ในงานเสวนา "ธรรมาภิบาลอีสปอร์ต" ที่จัดขึ้นโดยสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย คุณ "ดิว-อาณัติ เรืองวงศ์" ผู้ก่อตั้งทีม เซเวียร์ อีสปอร์ต(Xavier Esports) ได้พูดถึงในหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ หลักการทำทีมอีสปอร์ตของตัวเอง ประโยชน์ของอีสปอร์ตต่อการท่องเที่ยว และการให้ความรู้เข้าใจเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อผู้ปกครองของนักกีฬาในสังกัด
"ชนะใจตัวเอง ชนะใจเพื่อนร่วมทีม ชนะใจคู่แข่ง ชนะใจกองเชียร์"
"4 คำที่ผมใช้เป็นประจำ 1.ชนะใจตัวเอง มันให้เราได้พิสูจน์ว่าเราต้องชนะใจตัวเอง ซึ่งการชนะใจตัวเองคือชัยชนะที่ยากที่สุด 2.ชนะใจเพื่อนร่วมทีม ถ้าเราเข้าใจทีม เราเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำ ผู้ตาม เราเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับทีม ทีมก็จะเดินหน้าต่อไปได้สวย 3.ชนะใจคู่แข่ง เราได้ชัยชนะมา แต่ถ้าเขาไม่มายินดีกับเรา เขาไม่มาทักว่าทีมคุณเจ๋ง เราชอบคุณมาก เราก็ยังถือว่าเรายังไม่ได้ชัยชนะที่สมบูรณ์แบบ เพราะชัยชนะที่สมบูรณ์แบบคือการได้การยอมรับจากคู่แข่งของเราด้วย 4.ชนะใจคนดู คนดูต้องชอบเรา คนดูต้องมีอารมณ์ร่วมกับเรา เราต้องอยู่ในใจของคอมมิวนิตี้ ทั้งหมด 4 ข้อนี้ เราสามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้ ไม่ได้ใช้กับอีสปอร์ตอย่างเดียว หลักการทำทีมของเราก็จะมี 4 ข้อนี้ ถ้ามีปัญหาในการทำทีม ก็ให้น้องๆมองย้อนไป 4 ข้อนี้ว่าเราต้องปรับปรุงข้อไหน"
อีสปอร์ต หนุนการท่องเที่ยว
"อีสปอร์ต มันเกี่ยวข้องกับทุกๆภาคส่วนแต่ด้วยประสบการณ์ตรงที่ทีมเซเวียร์อีสปอร์ตได้สัมผัสมา คือเราเห็นได้ชัดในส่วนของการท่องเที่ยว ทีมโอเวอร์วอชเราได้ไปแข่งที่ไต้หวัน ตอนนั้นทีมเรายังไม่ดัง เราพยายามหาผู้สนับสนุน พยายามทำค่าใช้จ่ายให้ถูกที่สุด เราก็ได้ติดต่อการท่องเที่ยวไต้หวัน โดยเราบอกเขาว่าเราจะไปทำโปรดักท่องเที่ยวไต้หวันให้ คุณสามารถช่วยเหลืออะไรเราได้บ้าง เขาก็จัดคอร์สสอนภาษาจีนให้เรา เขาให้บัตรโดยสารรถไฟทุกสปดาห์ เขาพาเราไปเที่ยว นี่คือประสบการณ์ตรงที่ได้จากการท่องเที่ยว การจัดทัวร์นาเมนต์อีสปอร์ตต่างๆ ไม่ว่าจะแข่งโอเวอร์วอชเวิลด์คัพที่ผ่านมาที่พารากอน ก็มี 5 ประเทศเข้ามา ก็มีกองเชียร์เข้ามา มันช่วยธุรกิจท่องเที่ยว การจองโรงแรม การเดินทาง อีกหนึ่งส่วนที่ได้รับประโยชน์จากอีสปอร์ต คือ วัฒนธรรม ยกตัวอย่างงานแข่งเกมเรนโบว์ซิกส์ที่โตเกียว มันไม่ใช่แค่เวทีการแข่งขัน แต่มันคือการเอาวัฒนธรรมของญี่ปุ่นถ่ายทอดออกมา ผ่านเวทีการแข่งขัน เราจะเห็นในส่วนลายเส้น การใช้ฉาก เป็นองค์ประกอบ พิธีกรใส่ชุดประจำชาติ มันเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม"
ให้ความเข้าใจ รู้เท่าทันอีสปอร์ต ต่อผู้ปกครอง
"ในการทำทีมของเซเวียร์อีสปอร์ต ผู้เล่นก็มีตั้งแต่มัธยมปลาย มหาวิทยาลัย และจบมหาวิทยาลัย มีผู้ปกครองบางส่วนเข้าใจว่าสังกัดเซเวียร์เป็นแหล่งซ่อมสุมมารวมตัวกันทำสิ่งไม่ดี ซึ่งเราพยายามจะสร้างจุดยืนว่าสังกัดเป็นบ้านหลังที่ 3 เป็นที่ที่เด็กมาโชว์ความสามารถ มาปล่อยของ ว่าเราเจ๋งเราเก่ง เราสามารถทำทีม ถ้าเปรียบเทียบก่อนและหลังที่ผู้ปกครองได้เจอกับผมก็จะมีมุมมองความเข้าใจและแยกแยะออกระหว่าง เด็กติดเกม กับ นักกีฬาอีสปอร์ต ทีมเซเวียร์อีสปอร์ตพยายามจะทำความเข้าใจ สร้างความเข้าใจ เราต้องการให้กลุ่มที่เราเข้าถึงได้ รู้ทันว่าอีสปอร์ตคือไร เราสร้างไลน์กลุ่ม(แอพพลิเคชัน LINE)ระหว่างตัวผมกับครอบครัวของของแต่ละเกม เซเวียร์LOL เซเวียร์โอเวอร์วอช เพราะบางครั้งมีเด็กบางพวก เอาคำว่าอีสปอร์ตไปอ้าง แม่ครับผมซ้อมอีสปอร์ตต้องอยู่ค้างนะครับ แต่จริงๆแล้วเขาไม่ได้ค้าง เขาไม่ได้มากับเรา ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจอีสปอร์ตผิด สังกัดเราพยายามสร้างความเข้าใจ การเข้าถึง ให้รู้ทัน การสร้างความเข้าใจไม่ได้ทำเพียงแต่ครอบครัว แต่ต้องต่อยอดไปถึงถึงโรงเรียนด้วย เพราะบางครั้งการแข่งขันระดับเอเซียแปซิฟิค อย่างทีมเซเวียร์ที่ส่งไป บางรอบมีการแข่งวันพฤหัสบดี ศุกร์ 5 โมงเย็น น้องหลายคนต้องมีการเตรียมตัว เราต้องทำหนังสือไปที่โรงเรียน บางครั้งเราต้องไปเจอกับครูที่ปรึกษาของน้อง เพื่อสร้งความเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ดังนั้นการให้เข้าใจอีสปอร์ต เราต้องสร้างความรู้เท่ารู้ทันให้กับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในระบบนิเวศน์อีสปอร์ต"