xs
xsm
sm
md
lg

Review: God of War Ragnarok (PC) อวสานนิทานนอร์สแบบเบิ้มๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แนวเกม แอ็คชั่นผจญภัยอาร์พีจี
แพลตฟอร์ม PC

เรตเกม PEGI: 18 เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป


สองพ่อลูกเลือดร้อนกลับมาผจญภัยบนพีซีอีกครั้งในภาคบทสรุปปิดตำนานเทพเจ้าไวกิ้ง ซึ่งขนาดไฟล์ของมันทำให้การบังคับผูกบัญชี PSN กลายเป็นเรื่องขี้ประติ๋วไปเลย

สำหรับ God of War Ragnarok นั้นเชื่อว่าหลายคนคงเคยสัมผัสประสบการณ์สุดยิ่งใหญ่กันไปแล้วเมื่อครั้งที่มันออกวางจำหน่ายลงบนเครื่องคอนโซล เพลย์สเตชัน 4 และ เพลย์สเตชัน 5 ในปี 2022 ซึ่งทีมงานผู้จัดการเองก็เคยเขียนบทความรีวิวพูดถึงความสุดยอดของมันไปหมดแล้วสามารถหาอ่านได้จากลิงค์ที่เราแนบไว้ด้านล่าง ฉะนั้นเพื่อมิให้มันดูซ้ำซ้อนคราวนี้เราจึงขอโฟกัสมุ่งเน้นไปที่บรรดาฟีเจอร์ใหม่ๆที่ถูกใส่เสริมเพิ่มเข้ามา รวมถึงเจาะจงไปที่ความแตกต่างระหว่างตัวเกมต้นฉบับกับเวอร์ชันพีซี ก็แล้วกัน

โอดิน กับ ธอร์ มาขอให้เครโทสและบุตรชายยุติการกระทำ (แน่นอนคำตอบคือ ไม่!)
เรื่องราวคร่าวๆของภาคแร็กนาร็อก จะกล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากภาคก่อนเป็นเวลา 3 ปี เมื่อฤดูหนาวอันยิ่งใหญ่ได้เข้าปกคลุมดินแดนมิดการ์ดอย่างยาวนานจนทำให้แทบทุกสิ่งกลายสภาพเป็นน้ำแข็ง ด้วยความหวั่นวิตกเกรงว่ามันจะนำมาสู่การล่มสลายของแอสการ์ดตามคำทำนาย มหาเทพ Odin และบุตรคนโต Thor จึงถ่อมายังกระท่อมกลางป่าของ Kratos และ Atreus เพื่อเจรจาสงบศึกโดยสัญญาว่าเหล่าทวยเทพจะให้อภัยในความผิดและจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับสองพ่อลูกอีก หากพวกเขายินยอมที่จะหยุดตามหา Tyr เทพสนิทคนรู้จักกับแม่ของ Atreus แน่นอนว่าสองพ่อลูกเลือกที่จะปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวและนั่นเองจึงนำมาสู่สงครามแห่งจุดจบบทสรุปที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

แอ็คชั่นต่อสู้มุมมองผ่านหลังเช่นเดียวกับภาคที่แล้ว
เหมือนภาคก่อนหน้า ระบบการเล่นจะเป็นแนวแอ็คชั่นอาร์พีจีมองผ่านหลังตัวละครออกผจญภัยต่อสู้สังหารศัตรูเก็บวัตถุดิบทรัพยากรมาคราฟต์โล่-อาวุธ-ชุดเกราะ โดยที่เลเวลค่าความแข็งแกร่งของตัวละครล้วนขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่เราติดตั้งสวมใส่ เพียงแต่ภาคนี้จะมุ่งเน้นโฟกัสถ่ายทอดมุมมองของ Atreus ผู้เป็นบุตรชายมากขึ้นเพราะเขาคือตัวแปรสำคัญ อีกทั้งตลอดการเดินทางในภาคนี้เรายังมีเพื่อนคู่หู AI ที่คอยสลับหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันมาร่วมต่อสู้ไปด้วยกันกับเรา ส่วนจะมีใครบ้างนั้นเราขออุบไว้เป็นเซอร์ไพร์สให้ทุกคนไปค้นพบเองจะดีกว่า

เพียงแต่เจ้าหนู อเทรอัส จะมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม
สิ่งแรกที่สังเกตได้ทันทีเมื่อเปิดตัวเกมเวอร์ชันพีซีขึ้นมา นั่นคืออัตราส่วนภาพที่รองรับกับจอมอนิเตอร์ประเภท UltraWide ซึ่งช่วยมอบความรู้สึกเต็มตาทำให้เราซึมซับดื่มด่ำไปกับบรรยากาศของเกมอย่างเต็มที่ เป็นการสัมผัสอาณาจักรทั้ง 9 ในแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนเลย ยิ่งเป็นบริเวณฉากพื้นที่เปิดโล่งอิสระหรือโอเพ่นแอเรียแล้วประสบการณ์ที่ได้ยิ่งฟิน และที่สำคัญขอบเขตมุมมองที่กว้างขึ้นยังช่วยให้เรามองเห็นศัตรูที่อยู่ริมขอบจุดอับสายตาได้อย่างสบาย เวลาต่อสู้ไม่ต้องคอยหมุนแพนกล้องบ่อยๆหรือกดกลับหลังหันให้วุ่นวาย

จอกว้างสะใจ ดีเทลรายละเอียดอย่างสุด (ที่เห็นตัวละครเล็กเพราะภาพถูกย่อส่วน ของจริงไม่เล็กนะขนาดตัวเท่าปกติ)

ฉากนั่งเรือสำรวจ

ในถ้ำน้ำแข็ง

แล้วนี่ที่ไหนกันนะ คุ้นๆ

ศัตรูเกิดด้านข้างด้านหลังก็ยังมองเห็น
สำหรับสเปคเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ในการทดสอบ ต้องขอบคุณทางบริษัท AMD ที่ให้ความอนุเคราะห์อัพเกรดจัดการ์ดจอตัวแรง AMD Radeon RX 7800 XT 16GB มาให้เราได้ใช้ในการเล่นและรีวิวเกมนี้ โดยที่ตัวซีพียูนั้นยังคงเป็น AMD RYZEN 5 5500, แรม G.SKILL SNIPER-X 16GB BUS3600 และติดตั้งลงบนเมนบอร์ด ASUS TUF GAMING A520M-PLUS

ปล่อยมันไว้แบบดั้งเดิม ไม่ต้องปรับอะไร (FSR ไม่ต้อง เฟรมเจนฯไม่เปิด) แค่เลือกคุณภาพกราฟิกสูงสุด Ultra อย่างเดียวพอ
จากการทดสอบเซตตั้งค่าความละเอียดเอาไว้ที่ 3440x1440 พร้อมกับปรับคุณภาพกราฟิกภายในเกมทุกอย่างให้แม็กซ์สูงสุดระดับ Ultra โดยที่ยังไม่ได้เปิดใช้งานฟีเจอร์ AMD FSR 3.1 หรือ Frame Generation ผลลัพธ์ที่ได้คือเฟรมเรตจะวิ่งรันอยู่ที่ราวๆ 50-70 fps ขึ้นลงแล้วแต่สถานการณ์ หากเป็นสภาพแวดล้อมแบบเปิดฉากโล่งกว้างเฟรมเรตจะลดต่ำลงมาเล็กน้อย ซึ่งนี่ถือเป็นพลังดิบของการ์ดจอแบบเพียวๆปราศจากตัวช่วยเหลือใดๆ

แล้วมาจิ้มเปิดใช้งานฟีเจอร์ AFMF 2 แทน แค่นี้เฟรมเรตก็พุ่งทะยาน
ถ้าถามความเห็นเรา เราขอแนะนำว่าเหล่าผู้ใช้งานการ์ดจอ AMD ทุกคนว่า คุณไม่จำเป็นต้องไปยุ่งแตะอะไรกับตัวฟีเจอร์ FSR เลย เพราะฟีเจอร์ที่สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างแท้จริงนั้นมันอยู่ที่ตัว AMD Fluid Motion Frames 2 ในซอฟต์แวร์ ADRENALIN โดยเมื่อคุณใช้เมาส์จิ้มเปิดใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าวเพียงแค่คลิกเดียวเท่านั้น ค่าเฟรมเรตในเกมจะพุ่งทะยานขยับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวแบบอัตโนมัติ ขณะที่ความคมชัดของภาพยังคงเดิมไม่ถูกลดทอนคุณภาพใดๆ ซึ่งในกรณีของผู้รีวิวแล้วค่าเฟรมเรตของเกมหลังเปิดใช้งานฟีเจอร์ AFMF 2 จะวิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 140 fps เพิ่มขึ้นจากเดิมมากเลยทีเดียว


***AMD Fluid Motion Frames 2 เป็นการใช้ AI แทรกเฟรมเข้าไปในระดับไดร์เวอร์และต้องใช้หน้าต่างโอเวอร์เลย์ของ ADRENALIN เท่านั้นในการตรวจวัดค่า FPS ที่เพิ่มสูงขึ้น***

โหมดเสริม วัลฮัลลา สามารถเข้าเล่นได้ทันทีตั้งแต่เริ่ม
นอกจากโหมดแคมเปญหลักที่ใช้เวลา 50 ชั่วโมงอัพในการตามเก็บให้ครบทุกสิ่งอย่างแล้ว ตัวเกมในเวอร์ชันพีซียังบรรจุมาพร้อมกับคอนเทนต์ดาวน์โหลดฟรีที่มีชื่อว่า "วัลฮัลลา" (Valhalla) โหมดเสริมสไตล์โร้กไลต์ที่ผู้เล่นสามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่ต้นไม่จำเป็นต้องเคลียร์เกมหลักให้จบก่อน ซึ่งเหตุผลที่ เครโทส สามารถเหยียบย่างก้าวเท้าเข้าไปในดินแดนของนักรบผู้วายชนม์ได้ นั่นเป็นเพราะว่าในอดีตเขาเคยถูกเทพซุสสังหารฆ่าตายแล้วฟื้นคืนชีพกลับขึ้นมาใหม่นั่นเอง โดยโหมดดังกล่าวจะสุ่มด่านสภาพแวดล้อม ศัตรูข้าศึก รวมถึงสกิลความสามารถในกล่องสมบัติแตกต่างกันไปในแต่ละรอบ และเราต้องตัดสินใจเลือกว่าในรอบนี้อยากให้ตัวละครโดดเด่นเก่งกาจด้านไหน เน้นโจมตี เน้นป้องกัน หรือเน้นไปที่ท่าไม้ตาย ซึ่งทุกครั้งหลังจบการต่อสู้ตัวเราจะได้รับของรางวัลเป็นทรัพยากรมีทั้งแบบชั่วคราวใช้จ่ายได้แค่เฉพาะในรอบนั้นกับทรัพยากรอัพเกรดตัวละครให้แข็งแกร่งขึ้นแบบถาวรพร้อมลุยในรอบต่อๆไป นับเป็นโหมดที่เล่นวนซ้ำได้เรื่อยๆไม่มีวันสิ้นสุดแถมเป็นโอกาสดีที่เราจะได้หวนรำลึกความหลังกลับไปเยือนหุบเขาโอลิมปัสบ้านเกิดของเฮียโล้นด้วยนะเออ

ต่อสู้กับศัตรูแบบสุ่มในฉากที่คุ้นเคย

เปิดกล่องสมบัติหาทรัพยากร

บางครั้งอาจมีสกิลที่เราต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมาสองไม่ได้

จบแต่ละรอบ สามารถอัปเกรดพลังชีวิต พลังป้องกัน สเตตัสต่างๆแบบถาวร เพื่อพร้อมสู้ในรอบถัดไป

นี่คือสถานที่แห่งความทรงจำของ เครโทส ฉะนั้นอาจเจอเพื่อนเก่าจากโอลิมปัสได้
ส่วนเรื่องที่ทาง โซนี่ บังคับใช้มาตรการเชื่อมโยงบัญชี PSN เพื่อเล่นเกมแบบออฟไลน์นั้น เนื่องด้วยปกติเราเล่นเกมบนเครื่องคอนโซลอยู่แล้วเลยไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่ติดใจเรามากกว่านั่นคือเรื่องขนาดไฟล์ตัวเกมเวอร์ชันพีซีที่อัพไซส์ใหญ่ขึ้นเกินเท่าตัวจากต้นฉบับ กวาดกินพื้นที่ฮาร์ดดิสก์ของเราไปถึง 175GB เรียกว่าใหญ่กว่าขนาดไฟล์เกม Call of Duty ภาคล่าสุดที่อัพเดตแพทช์จนถึงซีซั่นสุดท้ายเสียด้วยซ้ำ ด้วยความใหญ่โตมโหฬารนี้เองฉะนั้นก่อนตัดสินใจกดซื้อเกมนี้คุณควรลองถามใจตัวเองให้ดีว่า - 'พร้อมจะลบเกมหมาที่เล่นประจำอยู่ทุกวันแล้วหรือยัง?'

แค่ล็อกอินด้วยบัญชี PSN ก็เข้าเล่นได้แล้ว ไม่ต้องถึงขั้นผูกกับสตีมหรอก (เราก็ไม่ผูกเพราะกลัวโดนแฮค)

ลงแค่สองเกม SSD ก็ไม่เหลือที่ว่างให้ใครอื่นแล้ว (หงอคงยังกินพื้นที่น้อยกว่าอีกรึเนี่ย?)
"เรื่องคุณภาพความสุดยอดของ God of War Ragnarok เราคงไม่ต้องพูดอะไรมากเพราะเซตมาตรฐานไว้สูงตั้งแต่สมัยคอนโซลแล้ว และการพอร์ตลงพีซีในครั้งนี้ก็ยิ่งผลักดันประสบการณ์ให้เหนือชั้นยิ่งขึ้นไปกว่าตอน PS5 ด้วยขอบเขตมุมมองที่กว้างระดับอัลตร้าไวด์แถมเล่นได้แบบลื่นๆสบายใจเพราะ Optimize มาค่อนข้างดี เท่าที่เล่นมาแทบไม่เจอปัญหาบัคเกมค้างเกมล่มอะไร มีแค่เรื่องขนาดความใหญ่ของเกมเนี่ยแหละที่เสียเวลานานในการดาวน์โหลดและแอบรู้สึกเคืองโกรธที่ต้องโบกมือลาหลายเกมภายในเครื่อง ก็เข้าใจอยู่นะว่าทางทีมผู้พัฒนาอยากให้งานภาพออกมาดีที่สุด แต่คุณพี่ช่วยกรุณาบีบอัดไฟล์ให้เล็กลงมาสักหน่อยไม่ให้เกินร้อยกิ๊กได้ จะเป็นพระคุณอย่างสูง"

เกมเพลย์9
เนื้อเรื่อง9
กราฟิก9
Performance     9
ความคุ้มค่า9
ภาพรวม9

ข้อดี: เรื่องราวมหากาพย์ซัดเทพนอร์สที่เข้มข้นสรุปครบจบในภาค, เล่นผ่านจอกว้างรู้สึกฟินสะใจสังเกตศัตรูได้ง่าย, ภาพสวยรายละเอียดคมชัดยิ่งกว่าเวอร์ชัน PS5, ลูกเล่นเกมเพลย์ใหม่ๆจากอาวุธ-คู่หูร่วมเดินทาง, เป็นประสบการณ์พอร์ตลงพีซีที่สมูทลื่นไหลเหมือนนั่งเล่นบนคอนโซล, เนื้อหาแคมเปญยืดเยอะยาวเหยียดมีอะไรให้สำรวจเพียบ, โหมดเสริมวัลฮัลลาช่วยให้ผู้เล่นสนุกติดหนึบอยู่กับเกมต่อไปได้เรื่อยๆ และฟีเจอร์ AFMF 2 ที่เสมือนพระมาโปรดเปลี่ยนชีวิตการเล่นเกมพีซีของพวกเราไปตลอดกาล

ข้อเสีย: ตอนตัดเข้าสู่ฉากคัตซีนแอบมีกระตุกเล็กน้อย, บังคับล็อกอินบัญชี PSN โดยปราศจากสิทธิประโยชน์อันใด และขนาดไฟล์อันมหึมากว่าจะลงได้แทบล้างเครื่อง

สนับสนุนบทความรีวิวโดยบริษัท โซนี่ อินเตอร์แอคทีฟ เอนเตอร์เทนเมนต์ Sony Interactive Entertainment (SIE)




*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*


กำลังโหลดความคิดเห็น