ทีมงาน Managergame มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณสันติ โหลทอง ที่ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกบุคคลในวงการเกมจับตามองอย่างใกล้ชิด คุณสันติได้ย้อนภาพกลับไปสมัยวันวานในวัยเด็กที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เล่นเกม เก็บเงินเพื่อไปแลกตลับเกม จนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญจากคุณแม่ที่ทำให้ก้าวเข้ามาทำสื่อเกม จนถึงบทบาทล่าสุดกับการสร้างมาตรฐานอีสปอร์ตในบ้านเราให้สังคมโดยรวมยอมรับ...
จากตุ๊กตุ่น สู่ สัมผัสแห่งเกมที่สนุกสนาน...
"คุณพ่อเป็นศิลปินในชุมชน เป็นนักวาด นักปั้น ผมก็เลยอยู่กับดินน้ำมันกับปูนปลาสเตอร์มาตั้งแต่เด็กๆ ผมก็เริ่มที่จะปั้นอุลตร้าแมน ปั้นตัวนู่นตัวนี่ มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่มันก็ไปไม่สุด เพราะว่ามันเป็นการปั้นตัวตุ๊กตุ่นตุ๊กตามาสู้กันอย่างนี้ มันก็เลยเหมือนกับ เป็นตัวที่ปิดกั้นผมอยู่ ให้ผมจินตนาการไปไม่ทะลุสิ่งที่ต้องการ จนกระทั่งวันหนึ่ง ญาติเอาเกมกดมาให้เล่นเกมนึง คล้ายๆสเปซวอร์ สเปซคอมมานเดอร์ ยิงยานอวกาศ เอเลี่ยนหล่นมาทีละตัว ยิงๆ อยู่ดีๆก็คิดขึ้นได้ว่า นี่มันได้สัมผัสจักรวาล มันมีความแฟนตาซี มันตอบสนองจินตนาการเราสุดขีด หลงใหลมันขึ้นมาทันที เราไม่ได้คิดว่ามันคือเกม เราอินกับมันมากสนุกสนานสนานมาก"
สิงเล่นเกมข้างบ้าน เซียนเกมรถแข่งย่านพระโขนง...
"คราวนี้ข้างบ้านซื้ออตาริมาอีก เราก็ไปสิงข้างบ้าน เอาขนมไปแลก เมื่อก่อนบ้านเราทีวีขาวดำ การที่จะไปเล่นเครื่องอตาริข้างบ้านได้นี่ ต้องมีอะไรแลกเปลี่ยน ต้องมีขนม ผลไม้ไปให้เพื่อนกินบ้าง นายขอเล่นเกมบ้านนายหน่อย ก็เริ่มสนุกกับเกมในโหมดจอยคอนโทรลเลอร์ โตขึ้นมาอีกนิดไปเจอตู้เกมหยอดเหรียญหน้าปากซอยหมู่บ้าน เป็นเกมรถแข่ง ผมเล่นเกมรถแข่งจนกระทังรู้สึกว่า ผมเป็นที่สุดในย่านพระโขนงไม่มีใครทาบผมได้ ผมเล่นป๊อกแล้วป๊อกอีก ได้ป๊อกสองตาคือหันมามองทั้งตลาดแน่นอน ป๊อกแรก 1,800 แต้ม ป๊อกสอง 2,000 แต้ม ป้อกสาม 3,000 แต้ม ซึ่งมันหาคนทำป๊อกสามไม่ได้ ต้องบอกก่อนว่าบ้านอยู่ในฐานะที่ต้องเลี้ยงตัวหนักพอสมควร คือจนพอสมควร การที่ใช้เงินหยอดรัวๆไม่ใช่สิ่งดีเลย คืออยากสนุก ต้องเซฟที่สุด ประหยัดเงินที่สุด ก็เลยต้องเก่งให้ได้ มันเป็นการแข่งขันอย่างหนึ่ง"
ลุยตลาดปีนัง เก็บเงินแลกตลับเกม...
"ตอนเรียนก็ไม่ค่อยชอบเรียนเท่าไร ก็เลยพยายามเสนอหน้าไปทำงานที่บริษัทพี่ชาย คือเขาไม่อยากให้มาหรอก เขาอยากให้ไปเรียน แต่เราอยากทำงาน เพราะเราอยากกลับไปเล่นเกม มันก็เป็นยุคแฟมิคอมพอดี บริษัทพี่ชายอยู่คลองเตย ดงแฟมิคอม มันคือตลาดปีนังคลองเตย สวรรค์เลย จากนั้นมาเงินเดือน กินข้าวเอง แบ่งคุณแม่เสร็จ ที่เหลืออยู่สะสมไว้แลกตลับเกม สมัยก่อนไม่ซื้อนะ ไม่มีปัญญาซื้อ ใช้เช่าเอา แลกตลับเกมเวียนเล่นไปเรื่อย เกมที่เล่นก็ แบทเทิลซิตี้ คอนทร้า กราดิอุส"
พิสูจน์ให้แม่เห็นว่า เกมสร้างเงินได้....
"ทำงานกับพี่ชายด้านการตลาด ไม่ได้อยู่กับที่เท่าไร ต้องเดินทางตลอด ก็เลยห่างเกมไป พอทำถึงจุดถึงอิ่มตัว อายุ 25 เราขอออก มันเหนื่อยด้วย แล้วเราก็แต่งงาน จากนั้นผมพอมีเวลาเหลือ งานที่ทำอยู่เริ่มเป็นเจ้าของกิจการ เริ่มบริหารเวลาได้สบายๆ ก็เลย ไปสะพานเหล็ก ไปหิ้วเพลย์สเตชัน1 มา พร้อมเกม เทคเคน สตรีทไฟเตอร์ รีดจ์เรเซอร์ แกรนด์ทูริสโม โกลสตรอม ก็ติดหนึบเลย เล่นเต็มเหนี่ยว จนคุณแม่มาขอร้อง ถ้าจะทุ่มเทให้สิ่งนี้ขนาดนี้ช่วยพิสูจน์ให้เห็นหน่อยว่ามันไม่ได้ทำร้ายเรา มันไม่ได้ขโมยเวลาจากเราไป ท่านพูดแบบเสียใจนะ เห็นเราเป็นเจ้าของกิจการ ทำเงินได้ก็จริง แต่ใช้เวลาในเกมเยอะ เราเลยต้องการเอาชนะคุณแม่ ตอนนั้นมาถึงวินนิ่ง4 เราก็เลยจดสูตรการเล่นวินนิ่ง4 ทำเป็นแมกกาซีนขึ้นมาเล่มนึงขายขำๆ ขายต้องการเอาชนะแม่ ปรากฏว่ามันเหมือนโชคดี พิมพ์กี่เล่มก็ขายหมด พิมพ์เป็นแสนเล่ม เล่มละ 45 บาทได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ก็คิดว่าไม่ได้แล้ว ต้องไปต่อแล้ว"
ทำสื่อเกม...
"ผมก็เลยต้องตามหายอดขุนพล ก็เลยไปเจอทีมงานที่เป็นผู้ช่วยเรา เขาเล่นเกมแทนเราได้ เขาเทสเกมแทนเราได้ เขาทดสอบทุกสิ่งทุกอย่างแทนเราได้ แล้วเราก็อาศัยประสบการณ์เคยทำงานช่วยพี่ชายทำงานมา ก็ใช้หลักการเดียวกัน เล่นเกมเป็นงาน มีระบบการจ้างงาน มีระบบการพัก มีการวิจัย ทำคอนเทนต์ ให้คะแนนเกม เกมไหนคะแนนเยอะรีบเอามาทำบทสรุป ถ้าเกมดีอาจจะทำรวมเล่ม นี่คือในยุคนั้นนะ"
"เรื่องรีวิว เราไม่ใช่คนแรกในไทยนะ ประเทศไทยมีหนังสือเกมมาก่อนนะ ประมาณ 4-5เล่ม ฟิวเจอร์เกมเมอร์ เกมแมก เมก้า เกมสตาร์ เราเห็นเขาทำ เราเติบโตจากครอบครัวธุรกิจโรงพิมพ์เรามองงานพวกนี้ไม่ถูกใจ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดีนะ แต่เราลองนึกภาพเราอยากมีหนังสือเกมในฝันของเรา เราอยากได้เป็นแบบไหน ถ้าเราเป็นอาร์ตติสด้วย เป็นโปรดักชันด้วย มันก็จะออกมาเป็นหนังสือบทสรุปง่ายๆ ฉาบฉวย คือไม่ใช่หนังสือที่ตั้งโชว์บนห้องรับแขก มันควรจะต้องราคาถูกที่สุด และบางที่สุดเท่าที่จะบางได้ เพราะเกมเมอร์ไม่อยากอ่านหนังสือเยอะหรอก เพราะเขาต้องการเจาะเข้าไปหาแต่ละมิชชัน แล้วทีมงานของเราก็ใหญ่ขึ้นจาก 2-3 คนเป็น ช่วงนึง 50 คน มานั่งรีวิวเกม แต่ตอนนี้มันผ่านยุคนั้นไปแล้ว"
โลกเปลี่ยนไป ทุกคนทำสื่อเองได้...
"เราอยู่ในยุคที่ คนไทย หรือคนทั้งโลก ต้องการพิสูจน์ตัวเอง คือไม่อยากอยู่ภายใต้นโยบายบริษัทแล้ว อยากคิดเองทำเองหมดแล้ว ความรู้สึกแบบนี้มันมาเพราะเทคโนโลยีมันเอื้ออำนวย ครีเอทแชนแนล ทำเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิช ก็ได้ เขาสามารถเป็นมิเดียได้ ต้นทุนเขาแค่คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เนท ซึ่งทุกบ้านมีอยู่แล้ว เราทำสื่อเราก็เริ่มๆจะเห็นทางตัน อีกอย่าง เราทำงานตรงนี้ เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นธุรกิจ เราทำในเชิงหาเพื่อน เชิงสร้างคอมมิวนิตี้มากกว่า ฉะนั้นการที่ผมทำข้อมูลข่าวสารแล้วเขียนแบบกั้กๆ ให้้ข้อมูลไม่เคลียร์ไป ก็จะไม่ตอบโจทย์ผู้อ่าน เขาก็ยังต้องการจากเรา เหมือนเราเลี้ยงไข้เขา นโยบายเราคือบอกให้หมด จนกระทั่งไม่มีอะไรบอก เมื่อไม่มีอะไรบอกก็ปิดบริษัท เราก็บอกทีมงานว่า เมื่อไรไม่มีใครมาถามอะไรจากเราแล้ว แสดงว่ามันหมดยุคของเรา จงยอมรับมัน แล้วเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น"
ตั้งสมาคมอีสปอร์ต...
"วันนึงมันมีทางแยกเกิดขึ้น คือเรื่องของนักกีฬาทีมชาติ เราเห็นว่าในปีนั้น เอเชี่ยนอินดอร์มาเชี่ยลอาร์ต ชิงเหรียญที่อินชอน เราเห็นแล้วมองว่าคนไทยควรได้ไป คนไทยทำไมไปแข่งรายการนี้ไม่ได้ เราเลยถามไปยังเกาหลี เขาบอกว่า คุณต้องเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลไทยก่อน เป็นสมาชิกเราก่อนถึงจะส่งได้ คราวนี้ก็เรื่องยาวเลย ผมก็เลยคิดตั้งสมาคมเลย ให้ใครเป็นนายกก็ได้ เพราะตอนนั้นยังคิดทำสื่ออยู่ แต่ตอนนั้นก็ยังหาคนมาเป็นนายกไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนมาบอกว่าผมควรจะมาทำเอง ก็เลยตัดสินใจเข้ามาเป็นนายก เมื่อปี 2017 ตอนแรกเป็นสมาคมไทยอีสปอร์ต จากนั้นก็ขยันส่งเอกสารเข้าหน่วยงานภาครัฐ การกีฬาแห่งประเทศไทย โอลิมปิค ส่งเรื่อยๆ ชี้แจงให้เห็น ส่งแค่ 2-3 ครั้ง จากนั้นก็เริ่มเข้าไปคุย ปี 2017 เป็นปีแห่งการประชุมเพื่อยื่นเรื่องชี้แจงอธิบายเหตุผล ก็มีทั้งโดนด่าอะไรเยอะแยะ ซึ่งเราก็ไม่โกรธเขานะ จนกระทั่งวันกีฬาแห่งชาติของไทย 16 ธันวาคม 2560 ก็รับรองเราเป็นสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย"
สมาคมกีฬาอีสปอร์ต 1 ขวบ พอใจผลงาน ได้การยอมรับ...
"ในเชิงคุณภาพด้วยเนื้อใน กฏระเบียบ คอนเนคชัน ทั้งในและต่างประเทศ ผมให้คะแนนตรงนี้ เต็ม 10 เพราะผมไม่ได้ทำคนเดียว ผมได้คนอื่นมาช่วยอีกเพียบเลย เราได้มีพื้นที่บนเวทีนานาชาติ เรานี่คือประเทศไทยนะ ไม่ใช่สันติ โหลทองนะ นานาชาติหันมามองและให้การยอมรับ ประเทศไทยคิดดี มันมีอย่างนี้เหรอ เขาก็ถามมาว่าทำไมประเทศไทย เวลาร่างกฏออกมา ต้องไปห้ามอายุ ต้องไปตัดเกมแนว FPS(ชูตติ้งมุมมองบุคคลที่หนึ่ง) ก็เพราะเราห่วงใยเยาวชน ก็เพราะว่าเราต้องการให้เกิดการยอมรับทั้งหมด ไม่ใช่แค่ส่วนเดียวในประเทศไทยนี้ และเราคิดว่าถ้าหากว่าในประเทศไทยได้รับการยอมรับแบบนี้ แล้วทั้งภาคส่วนอีสปอร์ตทำนโยบายเดียวกัน ใครจะไปห้ามอีสปอร์ตหละ FPS ไม่ใช่ว่าเกมไม่ดี แต่ทุกคนยังไม่เข้าใจก็เว้น FPS ไปก่อน ทำอันนี้ก่อน ทำเท่าที่มันดูคลีนๆสบายๆ พ่อแม่ผู้ปกครองไม่กังวลมาก"
"เขาก็ถามมาประเทศคุณมีหน่วยงานด้านสุขภาพ หน่วยงานด้านเด็กหรือไม่ ต้องให้หน่วยงานเหล่านี้มามีส่วนร่วม ไม่ว่าหมอไหนมาคุย เราก็ถามเลยว่าให้เราทำไง บอกมาเลย สมาคมจะทำตาม ขออย่างเดียวอย่ามาสั่งให้ยุติการทำงาน เพราะยุติไป ก็ไม่มีใครปิดกั้นเกมได้ เกมยังไงก็ต้องเติบโต อีสปอร์ตมันก็มีทางโตของมันต่อไป"
"ผมเข้าไปเป็นคณะทำงานในสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ไปชี้แจงเรื่องอีสปอร์ต มันไม่เหนื่อยหรอกนะ แต่งานเราเยอะอยู่แล้ว เราได้ คุณศรีสุข อ้วนเจริญกุล มาช่วย คุณศรีสุข ไม่ได้เอาเกมสุดโต่งแล้วก็ไม่ได้ค้านเกมสุดโต่ง มีความเป็นกลางๆ อยู่ มองเห็นทั้งด้านดี และด้านไม่ดีของเกม ส่วนผมจะเน้นด้านดี เพราะผมอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็กๆ ปัจจุบันคุณศรีสุขเป็นประธานคณะทำงานทางด้านดูแลเยาวชนของสมาคม"
สมาคมกีฬาอีสปอร์ต ขึ้นตรง กกท. ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา...
"สมาคมทำงานขึ้นอยู่กับหน่วยเดียวเลยคือ หน่วยงานด้านกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่ง กำกับดูแลการกีฬาแห่งประเทศไทย เราอยู่ใต้การกีฬาแห่งประเทศไทย แต่พอเรามีภารกิจในมหกรรมซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ ตรงนี้ เราต้องไปหาคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย กีฬาในไทยทำงานภายใต้ 2 หน่วยงาน คือ 1.โดยกฏระเบียบคือ การกีฬาแห่งประเทศไทย 2. คือภารกิจภาคปฏิบัติการคณะกรรมการโอลิมปิค ซึ่งในระดับนานาชาติก็มีการแยกกลุ่ม ซีเกมส์ก็คณะทำงานนึง เอเชี่ยนเกมส์ก็คณะทำงานนึง"
ภารกิจหลักคือส่งตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่ง...
"ภารกิจหลักๆของเรา อธิบายให้ฟังง่ายๆ คือ เรามีหน้าที่ส่งทีมชาติไปแข่งในรายการที่มหกรรมกีฬารับรอง หรือสหพันธ์รับรอง แค่นั้นเองอย่างอื่นไม่เกี่ยวกับเราเลย การที่จะส่งนักกีฬาไปแข่ง กระบวนการก่อนส่ง ระหว่างส่ง หลังส่ง เป็นหน้าที่สมาคม ก่อนส่งจะย้อนไปถึงการคัดเลือก คัดเลือกแบบไหน คัดได้ 2 แบบ คืออย่างแรกคือ อินไวท์เชิญมาเลย ดูจากศักยภาพ คุณสมบัติ และผลงาน เราพิจารณาแล้วส่งได้เลย ถ้ารายการไหนต้องคัดเลือกอย่างเดียวเท่านั้น ต้องมีการแข่งและส่งผลไปอย่างเดียวเท่านั้น เราไปอินไวท์เชิญไม่ได้นะ อย่างเกมแนว FPS เราต้องมีเหตุผลว่าทำไมเราไม่แข่งคัดเลือก เราเลือกอินไวท์ เราก็แจ้งว่าที่อินไวท์เพราะ การทำงานของเรา เรารับฟังเงื่อนไขของผลกระทบที่มีเกมรุนแรงมา เราก็เลยไม่ควอลิไฟล์เกม FPS ในประเทศ เราก็ทำจดหมายบอกไปตามขั้นตอน เขาก็รู้สึกดีด้วยนะ"
หน่วยงานด้านสุขภาพห่วงใยเกมเมอร์...
"อีสปอร์ตจัดโดยคนที่ไม่ได้ทำงานด้านสุขภาพ จัดงานโดยด้านไอที ด้านกีฬา ด้านออแกไนซ์เซอร์ ด้านซอฟต์แวร์เกม พับบลิชเชอร์ แต่คนที่เป็นห่วงอยู่เรื่อยๆเป็นคนจากหน่วยงานด้านสุขภาพ คนเหล่านี้จะเป็นคนปักหมุดว่าตรงไหนมีปัญหาผลกระทบจากเด็กติดเกม หรือความก้าวร้าวที่เกิดจากเกมว่ามีกี่แห่งทั่วโลก พวกเขาจะสร้างประเด็นต่างๆขึ้นมาคุยกัน ฉะนั้นหน้าที่ของเรา ก่อนไปแข่งนานาชาติ ก็ต้องคัดทีมชาติ ก็ต้องคัดตามกฏที่เขาให้มา ต้องคำนึงถึงความห่วงใยที่เขามีต่อเด็กไทย"
อนาคตของสมาคมกีฬาอีสปอร์ต...
"ตอนนี้เป็นเฟสสองแล้ว สมาคมต้องจัดตั้งหน่วยงานเอกชนขึ้นมาเป็นพาร์ทเนอร์เรา สังเกตเราเริ่มจับมือกับเดนสุ เอ๊กซ์(dentsu X) นั่นคือเราเข้าสู่การทำงานในเฟสสอง เรามีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต มี CAT(กสท โทรคมนาคม) เข้ามา เดี๋ยวจะมีเพิ่มเข้ามาอีก นั่นก็คือ เอกชนที่เป็นแพลตฟอร์มอีสปอร์ต เหมือนบริษัทไทยอีสปอร์ตลีก ก็ต้องเกิดบริษัทพวกนี้ขึ้นมา มาดูแลลีกให้เรา ทำสัญญากี่ปีว่ากันไป เคพีไอตั้งแบบไหนทำกันไป กฏกติกาแบบนี้แบบนี้ และหนึ่งในนักกีฬาในลีกจะมาเป็นนักกีฬาในแคมป์ทีมชาติ เพราะฉะนั้นเราจะต้องสร้างอะคาเดมี่ ของแคมป์ทีมชาติอีกหนึ่งหน่วยงาน เอาไว้ฟูมฟักนักกีฬาในแคมป์ของเรา สังเกตดูมันเป็นระบบ ข้างนอกในลีก เรายังถือว่าคุณอันเดอร์ภายใต้หนึ่งองค์กร แต่เป็นองค์กรที่เราดูแลอยู่ ถ้าคุณเล่นเกมเก่ง ทำผลงานดี ไม่ต้องแชมป์ก็ได้ เราอาจจะดึงมาทีละคนสองคนมาอยู่ในแคมป์ คนที่อะคาเดมี่ก็มีคนอย่างซิโก้ โค้ชทีมชาติมาคอยบริหารจำนวนนักกีฬา จัดตารางฝึกซ้อม ยกตัวอย่าง สตาร์คราฟต์เนี่ยถ้าเอามา เราอยากมีนักกีฬาสองประเภท คือ นักกีฬาหญิง และนักกีฬาชาย เอานักกีฬาหญิงในแคมป์ 4 คน นักกีฬาชาย 4 คน แล้วให้เขาแบทเทิลกันเองในแคมป์เพื่อหาความเป็นที่ 1 ในทุกเดือน อยู่กะเราไปเรื่อยๆ แต่อยู่ๆไปเนี่ยมีสิทธิ์ที่จะหลุดจากแคมป์ด้วยนะ เพราะโค้ชดูในแคมป์ ทัวรนาเมนต์ข้างนอกยังรันอยู่เลย เพราะฉะนั้นหน้าที่ของสเก๊าอีกคนที่ทำงานร่วมกะโค้ชก็ไปดูในลีก แล้วไปดึงตัวเข้าแคมป์ ส่วนสโมสรก็ต้องอยู่ภายใต้ระบบสมาคม"
ผู้หญิงกับกีฬาอีสปอร์ต...
"พอเราเริ่มได้ยินคำว่าอีสปอร์ตเป็นกีฬา มันมีคำถามว่า มันมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในนั้น คุณไม่ได้ให้โอกาสสุภาพสตรีลงแข่งเลย คุณมีแต่ทัวร์ผู้ชายอย่างเดียว บางทัวร์มีผู้หญิงมานะ แต่สุดท้ายแพ้ อย่างเวิลด์แชมเปี้ยนชิพ เนี่ยมีทีมหญิงมา 5-6 ทีมนะ แต่เสียดายที่ตกรอบ เราควรมีพื้นที่ให้ผู้หญิงแข่ง อย่าเป็นแค่โชว์แมตซ์ ต้องมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน นานาชาติกำลังคุยเรื่องนี้กันอยู่ เดี๋ยวเราจะได้ยินโปรเจกต์ชื่อเกริ์ลเกมเมอร์ ที่มาเก๊าเป็นเจ้าภาพ ก็เชิญเราอยู่อยากให้เราเป็นเจ้าภาพด้วย ซึ่งเราก็อยากจัดนะ เพราะจะทำให้นักกีฬาจากนานาชาติที่เป็นผู้หญิง 100% อยู่ในทัวร์นาเมนต์นี้"
ถึงน้องๆที่ไม่พอใจพี่สันติ...
"น้องๆครับพี่ติจัดแข่งอีสปอร์ตมาไม่ต่ำกว่า 100 รายการ จัดตามที่น้องอยากได้อะแหละจัดมาเยอะแล้ว ทั้งจัดเองทั้งร่วมจัด ทั้งขึ้นงานเอกซซิบิชันด้วย แต่พี่ไม่เห็นพัฒนาการที่มันไปไกลกว่านี้เลย เพราะฉะนั้นพอพี่มาเป็นนายกสมาคมเนี่ย พี่จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีทำงาน พี่ยังไม่อยากได้ทัวร์นาเมนต์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย แต่พี่อยากได้ทัวร์นาเมนต์ที่ผู้ใหญ่ยอมรับที่สุดในประเทศไทยก่อน ทำไมพี่ถึงไม่ให้น้องยอมรับพี่ เพราะว่าวันนี้เราต้องบอกว่าเราอยู่ภายใต้กฏหมาย ภายใต้พ.ร.บ.กีฬา เราทำอะไรออกไป มันไปขัดต่อกฏหมาย ต่อพ.ร.บ. ตัวสมาคมจะอยู่ยาก กกท.ไม่ได้ห้ามเราหรอก เขาบอกคุณอยากจัดแข่งอะไรก็จัดไป แต่ทุกอย่างอยู่ในความรับผิดชอบของสมาคม ในระหว่างที่เราจัดอยู่เนี่ย กรมสุขภาพจิต จิตเวทเด็ก สำนักงานต่างๆที่เกี่ยวกับสุขภาพก็แสดงความห่วงใยว่ามันมีเกมที่มีเนื้อหารุนแรงอยู่ นอกจากนั้นในเวทีโลก โทมัส บัสก์ ประธานโอลิมปิคก็พูดอยู่ทุกวันนะ ว่าอีสปอร์ตยังมีเกมที่มีเนื้อหารุนแรง มันก็เลยเข้าโอลิมปิคไม่ได้ ในเมื่อเขาพูดอย่างนี้ ผมจะไปจัดแข่งเกมเหล่านั้นทำไม ยังดีนะมันมีช่องว่างให้เราอยู่ ว่าเราไม่ได้สนับสนุน แต่เราเข้าร่วมกับนานาชาติได้ เราจึงอินไวท์เชิญทีมได้ นี่คือดีสุดสำหรับไทยแล้วนะ ถ้าพี่ติใจแคบกว่านี้ พี่ติบอกเกมที่มีเนื้อหารุนแรงไม่ส่งเลยก็ได้นะ แต่ขอเอากลางๆ ใช้เป็นอินไวท์เชิญละกัน"
"น้องอยากเห็นทัวร์นาเมนต์ใหญ่ เอกชนก็จัดเยอะอยู่แล้ว สมมุติสมาคมจัดใหญ่กว่าเอกชนรายนั้นเจ๊ง เรากลายเป็นศัตรูเอกชนทันที แล้วทำให้รายการดีๆในประเทศดีๆในประเทศไทยเจ๊งไป มันไม่ได้อะไรเพิ่มขึ้นมาเลยนะ แถมน้องเองก็ต้องไปด่าเอกชนรายนั้นว่าทำไมจัดห่วย สุดท้ายน้องจะมีสิ่งหนึ่งที่น้องไม่พอใจอยู่เสมอ สิ่งที่สมาคมปูทางไว้ให้คือ การเปลี่ยนแปลงในระบบ ที่น้องอาจจะอึดอัด แต่เมื่อมีมันแล้ว มันคือใบผ่านทางให้พวกเราได้เดินหน้าต่อไป พี่ติอะ ทำวันนี้ไม่ได้เพื่อตัวเอง เพื่ออนาคตของน้องๆ เผลอๆเพื่อคนที่ยังไม่ได้เกิดด้วย ที่เขาอยู่ในประเทศไทย ที่ได้มีชนิดกีฬาอีสปอร์ตไว้แข่งกัน ถ้าไม่ทำแบบนี้ เราถูกริดรอน เราถูกตัดสิทธิ์ อีสปอร์ตไม่มีในประเทศไทย จะหนาวกว่านั้นไหม"
นานาชาติชื่นชมทีมกีฬาอีสปอร์ตไทย...
"งานเวิลด์แชมเปี้ยนชิพที่ผ่านมาที่เกาสง เราได้รับคำชมจากทุกประเทศนะ เขาไม่ได้มาชมนายก เขาชมประเทศไทย ประเทศไทยทำไมดูดีจังเลย นักกีฬาดูมีคุณภาพ ดูสะอาดสะอ้าน มันชื่นใจไหมหละ เรื่องนี้ได้ยินไม่กี่คนหรอก แต่อย่าลืมว่ามันจะเป็นที่โจษจันกล่าวขวัญกันไปนาน ขนาดประธานาธิบดีไต้หวันยังเอ่ยปากชม ว่า ขอบคุณนะประเทศไทยให้เกียรติเรามาก เพราะนักกีฬาเราทุกคนใส่เสื้อนอก แม้มันจะเป็นแค่เปลือกก็จริง แต่มันเป็นมารยาท การเข้าสังคม กีฬาก็คือทูตสันถวไมตรี"
ฝาก...
"ผมอยากฝากถึงภาพกลางๆ ทั้งสองฝ่าย ส่วนที่เห็นด้วยกับอีสปอร์ต กีฬาอีสปอร์ตภายใต้บทบาทสมาคม ไม่จำเป็นต้องเหมือนภารกิจที่ท่านทำอยู่ ก็ขอร้องให้ท่านเห็นใจสมาคม แล้วผมก็อยากฝากถึงไม่ชอบอีสปอร์ตว่า อีสปอร์ตไม่ใช่แค่แข่งเกม มันมีงานอื่นในระบบเยอะแยะไปหมด ถ้าเรายุติมันหรือหยุดมันไป แต่สังคมมันไม่หยุดขับเคลื่อนหรอก ยังไงมันมีพัฒนาการ เติบโตของอีสปอร์ตเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันอันตรายมาก ถ้าเราปล่อยให้อีสปอร์ตโตไปแบบไม่มีแนวทาง สมาคมจะพยายามสร้างแนวทางที่กลางที่สุดให้ทั้งสองกลุ่มนี้เข้าใจ"