แนว แอ็คชั่นอาร์พีจี
ระบบ PS4, PC, Switch (ออก 11 ก.ค.)
เรตเกม PEGI: 12 เหมาะสำหรับผู้เล่นที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป
ภาคหลักอันดับสามของแฟรนไชส์ แอ็คชั่นอาร์พีจีตีมอนฯ ที่พยายามเดินตามรอยความสำเร็จของตำนานเกมดัง แม้มันจะไม่ใช่สิ่งที่ตนเองถนัดก็ตาม
หลังผ่านพ้นภารกิจติดพัน จากการที่มีเกมดังๆระดับแม่เหล็กทยอยออกติดๆกันในช่วงต้นปี คราวนี้จึงถึงเวลาดีที่เราจะได้พักผ่อนหายใจ หยิบนำเกมเก่าที่หลงเหลือตกค้างมารีวิวกันเสียที ซึ่งเกมผู้โชคร้ายที่โดนกลบกระแสท่ามกลางฝูงปลาใหญ่ในท้องตลาด จนถูกเราหมักดองเอาไว้เป็นแรมเดือน นั่นก็คือ God Eater 3 เกมแอ็คชั่นฟาดฟันอสูรภาคต่อของค่าย บันไดนัมโค ที่เชื่อว่าตอนนี้แฟนๆหลายคนคงเล่นจบกันไปหมดแล้ว
เนื้อหาในภาคสามนี้ จะติดตามเรื่องราวของ AGEs (Adaptive God Eaters) กลุ่มนักสู้นิวไทป์สายเลือดใหม่ ซึ่งเป็นเหล่าเด็กเยาวชนที่ถูกจับมาทำการทดลองดัดแปลงให้กลายเป็นนักรบ ก็อดอีตเตอร์ เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องกำราบปราบเทพอสูร "อารากามิ" แทนพวกมนุษย์ โดยชีวิตประจำวันของพวกเขาเหล่านี้ หมกมุ่นอยู่กับการออกไปต่อสู้ทำงานเสี่ยงตายเยี่ยงทาส เสร็จกิจก็กลับมาเข้าห้องคุมขังตามเดิมราวกับนักโทษ จนกระทั่งวันหนึ่งดันเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จากการปรากฏตัวของอสูรสายพันธุ์ใหม่นาม Ash Aragami ที่เข้ามาปั่นป่วน และทำให้ชะตาของเหล่านกน้อยในกรงเหล็กต้องแปรเปลี่ยนไปตลอดกาล
ผู้เล่นต้องเริ่มต้นจากการสร้าง ตัวละครอวตาร์ ของตัวเอง ที่จะมาเป็นคู่หูร่วมแชร์ห้องขังเดียวกันกับตัวเอก Hugo และเหล่าผองเพื่อนสมาชิก AGEs ทั้งหลาย โดยตัวเกมจะให้เราบังคับตัวละครเดินสำรวจฉากห้องขัง หรือฉากห้องโดยสารยานพาหนะต่างๆ เพื่อตระเวณพูดคุยกับตัวละคร NPC ที่มีสัญลักษณ์สามจุดปรากฏอยู่บนศีรษะให้ครบทั้งหมด จากนั้นจึงจะสามารถกดรับเควสต์ แล้วออกข้างนอกไปผจญภัยทำภารกิจคล้ายๆกับเกม Monster Hunter
แม้เงื่อนไขการเคลียร์ผ่านด่าน ที่ให้เราไล่ล่าปราบกำจัดมอนสเตอร์ ภายในเงื่อนไขกรอบเวลาที่กำหนด จะดูคล้ายคลึงกับตำนานเกมดังต้นฉบับ แต่ด้านบรรยากาศความสมจริงแล้ว มันกลับเหมือนหนังคนละม้วน เนื่องด้วยตัวเกมไม่เรียกร้องให้ผู้เล่นต้องใช้สมองคิดแผน สั่งงานมอบหมายหน้าที่ หรือวางกับดักอะไรให้ยุ่งยาก ไม่ว่าบอสใหญ่จะเป็นใคร หรือต่อสู้กันในฉากสภาพแวดล้อมแบบไหน ต่างก็ล้วนใช้กลยุทธ์วิธีเบสิคพื้นฐานแบบเดียวกันในการผ่านแทบทั้งสิ้น นั่นคือการหลบหลีก และอาศัยจังหวะโจมตีสวนกลับ ตอดพลังชีวิตของเจ้าอสูรไปเรื่อยๆจนกว่ามันจะตาย ซึ่งจริงอยู่ที่มันช่วยให้ตัวเกมแลดูเล่นง่าย แต่มองในมุมกลับ มอนสเตอร์ ที่ผู้เล่นไม่ต้องใช้ความอุตสาหะคิดค้นหาวิธีปราบ มันก็ไม่ต่างจากลูกสมุนที่พอฆ่าเสร็จก็ไม่มีอะไรให้เราพูดถึงเช่นเดียวกัน
ด้วยความที่กลุ่มตัวละครเอกเป็น นักรบนิวไทป์สายเลือดใหม่ ที่มีความพิเศษแตกต่างจาก "ก็อดอีตเตอร์" ธรรมดาทั่วไป ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นลูกเล่นใหม่ๆ และระบบต่างๆที่ค่อนข้างเยอะแยะรุงรังถูกอัดใส่เพิ่มเข้ามาในเกมภาคนี้ ไล่ตั้งแต่ Dive (R2+X) ท่าพุ่งตัวไปข้างหน้า หรือติดตามเป้าหมายด้วยความเร็วสูง ที่ช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทาง และเข้าถึงจุดอ่อนของมอนสเตอร์ได้อย่างง่ายดาย, Engage (R2+L2) ฟีเจอร์ปลดปล่อยพลังสองประสาน ที่เราต้องช่วยกันรุมโจมตีมอนสเตอร์กับเพื่อนที่อยู่ใกล้ๆไปสักพักถึงจะกดใช้ได้ โดยเมื่ออยู่ในสภาวะดังกล่าว การโจมตีปกติของเราจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นท่า Burst Arts ที่ดูรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังมี Acceleration Trigger ระบบช่วยเหลือในระหว่างหารต่อสู้ ที่สามารถบูสต์ค่าพลังของตัวละครชั่วระยะหนึ่ง โดยแลกกับการทำเงื่อนไขพิเศษอย่างทำคอมโบให้ได้ตามที่กำหนด หรือใช้ท่าใดท่าหนึ่งให้ครบตามจำนวนครั้ง อะไรแบบนี้เป็นต้น
ทางด้าน ศาสตราวุธ ในเกมนี้ มีให้เลือกใช้หลากหลายตามสไตล์ที่เราถนัด อาทิ ดาบคู่ ดาบใหญ่ หอก เคียว ค้อน ไปจนถึงอาวุธทรงแปลกวงแหวนคล้ายเสี้ยวพระจันทร์ โดยอาวุธต่างชิ้นกัน ก็จะมีพลังโจมตี ความคล่องตัว และท่าฟันทำคอมโบเฉพาะให้อัปเกรดแตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าอาวุธไหนๆที่เราเลือก ทุกชิ้นก็สามารถทรานฟอร์มสลับเข้าสู่โหมดปืนสาดกระสุนได้ทั้งนั้น ฉะนั้นแล้วบทบาทของสมาชิกจึงไม่ตายตัว เพราะทุกคนในทีมสามารถเป็นได้ทั้งสายซัพพอร์ตยิงระยะไกล และสายบู๊ระยะประชิด สับเปลี่ยนทดแทนกันได้ตลอดเวลา นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ถึงตัวเกมจะมีอาวุธอยู่มากมายหลายประเภท แต่ฟีลอารมณ์เวลาใช้งานจริง กลับไม่มอบความรู้สึกที่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ เนื่องด้วยเหล่า อสูรมอนสเตอร์ มักปราศจากอาการอากัปกิริยาตอบสนองต่อการโจมตีของเรา ต่อให้ใช้ดาบใหญ่ฟาดฟันเข้าไปเต็มหน้าอย่างจัง มันก็จะไม่แสดงท่าทางผงะ หรือออกอาการมึนงงใดๆให้เราเห็น และยังคงมุ่งหน้าพุ่งขย้ำตามพฤติกรรมที่ตนถูกเขียนโปรแกรมมา ซึ่งทำให้อารมณ์ร่วมของเกมขาดหายไปเยอะพอสมควร ส่วนปัญหาที่ต้องติติงอีกหนึ่ง คือเรื่องการออกแบบแผนผังปุ่มบังคับควบคุมที่ใช้ซ้ำกันอย่างพร่ำเพรื่อ เช่น ปุ่มวงกลม ที่เวลาก้มเก็บของต้องอย่าเผลอไปโดนก้านอนาล็อค ไม่งั้นจะกลายเป็นพุ่งแดชไปทันที หรือ ปุ่ม R1 ที่ถูกใช้บ่อยทั้งการตั้งโล่ป้องกัน วิ่งเร็ว และสลับโหมดปืน อีกทั้งเรายังอึ้งกับความคิดของนักออกแบบ ที่ไม่รู้ว่าพวกเขาหมดปัญญาอับจนหนทางแค่ไหนกันเชียว ถึงได้ทะลึ่งเอาปุ่มกดทิศทางมาใช้แทนปุ่มโจมตี
สำหรับฉากโลกที่ใช้เป็นสถานที่ตีมอนฯ ถูกดีไซน์มาแบบเรียบง่ายตรงไปตรงมา ไม่มีเส้นทางลับลูกเล่นซุกซ่อนใดๆให้ปวดหัว เรียกได้ว่าหากไม่ตาบอดก็คงไม่มีวันเดินหลง ส่วนศัตรูมอนสเตอร์เอง ก็เน้นความยิ่งใหญ่อลังการแฟนตาซีหลุดโลกสมเป็นเทพเจ้า มีท่าทางการโจมตีที่เป็นแพทเทิร์นง่ายๆคล้ายๆกัน หากลองใช้สมาธิสังเกตดีๆไม่วอกแวกกับเอฟเฟกต์แสงสี และแอ็คชั่นตะลุมบอนอันยุ่งเหยิงวุ่นวาย เราจะสามารถจับทางปราบมันลงได้ไม่ยากเย็น ซึ่งด้วยความราบเรียบดั่งเส้นกราฟแนวนอนของเกม ไม่ต้องใช้ความพยายามเรียนรู้อะไรมากมายนัก บางทีก็รู้สึกเนือยๆชวนหนังตาปิดอยู่เหมือนกัน นี่ถ้าไม่ได้ฉากสู้บอสใหญ่ ที่มีดนตรีประกอบคอยปลุกเร้าใจ และคัตซีนแอนิเมชั่นคอยช่วยแบกเอาไว้ ตัวเกมคงมีหวังดิ่งลงเหวยิ่งกว่านี้
เหมือนภาคที่ผ่านๆมา ตัวเกมสามารถเลือกเล่นได้ทั้งแบบออฟไลน์ลุยคนเดียว และแบบออนไลน์มัลติเพลย์เยอร์ สร้างห้องเองหรือไปร่วมแจมกับใครเขา ซึ่งไม่ว่าเราจะเลือกแบบไหน อรรถรสความสนุกก็ไม่ต่างกัน ทั้งนี้ต้องชื่นชมความฉลาดแสนรู้ของเหล่า AI เพื่อนร่วมทีมที่เป็นงาน รู้จังหวะไหนควรเข้าตี จังหวะไหนควรถอยห่าง เมื่อไหร่ควรฮีลเติมพลัง แถมยังรู้ด้วยว่ามอนสเตอร์ศัตรูจะโผล่มาตรงจุดไหนของฉาก ก็รีบวิ่งปรี่ไปดักรอตีทันทีเหมือนเตี๊ยมกันมา โดยเท่าที่เล่นแทบจะไม่เห็นพวกมันตายเสียโควตา Respawn เลยสักครั้ง คงมีแต่เราเท่านั้นที่เป็นตัวถ่วงซะเอง ซึ่งนับเป็นอีกจุดหนึ่งที่ตัวเกมทำได้ดี จนแอบรู้สึกว่ามันดีมากเกินด้วยซ้ำไป
"เทียบกับภาคก่อนๆที่ทำลงเครื่องพกพาแล้ว การมาปรากฏตัวบนคอนโซลอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกของ God Eater 3 นับเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าเดิมในทุกๆด้าน แม้ว่าขาข้างหนึ่งจะยังคงหนีบยึดติดอยู่กับภาพลักษณ์มอนฮันฯอยู่ก็ตาม ซึ่งในฐานะคนเล่น เราก็อยากเดินไปเคาะประตูหน้าบ้าน และส่งเสียงตะโกนบอกทีมพัฒนาดังๆว่า พวกเขาไม่มีความจำเป็นต้องฝืนดันทุรังสวมหน้ากากแกล้งแอ๊บเป็นในสิ่งที่ตนไม่ถนัดอีกต่อไป แล้วควรหันมาเอาดีใส่ใจมุ่งมั่นในความเป็นเกม "แอ็คชั่นสายอนิเมะ" พยายามอัดแน่นฉากการ์ตูนแอนิเมชั่นสวยๆ และสอดแทรกคลังดนตรีประกอบให้มากกว่านี้ รับรองว่ามันต้องปังดังไกลกว่าการซุกหัวอยู่ใต้ร่มเงาใครเขา อย่างแน่นอน"
เกมการเล่น | 6 |
กราฟิก | 8 |
เสียง | 8 |
ความคิดสร้างสรรค์ | 6 |
ภาพรวม | 7 |
ข้อดี : อาวุธหลากชนิดที่มีท่าคอมโบเฉพาะของตัวเอง, นานาลูกเล่นใหม่ๆที่ถูกเสริมใส่เข้ามา, เพลงประกอบแสนไพเราะขึ้นมาได้ถูกจังหวะ, AI ฉลาดเกินคนจนเราดูโง่ไปเลย และนับเป็นภาคต่อที่มีพัฒนาการดีขึ้นจากเดิมในทุกๆด้าน
ข้อเสีย : เนื้อเรื่องดีแต่เลือกวิธีนำเสนอได้แย่, แม็พปุ่มบังคับควบคุมได้ตัวเงินตัวทองเอามากๆ, แอ็คชั่นการต่อสู้ดูมั่วซั่วแยกแยะลำบาก, ฉากคัตซีนการ์ตูนแอนิเมชั่นให้มาน้อยไปหน่อย, ระบบเกมพื้นๆขาดมิติชวนเบื่อง่าย และปัจจัยหยุมหยิมจากซีรีส์ มอนฮันฯ ที่ลอกเขามาแบบครึ่งๆกลางๆ
Shin
สนับสนุนบทความรีวิวโดยบริษัท Bandai Namco Entertainment
อันนี้แถมให้ กับเพลงตีมประกอบฉบับเต็ม
*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*