แนว เทิร์นเบสอาร์พีจี
ระบบ PS4, Nintendo Switch
เรตเกม PEGI: 16 เหมาะสำหรับผู้เล่นที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป
ผลงานเกมภาคล่าสุดในแฟรนไชส์ยำการ์ตูนหุ่นเหล็ก ซึ่งนับเฉพาะแค่ภาคหลักแยกเดี่ยวก็ปาเข้าไปเป็นภาคที่ 11 แล้ว แต่ดูเหมือนทั้งทางทีมผู้สร้าง และเหล่าแฟนคลับเอง จะยังคงพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่
ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า บทความรีวิวนี้ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อสนองตัณหา หรือเอาใจแฟนคลับซีรีส์ ซูเปอร์โรบอท ฉะนั้นแล้ว เหล่าสาวกเลือดเหล็กทั้งหลาย อาจไม่มีความจำเป็นต้องเสียเวลานั่งอ่าน หรือทางที่ดีจะเลื่อนข้ามมันไปเลยก็ได้ เพราะนี่เป็นเพียงมุมมองความคิดเห็นของเกมเมอร์คนหนึ่ง ที่ไม่ได้คลั่งหนักอินจัดกับมันมาก จนถึงขนาดหลงลืมมองข้ามความเป็นจริง
จุดขายที่เป็นหัวใจหลักในซูเปอร์โรบอทแต่ละภาค คือการพยายามสร้างปมผูกเรื่องราวหาเหตุผลจุดเชื่อมโยง เพื่อให้เหล่าตัวละคร รวมถึงหุ่นยนต์ลิขสิทธิ์ ได้มีบทบาทเด่นกันทุกตัว และในครั้งนี้กับภาค Super Robot Wars T พวกเขาก็ได้นำเสนอเรื่องราวสดใหม่ของ Tokitou Saizou และ Sakurai Sagiri สองตัวละครออริจินอลหนุ่มสาวแห่งสถาบัน VTX Union ที่กำลังวิจัยพัฒนา และทดสอบหุ่นยนต์สมรรถนะสูงรุ่นใหม่กันอยู่ ซึ่งนั่นเองทำให้เขาและเธอตกเป็นเป้าหมายจู่โจมของพวกฝ่ายศัตรู แต่ทว่าเคราะห์ดีที่เหล่าฮีโร่แห่งสหพันธ์โลกได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมร่วมทริปออกเดินทางท่องกาแลคซี่ไปกับเรา ในมหาศึกยำใหญ่ใส่สารพัดที่รวมทุกซีรีส์ไว้ด้วยกัน
การเลือกตัวละครชาย-หญิงในเกม จริงๆแล้วมันมิได้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หรือส่งผลกระทบอะไรมากนัก เพราะไม่ว่าเราตัดสินใจเลือกทางไหน เรื่องราวของทั้งคู่ก็จะดำเนินไปเหมือนๆกัน มีต่างอยู่บ้างเพียงแค่บทบาทหน้าที่ที่จะถูกสับเปลี่ยนกันเท่านั้น เช่นหากเราเลือกเล่นเป็นตัวละครสาว "ซากิริ" เธอผู้นี้ก็จะได้เป็นคนขึ้นบังคับหุ่น Tyranado ในขณะที่บทบาทของหนุ่ม "ไซโซ" จะถูกสลับมาเป็นคนขับหุ่นคู่ปรับ Gespenst แทน นั่นเอง
ระบบการเล่นของซูเปอร์โรบอทภาคนี้ ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม เทิร์นเบส แบบดั้งเดิมเอาไว้อยู่ ที่ให้เรากับศัตรู AI ผลัดตากันเดินบนสมรภูมิตารางสี่เหลี่ยม เมื่อถึงเทิร์นผู้เล่นจะสามารถออกคำสั่งให้ยูนิตเคลื่อนที่ไปประจำจุดต่างๆภายในระยะขอบเขต หรือเลือกประเภทการโจมตีใส่ฝ่ายตรงข้าม คล้ายเกมแนวซิมูเลชั่นอาร์พีจีทั่วไป เพียงแต่เป็นเวอร์ชันที่ดูเบาซอฟต์เล่นง่ายกว่ามาก เนื่องจากปัจจัยทางด้านระยะห่าง ตำแหน่งยืนหน้า-ข้าง-หลัง ไปจนถึงอุปสรรคสภาพแวดล้อมสิ่งกีดขวาง จะไม่มีผลใดๆต่อความรุนแรง และความแม่นยำในการโจมตี หนำซ้ำเวลาที่เราเป็นฝ่ายตั้งรับ ระบบเกมยังช่วยเซตเลือกวิธีรับมือการโจมตีของศัตรูให้อัตโนมัติ ว่าจะควรหลบหลีก ป้องกัน หรือใช้ท่าอะไรสวนกลับ โดยคิดคำนวณเตรียมพร้อมมาให้แล้วเสร็จสรรพ อำนวยความสะดวกชนิดที่ว่า ในบางด่านเราแค่กด O ปุ่มเดียวก็ผ่านได้สบาย
แน่นอนว่า เสน่ห์สีสันหัวใจหลักของซีรีส์ ซูเปอร์โรบอท มันต้องอยู่ที่ฉากตัดคัตซีนโชว์การสู้รบอันดุเดือดระหว่างสองหุ่นยนต์ที่เปิดศึกเข้าใส่กัน โดยภาคนี้ยังคงใช้เอนจิ้นกราฟิกแอนิเมชั่นเคลื่อนไหวของภาค 3rd Super Robot Wars Z มานำเสนอ ซึ่งมีความพลิ้วไหวสวยงามราวกับกำลังนั่งชมอนิเมะ บางซีนแอบสอดแทรกฉากจากการ์ตูนต้นฉบับมาด้วย ยิ่งตอนเอ่ยชื่อท่าไม้ตาย เห็นลีลาเด้งดึ๋งนมหกของเหล่าสาวๆ ได้ฟังเสียงเพลงประกอบเฉพาะของแต่ละซีรีส์ไปด้วย ก็ยิ่งเต็มอิ่มชวนฟินสุดๆ เรียกว่าทำได้ดีมากแตกต่างจากฉากสนามรบหุ่นของเล่นตีกัน และฉากเล่าเรื่องของเกมที่มีแต่ข้อความไร้เสียงพากย์ อย่างสิ้นเชิง
ทุกครั้งหลังเสร็จศึก ตัวเกมจะพาผู้เล่นกลับเข้าสู่หน้าต่างเมนู Intermission อันเป็นเหมือนช่วงเวลาพักรบคั่นกลาง เพื่อให้เราเตรียมความพร้อมก่อนลุยสู้ศึกในมิชชั่นถัดไป ซึ่งตรงส่วนนี้ เราสามารถนำเงินที่ได้รับ มาอัปเกรดเพิ่มสมรรถนะด้านต่างๆให้กับหุ่น ติดตั้งพาร์ทชิ้นส่วนใหม่ๆ นำแต้ม Tacpoint มาซื้อปลดล็อคสกิลเพิ่มเติมให้นักขับ หรือเทรนฝึกฝนเหล่า Pilot ที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน ให้มีเลเวลที่สูงขึ้นไล่ตามนักขับลูกรักของเราได้ทัน เพื่อจะได้ไม่เป็นตัวถ่วงในสมรภูมิ และที่สำคัญอย่าลืมหมั่นกดเซฟบันทึกข้อมูลทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่ว่าจะอยู่ในหน้าจอพักรบ หรือระหว่างฉากการต่อสู้ในช่วงหลังๆ ที่ยืดเยื้อกินเวลายาวนานเป็นชั่วโมง
เริ่มแรก เราอาจมีเพียงไม่กี่ยูนิตให้ได้บังคับสั่งการ แต่พอเล่นไปเรื่อยๆสักพักไม่นาน กองกำลังของเรา ก็จะขยับขยายมีหุ่นพันธมิตรร่วมอุดมการณ์จากซีรีส์อนิเมะเรื่องต่างๆ มาแจมมากขึ้นเป็นกองทัพ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมี กันดั้ม มาซินก้า (มาเป็นเวอร์ชันหนังโรง Z Infinity) และ เกตเตอร์ สามเรื่องหลักยืนพื้นเอาไว้เช่นเดิม ส่วนเรื่องอื่นๆนั้นเดี๋ยวมาเดี๋ยวไปสุดแล้วแต่ใจทีมพัฒนา โดยอนิเมะเรื่องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกในภาคนี้ ก็จะมี Expelled from Paradise, Arcadia of My Youth: Endless Orbit SSX, Getter Robo Daikessen รวมไปถึง Cowboy Bebop, และ Magic Knight Rayearth ที่กว่าจะมาได้ เล่นเอาแฟนๆหลงลืมเลิกฮิตกันไปหมดแล้ว
ด้วยเอกลักษณ์อันเด่นดังของซีรีส์ ซูเปอร์โรบอท ที่เน้นหนักส่องไฟสปอตไลท์ไปที่ฉากคัตซีนแอนิเมชั่นสู้รบของหุ่นแต่เพียงจุดเดียว องค์ประกอบด้านอื่นๆจึงดูดร็อป ไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร แม้แรกๆที่ได้เห็นฉากต่อสู้สุดอลังการจะดูน่าตื่นเต้น แต่พอหลังจากผ่านตาไปนับร้อยนับพันครั้ง ความรู้สึกเอือมระอาก็จะเข้ามาแทน ซึ่งเป็นเรื่องเศร้าที่ตัวเกมขาดสีสันด้านอื่นที่โดดเด่นทัดเทียมกัน มาช่วยตัดเลี่ยน สลายความเอียนเหล่านั้นให้หายไป และด้วยเกมเพลย์วางแผนการรบพื้นๆไม่ต้องคิดอะไรมาก ที่มีเงื่อนไขเดิมๆเน้นสามัคคีร่วมแรงกันสู้ ปราศจากมิติความลึก ไร้กลยุทธ์ชวนดึงดูดแบบเกม Final Fantasy Tactics หรือ Fire Emblem เราจึงอยากแนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงการเล่นเกมนี้ในห้องที่มีอุณหภูมิเย็นฉ่ำไว้ เป็นดีที่สุด
เทียบกันแล้ว ซีรีส์ซูเปอร์โบอท คงเป็นเหมือนกับ กองไฟ ที่ลุกโชนอยู่ได้ด้วยเชื้อเพลิงเก่าที่ยังเผาไหม้ไม่หมด และเสี่ยงต่อการมอดดับลงได้ทุกเมื่อ ตราบใดที่พวกเขาไม่คิดเติมเชื้อฟืนใหม่ๆลงไป ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ คงเกิดขึ้นได้ยาก หากพวกเรายังคงปิดตามองข้าม คอยถือหางให้ท้ายกันอยู่แบบนี้
เกมการเล่น | 7 |
กราฟิก | 8 |
เสียง | 8 |
ความคิดสร้างสรรค์ | 6 |
ภาพรวม | 7.5 |
ข้อดี : แอนิเมชั่นฉากการต่อสู้สวยงามตื่นตาตื่นใจ, ดนตรีประกอบเฉพาะของแต่ละหุ่นชวนรำลึกความหลัง, ระดับความยากต่ำเหมาะสำหรับเด็กเล็ก-มือใหม่, ปริมาณเนื้อหาที่ให้มาเยอะจุใจ, มีภาษาอังกฤษพร้อมสรรพได้เล่นทันชาวญี่ปุ่น และจิตวิญญาณเลือดเหล็กที่ไหลเวียนเปี่ยมล้น
ข้อเสีย : เส้นเรื่องเบาคาดเดาง่าย, นำเสนอด้วยภาพนิ่งมีแต่ตัวหนังสือวิ่งไร้เสียงพากย์, สนามรบ-โมเดลหุ่นสามมิติดูไม่ลงทุน, เกมเพลย์เทิร์นเบสตื้นเขินชวนหลับ และไม่มีอะไรแปลกใหม่นอกจากเล่นๆไปเพื่อดูท่า (สู้เอาเวลาไปสร้างหนังหรือการ์ตูนดีกว่า ไม่ต้องทำมาเป็นเกมก็ได้)
Shin
สนับสนุนบทความรีวิวโดยบริษัท Bandai Namco Entertainment
*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*