อีกแนวคิด “นำน้ำเสียมาใช้ประโยชน์ซ้ำ” เกิดจากกระบวนการยีตาลซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชน โดยนำมาผลิตเป็นก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในครัวเรือน และกลายเป็นทางเลือกที่สามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่มีปรับราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 12 เดือน
นับเป็นผลงานจากการศึกษาและวิจัยของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากสาขาครุศาสตร์อุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ประกอบด้วย นายธำรงศักดิ์ โพธิ์ศรี นายกรกฤษ เชื้อชัยนาท และ นายธงชัย มิดชัย โดยมีอาจารย์ชัยรัตน์ หงษ์ทอง เป็นที่ปรึกษา
“ที่บ้านของผมมีอาชีพยีตาลเพื่อเอาเนื้อตาลไปขาย กระบวนการในการยีตาลจึงเกิดน้ำเสียที่ทิ้งทุกวัน ไว้ในบ่อหลังบ้าน ก่อนหน้าก็ไม่รู้ถึงคุณค่าจากสิ่งที่มีอยู่ในของบ่อน้ำเสีย แต่พอเราได้ศึกษาและสังเกตบ่อน้ำเสียที่มีก๊าซเกิดขึ้น จึงคิดว่าน่าจะนำมาทำประโยชน์ได้ ทางคณะผู้วิจัยจึงได้คิดโครงงาน “การผลิตก๊าซชีวภาพที่ได้จากบ่อน้ำเสียของกระบวนการยีตาล” ธำรงศักดิ์ โพธิ์ศรี ตัวแทนคณะผู้วิจัย กล่าวถึงความเป็นมา
ขั้นตอนในการผลิตก๊าซ
1. สังเกตบ่อน้ำเสียจากการยีตาลว่ามีขนาดเท่าไร โดยขนาดของบ่อน้ำเสียในการวิจัยในครั้งนี้มีขนาด 4×4 เมตร
2. จากนั้นนำผ้าใบมาทำการตัดให้ได้ขนาดกับบ่อน้ำเสียที่ได้จากการยีตาลและคลุมลงไปบนบ่อน้ำเสีย เพื่อเก็บก๊าซที่ลอยขึ้นมา โดยก๊าซที่ลอยขึ้นมาเรียกว่า “ก๊าซชีวภาพ”
3. นำท่อ PVC ขนาด 2 นิ้ว มาเจาะรู (เพื่อให้น้ำเข้าไปในท่อ) จากนั้นเอาท่อที่เจาะรู ยึดติดกับผ้าใบทั้ง 4 ด้าน ของขอบผ้าใบ เป็นการกดไว้บริเวณขอบของผ้าใบ เพื่อไม่ให้ก๊าซที่เกิดขึ้นไหลออกไปจากบ่อก๊าซที่เราทำขึ้น
4. ทำการต่อท่อและสายลำเลียงก๊าซไปใช้ในครัวเรือน
5. ปล่อยให้เกิดกระบวนการเกิดก๊าซชีวภาพ ประมาณ 7 วัน ต่อจากนั้นสามารถนำก๊าซที่ได้ไปใช้ในครัวเรือน (หัวแก๊สที่ใช้ ต้องเป็นหัวแก๊สพิเศษที่ใช้สำหรับก๊าซชีวภาพที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป)
ประนอม โพธิ์ศรีรหัส ผู้ปกครองของ ธำรงศักดิ์ โพธิ์ศรี เจ้าของบ้านที่ได้ทดลองใช้ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียของการยีตาล บอกว่า ที่บ้านประกอบอาชีพยีตาล เพื่อเอาเนื้อตาลส่งตลาดทุกวัน หลังจากได้ทดลองใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเวลา 3 เดือน เราสามารถลดค่าใช้จ่ายค่าก๊าซหุงต้มที่ใช้ตามปกติ 1 ถัง ต่อประมาณ 1 เดือน เมื่อบวกกับราคาก๊าซที่ปรับขึ้นทุกเดือน ซึ่งถือว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นการนำน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์และยังช่วยลดกลิ่นเหม็นของน้ำเสียอีกด้วย เป็นความภูมิใจที่ลูกชายนำความรู้ที่เล่าเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำให้เพื่อนบ้านในหมู่บ้านก็ชื่นชม
ทั้งนี้ คณะวิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลพบว่าในครัวเรือนจะใช้ก๊าซหุงต้มเฉลี่ย 31 วันต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เมื่อนำก๊าซชีวภาพที่ได้มาทำการประกอบอาหารแทนก๊าซหุงต้มแล้วคิดเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการที่ต้องจัดซื้อก๊าซหุงต้มสามารถประหยัดได้เดือนละ 310 บาท หรือประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 3,720 บาทต่อปี ขณะที่ใช้เงินลงทุนจัดหาค่าวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียของการยีตาล ประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับการประหยัดเงินที่ได้ต่อปี ก็สามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ในเวลาไม่กี่เดือน
ผู้ที่สนใจ สอบถามรายละเอียดโดยตรงที่ ธำรงศักดิ์ โพธิ์ศรี โทร. 08-5231-3747 , 0-2549-4994