป่ารักน้ำ โดยจัดให้ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยหาอาชีพให้ชักชวนให้ปลูกและดูแลป่า สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนว่าประโยชน์ของป่าที่เป็นแหล่งเก็บน้ำ ในเบื้องต้นได้ใช้พื้นที่ไม่กว้าง คนหนึ่งจะได้ 2 ไร่ มีบ้าน มีที่ทำกิน ปลูกผัก ปลูกไม้ผล เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหารโปรตีน ส่วนหนึ่งเป็นนารวม นอกจากนั้นก็ปลูกป่าทั้งหมดให้ชาวบ้านช่วยกันดูแล
ระยะเริ่มแรกมีราษฎรเข้าร่วม 33 ครอบครัว พระองค์ได้พระราชทานเงินเดือนให้ครอบครัวละ 3,000 บาท ต่อมามีอีก 7 ครอบครัวที่ฐานะยากจนไม่มีอาชีพแน่นอน ได้อาสาเข้ามาปลูกป่าถวาย จึงพระราชทานเงินเดือนให้เช่นเดียวกัน และยังมีชาวบ้านที่ประกอบอาชีพอื่นอยู่แล้ว ได้ใช้เวลาว่างจากการทำงานมาปลูกป่าถวายโดยไม่ขอรับเงินเดือน กระทั่งชาวบ้านที่ยากจนตั้งตัวได้ มีรายได้จากการประกอบอาชีพ พระองค์ท่านจึงทรงลดความช่วยเหลือ จนทุกครอบครัวสามารถพึ่งตัวเองได้ในที่สุด

ในโอกาสต่อมา มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สำนักงานประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองทัพภาค ที่ 2 (สปร.ทภ.2) และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้สานต่อพระราชปณิธานโดยให้การสนับสนุนประชาชนทั่วไป ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาผืนป่า ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้เข้ามาทำหน้าที่ในการประสานงานและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโครงการป่ารักน้ำที่บ้านถ้ำติ้ว จึงสัมฤทธิผลเป็นอย่างดีจนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมใจกันปลูกและรักษาป่า ความรัก ความผูกพันของราษฎรในพื้นที่ต่อป่า พวกเขามองเห็นคุณค่าและเห็นประโยชน์ของการรักษาป่าและต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์ อันนำมาซึ่งประโยชน์มหาศาลแก่ผืนแผ่นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นแบบอย่างในการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ
โครงการป่ารักน้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการป่ารักน้ำบ้านถ้ำติ้ว ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร โครงการป่ารักน้ำบ้านป่ารักน้ำตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โครงการป่ารักน้ำบ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร โครงการป่ารักน้ำบ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร และโครงการป่ารักน้ำบ้านทรายทอง ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ซึ่งยังคงทำหน้าที่ในการสร้างความสมดุลให้แก่ทรัพยากรและประชาชนอย่างเกื้อกูลกัน
ปัจจุบันโครงการอนุรักษ์ป่าไม้ในพื้นที่อื่นๆก็ดำเนินไปด้วยเช่นกัน เช่นโครงการธงพิทักษ์ป่าที่พระราชินีได้มอบให้หมู่บ้านที่รักษาป่า อย่างที่บ้านนาดอกไม้ ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม และโครงการป่าสักนวมินทราชินี ผืนป่าสักธรรมชาติสามแสนไร่ จ.แม่ฮ่องสอน ทรงรับโครงการไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้มีการวิจัยป่าสักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรที่อยู่โดยรอบ

พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2553 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา บางส่วนบางตอนทรงตระหนักในความสำคัญของป่าไม้ เพื่อให้เป็นป่าต้นน้ำ ช่วยซับน้ำ ชะลอการไหลของน้ำหลาก โดยมีใจความสำคัญว่า
“บางพื้นที่จัดทำเป็นโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ เพื่อช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ มีหลายพื้นที่ที่ราษฎรได้ตระหนักถึงภัยธรรมชาติ ที่เคยเกิดขึ้นจากการที่ป่าส่วนมากถูกทำลาย จนเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และแผ่นดินถล่มลงมาทับถมบ้านเรือน ในยามที่เกิดพายุและฝนตกหนัก ราษฎรจึงได้ช่วยกันปลูกป่า และคืนผืนป่าให้แก่ทางราชการ ดังตัวอย่างเช่น ที่ดอยอมพาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และที่บ้านกอก-บ้านจูน อ.ปัว จ.น่าน ราษฎรได้คืนผืนป่าให้ทางราชการเป็นจำนวนหลายพันไร่ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ บ้านห้วยหญ้าไทร อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ก็สามารถช่วยฟื้นฟูสภาพป่าได้นับหมื่นไร่เช่นเดียวกัน
ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้าพเจ้าได้ขอความร่วมมือจากหน่วยทหารในพื้นที่ หน่วยทหารพัฒนาของกองทัพไทย และส่วนราชการต่างๆ จัดตั้งโครงการป่ารักน้ำ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ฟาร์มตัวอย่าง และฝึกราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าต้นน้ำลำธาร ให้กลับฟื้นคืนสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม ทั้งนี้ก็เพื่อให้ป่าไม้เป็นแหล่งดูดซับน้ำ และช่วยชะลอการไหลของน้ำ มิให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ดังที่เป็นข่าว
เมื่อครั้งที่ภาคกลางเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของราษฎรได้รับความเสียหายหนัก โดยเฉพาะที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี ข้าพเจ้าได้ปรึกษา พล.อ.ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ ขอให้ไปหาที่จัดตั้งฟาร์มตัวอย่างขึ้นที่ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี อ.แสวงหา จ.อ่างทอง และ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อช่วยให้ราษฎรมีงานทำ ได้แก่ การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และงานศิลปาชีพ เป็นการทำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เคยมีพระราชปรารภกับข้าพเจ้า ว่าการแจกของในยามที่ราษฎรประสบภัยพิบัติต่างๆ เป็นการช่วยเหลือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เพียงชั่วเวลาสั้นๆ มิใช่การแก้ปัญหาอย่างถาวร การแก้ปัญหาอย่างถาวรต้องช่วยให้ราษฎรมีอาชีพ มีงานทำอย่างถาวร จึงจะเรียกว่าเป็นการช่วยที่ยั่งยืน”
จากป่ารักน้ำ เมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา จากการทรงนำราษฎรปลูกป่าด้วยพระองค์เอง จนถึงการปลูกจิตสำนึกให้ราษฎรอยู่กับป่าโดยไม่ทำลายป่าควบคู่ไปกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ในวันนี้ โครงการปลูกป่า การอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมตามพระราชดำริ ได้ขยายผลไปทุกภูมิภาคของประเทศไทย ดั่งพระราชปณิธานที่จะบำรุงรักษาแผ่นดินเกิดให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้สืบไป
กำลังโหลดความคิดเห็น