xs
xsm
sm
md
lg

อีสท์วอเตอร์ ขยายเครือข่ายนวัตกรรมการบำบัดน้ำเสีย อบรมสร้างเครื่องกลเติมอากาศให้ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เป็นการขยายผลนวัตกรรมบำบัดน้ำเสีย หวังช่วยลดปริมาณน้ำเสียในชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยต่อยอดไปยังสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้กระจายความรู้สู่ชุมชนอย่างบูรณาการ

หลังประสบผลสำเร็จจากการติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศให้กับชุมชนบ้านเอื้ออาทรฉะเชิงเทราเมื่อปีที่ผ่านมาบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ได้ร่วมกับ ชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา และศูนย์เฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพน้ำ จังหวัดระยอง จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการสร้างเครื่องกลเติมอากาศแบบดูดน้ำและอากาศให้กับคณะครูและนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา โดยมีนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานีในฐานะผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวเป็นวิทยากรให้ความรู้ เป็นเวลา 2 วัน

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการสร้างเครื่องกลเติมอากาศแบบดูดน้ำและอากาศ เป็นการขยายผลต่อยอดจากโครงการประกวดนวัตกรรมจัดการน้ำด้วย 3R ของอีสท์วอเตอร์ โดยได้นำองค์ความรู้จากผลงานรางวัลชมเชยของนักศึกษา สถาบันการอาชีวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี มาเป็นนวัตกรรม 3R ต้นแบบ โดยถ่ายทอดความรู้ระหว่างวิทยาลัยเทคนิคด้วยกัน เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้จริงกับชุมชนของตน โดยในปี 2557 นี้ กำหนดให้วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทราเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก และจะขยายผลไปยังวิทยาลัยเทคนิคอื่นๆ ต่อไป

นวัตกรรมเครื่องกลเติมอากาศชิ้นนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี จากการทดลองติดตั้งเครื่องดังกล่าว จำนวน 4 เครื่อง ให้กับบ่อพักน้ำทิ้งจากครัวเรือนของชุมชนบ้านเอื้ออาทรฉะเชิงเทรา อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งผลการทดสอบคุณภาพน้ำภายหลังติดตั้งคุณภาพน้ำมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
เครื่องดังกล่าวใช้หลักการของกาลักน้ำหมุนเวียนน้ำจากก้นบ่อขึ้นสู่ผิวน้ำ และดูดอากาศลงไปผสมกับผิวน้ำแล้วพ่นออกทำให้เกิดการถ่ายเท เป็นการเติมอากาศ หรือออกซิเจนให้กับน้ำ ซึ่งจะช่วยให้น้ำเสียมีคุณภาพที่ดีขึ้น เป็นการปรับสภาพน้ำทิ้งของชุมชนก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งหลักการดังกล่าวเหมาะสำหรับใช้กับแหล่งน้ำ หรือบ่อน้ำที่มีอัตราการไหลของน้ำน้อยแต่มีระดับความลึกของบ่อมาก ซึ่งนับว่าโครงการดังกล่าวสามารถช่วยลดปริมาณของน้ำเสียในชุมชนได้เป็นอย่างดี และยังช่วยสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมของเยาวชนในชุมชนอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น