แนวเกม กดตามจังหวะดนตรี
แพลตฟอร์ม PS4, Switch
เรตเกม ESRB: T เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป
ภาคใหม่เกมแนว Rhythm Action ยำรวมมิตรบทเพลงดังในจักรวาลไฟนอลฯ ที่ถูกสร้างมาเพื่อเหล่าสาวกผู้มีจังหวะดนตรีในหัวใจ
สำหรับ Theatrhythm นั้นเป็นชื่อแฟรนไชส์เกมกดตามจังหวะดนตรีสุดโด่งดังของเครื่องพกพา นินเทนโด 3DS ที่มีประวัติยาวนาน โดยคอนเซปต์ของมันคือการหยิบรวบรวมเอาเหล่าบทเพลงจากไอพีเกมต่างๆของค่ายสแควร์เอนิกส์มาให้แฟนๆได้ฟังและจิ้มกดตามจังหวะกัน แม้นานทีจะมีบทเพลงจากซีรีส์ดราก้อนเควสต์หรือซีรีส์คิงดอมฮาร์ตส์มาปรากฏบ้าง แต่ส่วนใหญ่มักจะวนเวียนอยู่กับซีรีส์ไฟนอลแฟนตาซีเป็นหลัก เหมือนเช่นผลงานเกมภาคใหม่ล่าสุดนี้ที่มีชื่อว่า Theatrhythm Final Bar Line ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แฟรนไชส์ที่พัฒนาลงให้กับเครื่องคอนโซลเพลย์สเตชันของ โซนี่
รูปแบบการเล่นยังคงพื้นฐานเดิมคล้ายภาคก่อนๆ ที่เราในฐานะผู้เล่นต้องคอยกะเวลากดปุ่มให้ตรงตามจังหวะที่รูปไอคอนทรงกลมเคลื่อนผ่านรูช่องว่างอย่างพอดิบพอดีไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป หากกดได้ถูกจังหวะเหล่าตัวละครเอกไฟนอลฯที่อยู่ด้านล่างก็จะโจมตีทำคอมโบเข้าใส่มอนสเตอร์อย่างสะดวกลื่นไหล แต่หากกดพลาดผิดจังหวะฝ่ายเราก็โดนศัตรูโจมตีสวนกลับรับแดเมจเช่นเดียวกัน ถ้ากดพลาดติดกันบ่อยๆจนหลอดเลือดพลังชีวิตหมดเกลี้ยงก็เป็นอันจบเกมโอเวอร์ต้องกลับไปเริ่มเล่นใหม่
เมื่อย้ายมาอยู่บนเครื่องคอนโซลที่ใช้คอนโทรลเลอร์ในการเล่น คันโยกอนาล็อกซ้าย-ขวาจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยในภาคนี้เราจะเห็นไอคอนทรงกลมรูปแบบพิเศษที่มีลูกศรขึ้น ลง ซ้าย ขวา หรือเฉียงทะแยงกำกับไว้อยู่ด้วย ซึ่งนอกจากจะต้องกดปุ่มให้ตรงจังหวะแล้วเราต้องดันอนาล็อกให้ถูกทิศตรงกับลูกศรที่ชี้ไปด้วย ดังนั้นความสับสนวุ่นวายจึงพวยพุ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวโดยเฉพาะกับใครที่ต้องการเล่นในระดับความยากสูงสุดอย่าง Supreme
แต่สำหรับมือใหม่ก็ไม่ต้องกังวลกลัวว่าจะเล่นไม่ได้ เพราะตัวเกมได้บรรจุโหมด Basic พื้นฐานจังหวะดนตรีช้าๆเนิบๆมาให้เป็นทางเลือกเช่นกัน หรือถ้าใครจะเอาแบบผ่านชัวร์ๆกดไม่พลาดเลือดแทบไม่ลดเลย ก็สามารถกดปุ่มสามเหลี่ยมในหน้าจอเมนูก่อนเล่นเพลงเพื่อสลับไปใช้การบังคับรูปแบบ Simple กดแค่ปุ่มเดียวตลอดทั้งเพลงได้ไม่ต้องคอยเลื่อนอนาล็อกไปมาให้ปวดหัว ซึ่งมันทั้งสะดวกสบายและช่างเหมาะกับคนที่กำลังประสบปัญหาอาการจอยดริฟต์เสียเหลือเกิน
โหมดการเล่นหลักของเกมจะอยู่ตรงที่ Series Quest โหมดที่หยิบเอาทุกบทเพลงในจักรวาลไฟนอลแฟนตาซีมารวมไว้ในที่เดียวโดยจำแนกแยกย่อยแบ่งออกเป็นภาคๆตั้งแต่เกมไฟนอลฯภาคแรกยันภาคล่าสุด XV ขนมาหมดทั้งภาคหลัก ภาคต่อ ภาคออนไลน์ ภาคแยกสปินออฟ ภาคเจ็ดรีเมค ภาคมือถือ หรือแม้กระทั่งที่เป็นหนังแอนิเมชั่นอย่าง Advent Children ก็ยังบรรจุใส่มาให้เล่น รวมจำนวนเบ็ดเสร็จทั้งสิ้น 29 ไตเติ้ล 300 กว่าบทเพลง ซึ่งในแต่ละภาคเราจะได้มีโอกาสปลดล็อคเหล่าตัวละครเอกและเหล่าวายร้ายประจำภาคนั้นๆมาเข้าร่วมทีมปาร์ตี้ ลักษณะการเล่นจะเป็นการตะลุยเคลียร์สเตจเป็นเส้นตรงไปเรื่อยๆจนถึงสเตจบอสสุดท้าย ระหว่างทางอาจพบเจอทางแยกให้ตัดสินใจเลือกว่าอยากจะสู้กับใครและสามารถย้อนวนกลับมาเก็บสเตจที่ยังไม่เคลียร์ได้ตลอด ส่วนกุญแจที่เปิดได้จากกล่องหีบสมบัติก็มีเอาไว้ไขปลดล็อคเกมไฟนอลฯไตเติ้ลใหม่ๆที่เราอยากจะเล่นต่อเป็นลำดับถัดไปนั่นเอง เรียกว่าไม่มีอะไรซับซ้อนเข้าใจง่ายคล้ายกับเกมมือถือเลยละ
ก่อนเริ่มเล่นเพลง เราสามารถกดปุ่ม Options เพื่อเข้าไปจัดแจงสมาชิกในทีมปาร์ตี้ทั้ง 4 ตำแหน่ง ซึ่งตัวเกมจะเปิดโอกาสให้เราสร้างทีมตัวละครไฟนอลฯในฝันของตัวเองได้อย่างอิสระ อยากจะสร้างทีมพระเอก ทีมนางเอกโชว์พลังหญิง ทีมรวมดาวร้าย ทีมลูกผสมเทาๆ หรือจะจับคลาวด์ต้นฉบับมาคู่กับคลาวด์เวอร์ชันใหม่ในทีมเดียวกันก็ยังได้ โดยสิ่งที่ต้องคำนึงเวลาจัดทีมคือเรื่องของสายอาชีพ เพราะในแต่ละบทเพลงมันจะมีเควสต์เงื่อนไขพิเศษที่แตกต่างกันออกไป เช่น เพลงหนึ่งกำหนดให้เราต้องรักษาพลังชีวิตให้สูงเข้าไว้ การส่งตัวละครสายแทงค์อึดเลือดเยอะลงไปคู่กับตัวละครสายฮีลคอยเติมเลือด ก็จะช่วยให้เราผ่านเควสต์ดังกล่าวได้ง่ายดาย บางเพลงกำหนดให้กำจัดศัตรูด้วยธาตุเราก็ควรบรรจุตัวละครสายเวทย์ลงไปในปาร์ตี้ หรือบางเควสต์เน้นจำนวนคิลถ้าสมาชิกทุกคนในทีมเป็นสายแดเมจก็จะสังหารศัตรูได้ไวขึ้น อะไรแบบนี้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว
นอกเหนือจากสายอาชีพ สกิลอบิลิตี้ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเราสามารถเลือกสวมใส่ติดตั้งลงไปในแต่ละตัวละครได้มากสูงสุด 3 ช่อง จะเลือกใส่สกิลไหนก็ต้องให้สอดคล้องกับบทเพลงที่เราเล่น สมมติเล่นเพลงประเภทเดินสำรวจฉากฟิลด์ Field Music Sequence (FMS) ถ้าเราติดตั้งสกิล Haste ของทีฟ่า ปาร์ตี้ของเราก็เร่งสปีดฝีเท้าเดินไปข้างหน้าได้ไวขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าเป็นเพลงประเภทเน้นต่อสู้กับบอส Battle Music Sequence (BMS) ก็ควรติดตั้งใส่สกิลท่าไม้ตายลงไปให้เยอะๆ เช่น Omnislash ของคลาวด์, Lion Heart ของสควอล หรือ Ultima Blade ของเซฟิรอธ ซึ่งสกิลท่าแรงๆพลังโจมตีสูงๆเหล่านี้จะถูกปลดล็อคออกมาให้เลือกใช้เมื่อตัวละครมีเลเวลสูงถึงขั้นที่กำหนด ดังนั้นหากใครอยากมีทีมเก่งๆไว้ใช้งานก็ต้องเหนื่อยฟาร์มกันหน่อยละ
สำหรับของรางวัลที่เราได้รับหลังเล่นจบเพลง มีไล่ตั้งแต่ไอเทมอัพค่าสเตตัส การ์ดรูปตัวละคร เรือเหาะลำใหม่ มนต์อสูรตนใหม่ ไปจนถึงสกินเสื้อผ้าสวมใส่ของเจ้ามูเกิล แต่ที่เป็นไฮไลท์เด็ดสุดคงต้องยกให้ Event Music Sequence (EMS) บทเพลงสรุปรวมฉากเหตุการณ์สำคัญต่างๆของแต่ละภาคที่ทำออกมาในรูปแบบมิวสิควิดีโอ บรรเลงเพลงตีมหลักประจำภาคไปพร้อมกับฉายมูวี่ CG ประกอบ ในขณะที่ตัวเราต้องคอยกดปุ่มตามตัวโน้ตที่เลื่อนลงมาในแนวดิ่งคล้ายกับเกมกีตาร์ฮีโร่ โดยเงื่อนไขในการปลดล็อคมันคุณจำเป็นต้องเคลียร์สเตจสุดท้ายให้สำเร็จแล้วมิวสิควิดีโอของไฟนอลฯภาคนั้นก็จะไปปรากฏให้เลือกอยู่ในโหมดเล่นเพลงอิสระ Music Stages ยกตัวอย่างหากคุณเคลียร์ภาค VII Remake ก็จะมีเพลง Hollow มาให้ได้เลือก หรือหากเคลียร์ภาค X คุณก็จะได้ปลดล็อคเพลง Suteki Da Ne ที่มีฉากซีนลากลงไปกินในน้ำ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เพลงในเกมจะมีให้เลือกเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด แต่มันจะมีบางบทเพลงที่ถูกล็อคเอาไว้อยู่หลังกำแพงเงินตรา แถมเป็นเพลงไพเราะระดับตำนานเสียด้วยอย่าง Eyes on Me เพลงตีมหลักประจำภาค VIII ที่ตัวผมเองมีความหลังสุดประทับใจกับมัน หรือบทเพลง Melodies of Life ของภาค IX ที่หลายคนคิดถึง ทั้งคู่ต่างถูกล็อคอยู่ในชุด Digital Deluxe ซึ่งคุณต้องอัปเกรดจ่ายเพิ่มอีกพันนึงเพื่อเข้าถึงมัน นี่ยังไม่นับรวมซีซั่นพาสและเพลง DLC ที่จะตามมาในอนาคตอีกนะ ยิ่งไปกว่านั้นเพลงที่บรรจุมาถ้าต้นฉบับเป็นเวอร์ชันภาษาญี่ปุ่น มันก็จะไม่มีเวอร์ชันภาษาอังกฤษมาให้ได้เลือกเลย ก็เข้าใจอยู่หรอกนะว่าเนื้อร้องญี่ปุ่นมันฟังดูคลาสสิคไพเราะกว่า แต่สำหรับบางบทเพลงอย่าง 1000 Words ในภาค X-2 คำร้องภาษาอังกฤษถือว่าทำออกมาได้ดีไม่แพ้ญี่ปุ่นเลย และเชื่อว่าสาวกไฟนอลฯทั่วทั้งโลกคงติดหูคุ้นชินกับคำร้องอังกฤษไปแล้ว ที่พูดนี่ไม่ได้จะขิงว่าเวอร์ชันไหนดีกว่ากันนะ แต่แค่อยากแนะนำว่าตัวเกมควรใส่มาให้ผู้เล่นได้เลือกทั้งสองภาษา...
ในส่วนของระบบมัลติเพลย์เยอร์ เกมนี้จะรองรับทั้งแบบออฟไลน์เล่นคู่กันสองคนที่เรียกว่า Paired ซึ่งจะเป็นการเข้าเล่นเพลงเหมือนปกติเพียงแต่จะแบ่งหน้าที่กัน คนหนึ่งคอยกดตัวโน้ตที่วิ่งอยู่แถวบน ขณะที่อีกคนรับผิดชอบตัวโน้ตแถวล่างไป และสำหรับใครที่อยากวัดดวลฝีมือกับผู้เล่นคนอื่นๆทั่วโลกก็ต้องนี่เลย Multi Battle โหมดออนไลน์แข่งขันพร้อมกัน 4 คนที่จะให้ผู้เล่นแต่ละคนเลือกเพลงโปรดที่ตนอยากเล่นแล้วระบบจะทำการสุ่มว่ารอบนี้จะได้เล่นเพลงของใคร กติกาคือใครสะสมแต้มสกอร์ได้สูงสุดเมื่อเพลงจบก็คว้าชัยชนะไปและผลงานจะส่งผลโดยตรงต่ออันดับแรงค์ของเรา ซึ่งแน่นอนว่าคู่แข่งแต่ละคนที่จับคู่พบเจอในโหมดนี้ล้วนเป็นเหล่าบรรดาขาเซียนเขี้ยวลากดินตัวละครเลเวล 99 อัพกันแทบทั้งสิ้น แถมกฎยังบังคับให้ทุกคนต้องเล่นแบบ Standard (กดปุ่มและดันอนาล็อกควบคู่ไปด้วย) เท่านั้นเพื่อความแฟร์ ฉะนั้นเหล่ามือใหม่หัดเดินทั้งหลายที่เล่นแบบกดปุ่มเดียวมาตลอดจึงแทบไม่มีโอกาสชนะได้เลย
"เอาเป็นว่าหากคุณชื่นชอบเกมแนวจังหวะดนตรีและเป็นสาวกไฟนอลแฟนตาซีอยู่แล้ว มันคงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปฏิเสธมองข้ามเกม Theatrhythm Final Bar Line แต่ถึงอย่างไรด้วยข้อจำกัดของเกมเพลย์แนวจังหวะดนตรีที่ให้ผู้เล่นนั่งจ้องปุ่มโฟกัสแต่ตัวคีย์โน้ตทั้งวี่ทั้งวันมันอาจทำให้หลายคนรู้สึกหมดไฟหมดแรงจูงใจในการเล่นได้อย่างรวดเร็ว นี่ถ้าหากลองเปลี่ยนแนวเกมมาเป็นแอ็คชั่นอาร์พีจีเต็มสูบบังคับตัวละครและกดโจมตีเอง จัดทีมปาร์ตี้รวมดาวไฟนอลฯแล้วพาไปตะลุยดันเจี้ยนพร้อมกัน เราคงเทใจมอบคะแนนสัก 9 หรือให้เต็ม 10 ไปแล้ว"
เกมเพลย์ | 7 |
กราฟิก | 7 |
เสียง | 9 |
จำนวนเพลง | 8 |
ความคิดสร้างสรรค์ | 8 |
ภาพรวม | 7.8 |
ข้อดี: รวมซีรีส์ไฟนอลฯเอาไว้มากมีหมดครบทุกภาค, จัดทัพสร้างทีมตัวละครในฝันได้อย่างอิสระเสรี, สกิลอบิลิตี้ที่แตกต่างทำให้มันลึกซึ้งกว่าเกมแนวดนตรีทั่วไป, กราฟิกสไตล์การ์ตูน SD น่ารักสดใส, บทเพลงไพเราะชวนหวนรำลึกถึงความหลัง และความยากหลากระดับใครๆก็สามารถสนุกกับมันได้
ข้อเสีย: การเล่นกดปุ่มเดิมๆซ้ำๆใครไม่รักจริงอาจเบื่อได้ง่าย, บังคับจ่ายซื้อชุดใหญ่หรือ DLC เพื่อเข้าถึงเพลงดังระดับตำนาน, เพลงส่วนใหญ่มีแต่คำร้องเวอร์ชันภาษาญี่ปุ่น และโหมดออนไลน์ที่ไม่ต้อนรับผู้เล่นหน้าใหม่ๆ
สนับสนุนบทความรีวิวโดยบริษัท บันไดนัมโค Bandai Namco Entertainment
*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*