อีกก้าวในความร่วมมือของภาคธุรกิจ หลังการร่วมแสดงความมุ่งมั่นที่จะสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายต้องการสร้างความยั่งยืนแก่สังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต
เมื่อไม่นานนี้ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดงาน “การส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวในภาคเอกชน” หรือ Sustainable and Green Procurement Initiative เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ มีนโยบายในการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว ด้วยการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ฉลากลดคาร์บอนและผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพื่อแสดงความตระหนักในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
“ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็น นั่นคือ การอุปโภค-บริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินพอดี ส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น อันเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดสภาวะโลกร้อน จึงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ” ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ TBCSD บอกถึงการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวภายในองค์กร
ในงานนี้ได้มีการจัด “พิธีแสดงความมุ่งมั่น เพื่อผลักดันให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวในภาคเอกชน” ซึ่งมีตัวแทนจากบริษัทเอกชนเข้าแสดงความมุ่งมั่นร่วมกัน จำนวน 15 องค์กร ได้แก่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) , บริษัท คาร์เปท อินเตอร์แนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ดั๊บเบิ้ลเอ (1991) จำกัด (มหาชน) , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย , การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , บริษัท อินเตอร์เฟซฟลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) , ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) , กลุ่มมิตรผล จำกัด , บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) , บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) , บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) , บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
รวมถึงยังมี“พิธีประสานความร่วมมือระหว่างกันของผู้ผลิตและผู้ใช้สินค้าฉลากสิ่งแวดล้อม” โดยมีตัวแทนจากบริษัทเอกชนจำนวน 12 องค์กร เข้าร่วมในพิธีฯ ได้แก่ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) , กลุ่มมิตรผล จำกัด , บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) , บริษัท อินเตอร์เฟซฟลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย , บริษัท ผลิตภัณฑ์ กระดาษไทย จำกัด ใน SCG PAPER , บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด , บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ,บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด , บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และบริษัท คาร์เปท อินเตอร์แนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบัน หลายประเทศมีการดำเนิน “แนวความคิดภายใต้การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นการสร้างกลไกในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการผลักดันนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะทวีปยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความตื่นตัวในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จึงกำหนดให้มีมาตรการในการแสดงฉลากรับรองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสินค้า เช่น Carbon Footprint, Blue Angel หรือ EU Flowerเป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้านั้นๆ มีการผลิตที่เอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การใช้งาน จนถึงขั้นตอนการกำจัดของเสีย
โดยกลุ่มสหภาพยุโรปถือเป็นผู้นำด้านการปรับกฎระเบียบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในตลาดโลก เช่น ระเบียบของการผสมสารอันตรายในสินค้า ระเบียบเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อซากสินค้าที่หมดอายุ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น มีการประกาศใช้กฎหมายด้านการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวที่พัฒนาให้ทัดเทียมกับสหภาพยุโรป แต่เป็นมาตรการแบบสมัครใจ ภายใต้ข้อบังคับที่กลุ่มอุตสาหกรรมควบคุมกันเอง
จะเห็นว่าภาคธุรกิจเป็นภาคีที่สำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก เนื่องจากเป็นผู้เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและให้บริการ อีกทั้งยังเป็นผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ ทำให้กระบวนการผลิตต้องมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อผู้ผลิตสามารถใช้กลไกทางการตลาดเป็นเครื่องมือการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
จัดซื้อจัดจ้างสีเขียว : ดูตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า “การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว” เป็นการจัดซื้อหรือจัดจ้างผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านคุณภาพ ราคา การส่งมอบสินค้าหรือบริการตามที่กำหนด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและบริการโดยพิจารณาตลอดทั้งวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์
ปัจจุบันสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าโลกมากขึ้น โดยประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างออกนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เป็นข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออกหรือซื้อขายภายในและระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย ณ ปัจจุบัน แนวความคิดและมาตรการนี้ถือว่ายังอยู่ในวงจำกัด และไม่ได้รับความนิยมนัก ทำให้การผลักดันสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน ทั้งจากผู้ผลิตในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่-ขนาดกลาง และระดับชุมชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างอุปสงค์-อุปทานของสินค้าและบริการต่างๆ ของตลาดภายในประเทศ ให้หันมาตระหนักและรับทราบถึงแนวทางในการดำเนินงานต่างๆอันจะช่วยกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Procurement)
การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเรียกสั้นๆว่าการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) หมายถึง การจัดซื้อหรือจัดจ้างผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านคุณภาพ ราคา การส่งมอบสินค้าหรือบริการตามที่กำหนด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและบริการโดยพิจารณาตลอดทั้งวัฎ จักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวช่วยทำให้เกิดตลาดผลิตภัณฑ์สีเขียว (Demand-side) กระตุ้นให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพสินค้า หรือ บริการของตนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงคุณภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวัฎจักรชีวิตแทนการ แก้ไขปัญหาที่เกิดจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการ และยังเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกทางการตลาดจากการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
คุณภาพ + ราคา + การส่งมอบ + ปัจจัยสิ่งแวดล้อม = การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว