งานมินิคอนเสิร์ตดนตรีในสวนครั้งที่ 8 (CHAOPHYA MUSIC IN THE PARK 8) ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ตอกย้ำว่า โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องรักษาแต่คนไข้เพียงอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกันสามารถให้ความบันเทิง สร้างความสุข ซึ่งแสดงถึงความเป็นมิตรที่ดีแก่ลูกค้าและชุมชนโดยรอบโรงพยาบาลไปด้วยก็ย่อมได้ เช่นเดียวกับการเปิด “ศูนย์แพทย์เฉพาะทางเที่ยงคืน” เป็นแห่งแรกและที่เดียวในประเทศไทย
การจัดงานดนตรีในสวนครั้งนี้ ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาได้เชิญศิลปินชั้นนำ อาทิ เบน ชลาทิศ, เต้น นรารักษ์และลูกหว้า พิจิกา นับเป็นการสร้างความบันเทิงที่ดึงดูดให้คนมาร่วมงาน พร้อมฟังดนตรีที่ไพเราะโดยไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมนิทรรศการศิลปะ “ธารศิลป์ รักษ์จิตรกร” ที่จัดร่วมกองทุนรักษ์จิตรกรเพื่อเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยแก่ศิลปินจิตรกรและประติมากร ถือว่าเป็นอีกกิจกรรมดีๆ แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibilityอันสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของโรงพยาบาลเจ้าพระยา
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเจ้าพระยา กล่าวถึงการจัดดนตรีในสวน ว่าเกิดจากความพยายามวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่กิจการยังไม่เติบโต มีการวางตำแหน่งทางการตลาดยังไม่ชัดเจนพอที่จะให้คนทั่วไปได้รู้จัก จึงทำให้ลูกค้าผู้บริโภคยังไม่ได้รับรู้ว่าเราอยู่ตรงจุดใด เราได้สำรวจตนเองและสิ่งที่โรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงยังไม่เคยทำ และนำมาสู่การจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา
จะเห็นว่ากิจกรรมแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการวางรากฐานความสัมพันธ์กับชุมชนและสังคม โดยให้ รพ.เจ้าพระยา เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะมีความยั่งยืนในอนาคต นี่คือการเลือกวางตำแหน่งทางการตลาดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่รู้จักเสมอ
“ ส่วนผลลัพธ์ของการค้นหาตัวตนก่อให้เกิดเป็นบริการทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่ คือ ศูนย์แพทย์เฉพาะทางเที่ยงคืนเป็นแห่งแรก และที่เดียวในประเทศไทย โดยมีแพทย์เฉพาะทางประจำที่โรงพยาบาลตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงเช้า ซึ่งได้ผลเกินคาด มีผู้ป่วยเดินทางมาจากจังหวัดไกลๆ มารับการรักษา เนื่องจากในพื้นหาของผู้ป่วยนั้นหาโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางช่วงกลางคืนไม่ได้ เราเปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้าที่มีสินค้าเฉพาะ ถึงอยู่ไกลผู้บริโภคก็ไปซื้อ”
นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กิจกรรมตอบแทนสังคมและบริการทางการแพทย์ที่ไม่เหมือนใครสามารถทำให้ รพ.เจ้าพระยา เป็นที่รู้จักแพร่หลาย หากจะถามว่ากิจกรรมนำไปเสริมสร้างความยั่งยืนองค์กรให้คงอยู่ในใจคนประสบผลสำเร็จมากน้อยเท่าใด เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่ ผมอยากให้ดูจากจำนวนคนที่มาร่วมงานดนตรีในสวนที่เพิ่มขึ้นทุกปี เพราะเรามองว่าเป็นการคืนกำไรให้กับลูกค้า จึงทำให้พวกเขามีความสุข และจดจำชื่อโรงพยาบาล
ปกติเวลาที่คนนึกถึงโรงพยาบาลก็มักจะมองเห็นภาพคนเจ็บป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ พร้อมได้กลิ่นฉุนๆของยาฆ่าเชื้อโรค กิจกรรมของรพ.เจ้าพระยา จึงเป็นการสร้างสรรค์เพื่อให้สถานพยาบาลแห่งนี้เกิดภาพลักษณ์ดีๆ ภายใต้บรรยากาศที่แตกต่างออกไป